ระบบแต้มความผิดในกฎหมายจราจรญี่ปุ่น

 ระบบแต้มความผิดในกฎหมายจราจรญี่ปุ่น

สืบเนื่องจากบทความเกี่ยวกับกฎหมายจราจรของญี่ปุ่นเรื่อง “ดื่มแล้วขับ” ในคอลัมน์ “กฎหมาย 4.0” ฉบับวันศุกร์ที่ 15 ก.พ.2562

และจากข่าวที่ทางกระทรวงคมนาคมของไทยจะนำแนวทางกฎหมายจราจรจากประเทศญี่ปุ่นบางส่วนมาปรับใช้กับกฎหมายไทย เมื่อช่วงต้นเดือนพ.ค.ที่ผ่านมานั้น ในครั้งนี้จึงขอกล่าวถึงกฎหมายจราจรญี่ปุ่นในประเด็นที่น่าสนใจเพิ่มเติมคือระบบแต้มความผิด

ประเทศญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่นำระบบแต้มมาใช้ในกฎหมายจราจร โดยมีจุดประสงค์หลักคือ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนของทุกฝ่าย ซึ่งระบบแต้มความผิดของญี่ปุ่นนั้น แบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม คือ 1) แต้มความผิดพื้นฐานสำหรับความผิดทั่วไป 2) แต้มความผิดพื้นฐานสำหรับความผิดเฉพาะ 3) แต้มความผิดเพิ่มเติมกรณีเกิดอุบัติเหตุ และ 4) แต้มความผิดเพิ่มเติมกรณีชนแล้วหนี

กรณีแต้มความผิดพื้นฐานสำหรับความผิดทั่วไป เช่น ขับโดยไม่มีใบขับขี่ 25 แต้ม ร่วมกันกระทำการอันอาจเป็นอันตราย (เช่น ขับรถแข่งกัน หรือขับรถจักรยานยนต์คู่ขนานกัน) 25 แต้ม ขับรถในสภาพที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในลมหายใจเกินกว่า 0.25 มก./ลิตร 25 แต้ม ขับขี่ในสภาพเหนื่อยล้า 25 แต้ม จอดรถในที่ห้ามจอด 2 แต้ม ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน 2 แต้ม ขับรถย้อนศร 2 แต้ม ไม่หยุดที่ทางม้าลาย 2 แต้ม ขับรถโดยไม่ระมัดระวัง 2 แต้ม ไม่เว้นระยะห่างจากรถคันหน้าเพียงพอ 1 แต้ม ใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับขี่ 1 แต้ม (แต่หากใช้แล้วเป็นผลให้เกิดอันตรายต่อการจราจรจะเป็น 2 แต้ม) ขับรถแทรก 1 แต้ม ไม่ให้สัญญาณไฟเลี้ยว 1 แต้ม เป็นต้น

กรณีขับรถเร็วเกินกำหนดนั้น จะแบ่งเป็นช่วงความเร็วไว้ เช่น ขับรถเกินกำหนดไม่ถึง 20 กม./ชม. 1 แต้ม ถ้าเกินกว่า 20 แต่ไม่ถึง 25 กม./ชม. 2 แต้ม ถ้าเกิน 50 กม./ชม. 12 แต้ม เป็นต้น ทั้งนี้ กรณีขับขี่ในสภาพที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในลมหายใจเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด แต้มก็จะเพิ่มขึ้นขึ้นด้วย เช่น กรณีฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดง ปกติจะได้แต้มความผิด 2 แต้ม แต่หากในขณะนั้นมีแอลกอฮอล์ในลมหายใจไม่เกิน 0.25 มก./ลิตร แต้มความผิดจะกลายเป็น 14 แต้ม และถ้ามีเกิน 0.25 มก./ลิตร จะกลายเป็น 25 แต้ม เป็นต้น

กรณีแต้มความผิดพื้นฐานสำหรับความผิดเฉพาะ เช่น กรณีดื่มแล้วขับ (35 แต้ม) ขับขี่เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ (42-55 แต้ม) หรือขับขี่เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต (62 แต้ม) เป็นต้น

กรณีแต้มความผิดเพิ่มเติมกรณีเกิดอุบัติเหตุ เช่น มีผู้เสียชีวิต (20 แต้ม) มีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส (13 แต้ม) มีผู้ได้รับบาดเจ็บโดยใช้เวลาในการรักษาน้อยกว่า 15 วัน (3 แต้ม) เป็นต้น

กรณีแต้มความผิดเพิ่มเติมกรณีชนแล้วหนี ไม่ให้ความช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ (35 แต้ม)

 เมื่อผู้ขับขี่กระทำผิดกฎจราจรในเรื่องใดก็จะได้รับแต้มความผิดตามจำนวนที่กำหนดไว้ในกฎหมายเกี่ยวกับการกระทำผิดนั้น ๆ และถูกบวกแต้มเพิ่มเติมกรณีมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น เช่น ขับรถฝ่าสัญญาณไฟแดง (2 แต้ม) แล้วเกิดอุบัติเหตุเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บซึ่งต้องใช้เวลาในการรักษามากกว่า 30 วันแต่ไม่ถึง 3 เดือน (9 แต้ม) จะมีแต้มรวมเป็น 11 แต้ม และถ้าหากหนีไปหลังจากเกิดอุบัติเหตุไม่ช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บ (35 แต้ม) จะมีแต้มรวมเป็น 46 แต้ม เป็นต้น

เมื่อผู้ขับขี่มีแต้มความผิดสะสมถึงระดับที่กำหนด จะถูกพักการใช้ใบขับขี่ชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่แล้วแต่กรณี โดยจะมีระยะเวลาแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับแต้มความผิดสะสมที่มี รวมไปถึงประวัติการถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ด้วย

เช่น กรณีไม่เคยถูกเพิกถอนใบขับขี่ หากมีแต้มความผิดสะสม 6-8 แต้ม จะถูกพักใช้ใบขับขี่เป็นระยะเวลา 30 วัน ถ้า 9-11 แต้ม จะเป็น 60 วัน ถ้า 15-19 แต้ม จะถูกเพิกถอนการใช้ใบขับขี่เป็นเวลา 1 ปี แต่หากเคยถูกเพิกถอนการใช้ใบขับขี่มาแล้ว 1 ครั้ง มีแต้มสะสมเพียง 4-5 แต้มก็จะถูกพักใช้ใบขับขี่ 60 วัน ถ้ามีแต้ม 10-19 แต้ม จะถูกเพิกถอนการใช้ใบขับขี่เป็นเวลา 1 ปี แต่ถ้าเคยถูกเพิกถอนการใช้ใบขับขี่มาแล้ว 2 ครั้ง มีแต้มสะสมเพียง 2 แต้มก็จะถูกพักใช้ใบขับขี่ 90 วัน ถ้า 3 แต้มก็จะเป็น 120 วัน และเพียง 5-14 แต้ม ก็จะถูกเพิกถอนการใช้ใบขับขี่เป็นเวลา 1 ปี เป็นต้น

ในการดูประวัติแต้มสะสมดังกล่าวนั้น โดยทั่วไปแล้วจะดูประวัติย้อนหลัง 3 ปีนับจากวันที่กระทำความผิดครั้งสุดท้าย ทั้งนี้บางกรณีก็อาจไม่นับรวมเข้าไปเป็นแต้มสะสม เช่น กรณีที่มีการกระทำความผิดที่มีแต้มความผิดต่ำกว่า 3 แต้ม โดยที่ไม่มีประวัติความผิดย้อนหลังเลยในระยะเวลาสองปีก่อนหน้านั้น และถ้าหากหลังจากวันที่กระทำความผิดนับไปอีกสามเดือนข้างหน้า ไม่ได้กระทำความผิดใด ๆ อีกเลย แต้มความผิดดังกล่าวจะไม่ถูกนับรวมเข้าไปด้วย อนึ่งแต้มดังกล่าวจะยังถูกบันทึกเป็นแต้มประวัติความผิดอยู่ ไม่ได้ถูกลบออกไป

นอกจากนี้เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนเคารพกฎหมาย หากใครเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติดี ไม่เคยมีประวัติแต้มความผิดสะสมหรือไม่เคยเกิดอุบัติเหตุใด ๆ เลยตลอดระยะเวลา 5 ปี ก็จะได้รับใบขับขี่ทองคำ ซึ่งจะได้รับประโยชน์คือสามารถที่จะต่ออายุใบขับขี่ได้สะดวกขึ้น และลดราคาค่าเบี้ยประกันได้อีกด้วย

ในการใช้ระบบแต้มนี้จำเป็นที่จะต้องมีการกำหนดรายละเอียดที่ชัดเจน มีการบังคับใช้อย่างเท่าเทียมและเที่ยงธรรม ทั้งยังต้องมีความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้เพื่อที่จะสามารถบังคับใช้ได้อย่างแท้จริงและสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของการนำระบบแต้มมาใช้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการมีมาตรการบังคับใช้อย่างจริงจัง และการปลูกฝังจิตสำนึกแก่ประชาชนในการเคารพกฎหมาย

กฎหมายจราจรนั้นเป็นกฎหมายที่มีจุดประสงค์หลักคือเพื่อช่วยจัดการจราจรให้เป็นไปโดยระเบียบเรียบร้อย และคุ้มครองผู้ใช้รถใช้ถนนจากอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากความประมาทของผู้ขับขี่ ดังนั้นแล้ว หากประชาชนทุกคนมีจิตสำนึกที่ดี ให้ความเคารพกฎจราจร และมีความรับผิดชอบที่ดีต่อสังคมแล้ว ปัญหาการจราจรต่าง ๆ รวมทั้งอุบัติเหตุบนท้องถนน และความสูญเสียต่าง ๆ ก็คงจะลดลง

โดย...

ณิชนันท์ คุปตานนท์

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์