คริสติน ลาการ์ด: ‘นายใหม่แบงก์ชาติยุโรป’
ถือเป็นเซอร์ไพร์สมากพอควร สำหรับผู้ที่จะมาทำหน้าที่ต่อจากนายมาริโอ ดรากิ ในตำแหน่งประธานธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี)
ได้แก่ นางคริสติน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) แม้ว่าจะเหลือเวลาในตำแหน่งดังกล่าวราว 1 ปี โดยเมื่อเช้าวันพุธที่ผ่านมา นางลาการ์ด ได้รับการเสนอชื่อเพื่อเข้ารับตำแหน่งประธานอีซีบี ซึ่งจากการให้สัมภาษณ์กับสื่อแห่งหนึ่งเมื่อปีก่อน เธอได้เคยกล่าวปฏิเสธที่จะรับตำแหน่งประธานอีซีบีหากมีการเสนอตำแหน่งให้ พร้อมๆ กับที่นางอูเซรา วอน เดอเลเยน รมต.คลัง เยอรมัน ก็ได้รับการเสนอชื่อเพื่อเข้ารับตำแหน่งประธานคณะกรรมการยุโรป ถือเป็นครั้งแรกที่ตำแหน่งทั้ง 2 ที่ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้หญิงพร้อมกันโดยทั้งคู่ยังต้องรอการรับรองจากสภายุโรปอีกครั้ง
นางลาการ์ด ปัจจุบันอายุ 63 ปี เป็นลูกคนโตของอาจาร์ยมหาวิทยาลัย หลังจากที่จบมัธยมต้นในเมือง เลอ ฮาฟในฝรั่งเศส ก็เข้าเรียนต่อที่มัธยมปลาย ที่รัฐแมรี่แลนด์ สหรัฐ ซึ่งที่นี่เอง เธอได้ฉายแววการเป็นนักเจรจา หรือ ดีลเมคเกอร์ ด้วยการช่วยงานสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นามว่า วิลเลียม โคเฮน ซึ่งในตัวเนื้องาน เธอเองได้ช่วยตอบผู้ที่มาให้ความเห็นต่อกรณีคดีวอร์เตอร์เกต ของอดีตประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน แม้จะเป็นคนฝรั่งเศส ทว่าลาการ์ดพูดภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่ว เนื่องจากเคยทำงานที่อเมริการะหว่างปี 1999 ถึง 2005
โดยตำแหน่งสูงสุดในทางการเมืองของเธอก่อนที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ไอเอ็มเอฟ คือรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ฝรั่งเศส ซึ่งในปี 2008 ได้เกิดสิ่งที่เรียกกันว่า คดีอื้อฉาวของเบอร์นาร์ด ทาปี ต่อนางลาการ์ด โดยจะขอเล่าคร่าวๆ ดังนี้ เบอร์นาร์ด ทาปี เป็นอดีตมหาเศรษฐีชาวฝรั่งเศส เคยเป็นเจ้าของทีมฟุตบอล โอลิมปิค มาร์เซย์ ในปี 1990 เขาได้ซื้อกิจการบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งของเยอรมัน และอีก 2 ปีต่อมา ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนฯของเมืองมาร์เซย์ ในปี 1993 ทาปีไม่สามารถหาเงินมาจ่ายหนี้ให้กับแบงก์เครดิต เลยองเนสส์ จึงบอกให้แบงก์ขายกิจการกิจการบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งนั้น ซึ่งต่อมาเขาได้ฟ้องร้องว่าแบงก์ประเมินมูลค่ากิจการดังกล่าวต่ำกว่าความเป็นจริง มาถึงในปี 2007 ทาปีก็เป็นผู้สนับสนุนทางการเงินให้กับนิโคลัส ซาโกซี ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของฝรั่งเศส
ในปี 2008 เมื่อเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ แบงก์เจ้าหนี้ของทาปีก็ถูกกระทบโดยวิกฤต รัฐบาลฝรั่งเศสจึงเข้ามาอุ้ม คดีความดังกล่าว จึงโอนมาเป็นคู่กรณีระหว่างรัฐบาลฝรั่งเศสกับทาปี ซึ่งรัฐบาลของนายซาโกซีได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อคลี่คลายคดีนี้ ผลการตัดสินของคณะกรรมการดังกล่าวตัดสินให้จ่ายเงิน 403 ล้านยูโรให้กับทาปี ทว่านางลาการ์ดที่เป็นรัฐมนตรีคลังในช่วงนั้น ลดการจ่ายเงินให้เหลือ 30-50 ล้านยูโร
โดยในปี 2015 ศาลได้ตัดสินว่าแบงก์ไม่ได้ประเมินมูลค่ากิจการของทาปีต่ำกว่าความเป็นจริง และในปี 2016 นี้เอง ซึ่งในขณะนั้นเธอเป็นเอ็มดีของไอเอ็มเอฟ ได้ถูกศาลตัดสินว่าลาการ์ดได้ ‘ละเลยต่อหน้าที่’ ในกรณีดังกล่าว ทว่าไม่ได้สั่งลงโทษอะไรต่อเธอ รวมถึงไอเอ็มเอฟเองก็ไม่ได้มีปฏิกิริยาอะไรต่อคำตัดสินนี้ของศาล
ครั้นเมื่อเธอข้ามมาเป็นเอ็มดีของไอเอ็มเอฟ ในปี 2011 ถือว่าเธอได้เกิดในระดับหนึ่ง เริ่มจากการเป็นผู้มีส่วนช่วยให้วิกฤตยุโรปคลี่คลาย โดยการให้ความช่วยเหลือทางการเงินต่อกรีซจนดีขึ้นมาเป็นลำดับ และผลงานที่ถือว่าได้รับคำชื่นชมคือการช่วยเหลือทางการเงินก้อนโต ต่ออาร์เจนติน่า ซึ่งว่ากันว่ามีส่วนช่วยสกัดวิกฤตไม่ให้ลุกลามต่อละตินอเมริกา แม้ว่านายมาริซิโอ มาคริ จะไม่ได้ทำงานในฐานะผู้นำอาร์เจนติน่าได้ดีอย่างที่หลายคนคาดหวังไว้
หากจะถามว่านางลาการ์ดจะเป็นผู้ว่าธนาคารกลางที่เป็นสาย Hawkish หรือเน้นคุมอัตราเงินเฟ้อ หรือสาย Dovish หรือสายเน้นให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ จากการประเมินผลงานที่ผ่านมา เมื่อราว 2 ปีก่อน เธอได้เคยกล่าวเตือนธนาคารกลางหลักของโลกว่าอย่ารีบขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็วจนเกินไป เพราะอาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกสะดุดขึ้นมาได้ น่าจะอนุมานได้ว่าเธอไม่น่าจะเป็นสาย Hawkish ทว่าจะเป็นสาย Dovish มากแค่ไหนหรือไม่นั้น อาจต้องขอดูสไตล์การตอบสนองต่อตัวเลขเศรษฐกิจหลังเดือนต.ค.นี้ อีกสักหน่อย อย่างไรก็ดี ตลาดพันธบัตรยุโรปก็ตอบสนองเมื่อวานนี้ ด้วยอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรเยอรมันรุ่น 10 ปี ลดลงติดลบในระดับที่เป็นประวัติการณ์ -0.397% เฉียดเท่ากับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของอีซีบีที่ -0.4%
มาพิจารณาถึงจุดแข็งของเธอบ้าง มีอยู่ 2 ประการ ได้แก่ การเป็นนักเจรจาต่อรองและประสานงานที่ดีเยี่ยม เนื่องจากการที่ต้องรับมือการโหวตจากสมาชิกคณะกรรมการธนาคารกลางยุโรป 25 ท่านจากทุกชาติในยุโรปซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ยังต้องเจอแรงเสียดทานจากคณะกรรมการยุโรปที่จะคอยตั้งกระทู้ถามทั้งในที่แจ้งและที่ลับ รวมถึงเธอน่าจะสามารถโน้มน้าวรัฐบาลเยอรมันให้ยอมใช้นโยบายการคลังแบบผ่อนคลายมากขึ้นได้ดีกว่ารุ่นพี่ นอกจากนี้ เธอยังน่าจะเป็นสายบู๊ในแวดวงการเมืองมานาน จึงถือว่ามีความแข็งแกร่งที่จะรับมือการเสียดสีและกดดันจากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ รวมถึงยังต้องต่อสู้กับเด็กดื้ออย่างรัฐบาลอิตาลี ที่จัดเต็มทั้งตั้งงบประมาณภาครัฐเกินเกณฑ์และการโจมตีในทางการเมืองได้ดีที่สุด เมื่อเทียบกับบรรดา candidate อื่นๆที่มาจากสายนโยบายการเงิน
สำหรับจุดอ่อนของเธอ มีอยู่ 2 ประการ ได้แก่ เธอไม่มีประสบการณ์สายนโยบายการเงินมาก่อน ทว่าเธออาจเรียก 2 ขุนพลคู่ใจ ให้มาข้างกายคอยปรึกษานเรื่องสำคัญ อย่าง มัวริซ ออปสเฟลด์ หรือ โอลิวิเย่ แบลงชาร์ด อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มเอฟในยุดของเธอ รวมถึงเธอนั้นไม่เคยเจอวิกฤตหนักในยุคไอเอ็มเอฟที่เธอเป็นผู้นำ ทำให้ประสบการณ์ยามเจอวิกฤตจริงยังไม่เคยถูกทดสอบ
ในความเห็นความผม จุดแข็งที่เธอเป็น ‘มือประสาน 10 ทิศแห่งอีซีบี’ และ ‘ความเป็นหญิงแกร่ง’ ที่จะต้องคอยรับมือกับโดนัลด์ ทรัมป์ น่าจะถือว่าเธอเข้ามาเป็นประธานอีซีบีในช่วงเวลาที่เหมาะสมมากครับ