Universal Basic Competency (UBC)
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านต่าง ๆ นำโดยเทคโนโลยีดิจิทัล กำลังสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงและรวดเร็วในทุกมิติ
ทั้งการผลิต การบริโภค การดำรงชีวิต วิธีคิด ระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม ฯลฯ
ผลกระทบที่เกิดขึ้นนี้ อาจเป็นไปได้ 2 ลักษณะ คือ ‘การทำลายล้างอย่างสร้างสรรค์’ (Creative destruction) หมายถึง ทำลายองคาพยพของระบบเดิมด้วยสิ่งใหม่ที่ดีกว่า และสร้างประโยชน์ในภาพรวมมากกว่าผลเสีย อีกลักษณะหนึ่งที่อยากเตือนใจ ก็คือ ‘การสร้างสรรค์ที่ทำลายล้าง’ (Destructive Creation) ซึ่งหมายถึง การสร้างสรรค์สิ่งใหม่มาแทนที่สิ่งเดิม แต่ส่งผลเสียในภาพรวมมากกว่าผลดี
หลายฝ่ายรู้สึกวิตกกังวลว่า ผลกระทบจะเป็นในลักษณะหลังมากกว่า กล่าวคือ การตกงานของผู้คนจำนวนมาก เนื่องมาจากการเข้ามาทำงานแทนที่มนุษย์ของระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อแรงงานไร้ฝีมือเท่านั้น แต่เทคโนโลยีเหล่านี้ยังสามารถทำงานแทนแรงงานที่มีทักษะขั้นสูงได้ด้วย เช่น แพทย์ นักบัญชี นักข่าว นักกฎหมาย อาจารย์ ที่ปรึกษาการลงทุน เป็นต้น
จากความกังวลนี้ ทำให้เกิดแนวคิดในการรองรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะการกำหนดรายได้ขั้นพื้นฐานแบบถ้วนหน้า หรือ Universal Basic Income หรือการที่รัฐรับประกันรายได้ขั้นพื้นฐานสำหรับประชาชนทุกคน โดยการอุดหนุนรายได้ให้กับประชาชน เพื่อให้มีรายได้อย่างน้อยเท่ากับเกณฑ์ขั้นพื้นฐานที่กำหนด
แนวคิดดังกล่าว แม้เป็นไปด้วยเจตนาที่ดี แต่ตั้งอยู่บนข้อสมมติหลายประการ เช่น เพื่อให้คนอยู่รอดหรือข้อสมมติที่ว่า เมื่อเทคโนโลยีใหม่เข้ามาทำงานแทนมนุษย์ ทำให้ไม่มีงานเหลือให้มนุษย์ทำที่เพียงพอสำหรับประชากรโลกจำนวนมาก สถานการณ์เช่นนี้อาจไม่เป็นจริงเสมอไป เพราะการปฏิวัติเทคโนโลยีตลอดประวัติศาสตร์ของโลกที่ผ่านมา ได้สร้างงานใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อนบนโลกให้มนุษย์ได้ทำเสมอ เพียงแต่งานที่เกิดใหม่เป็นงานที่ใช้ความรู้และทักษะที่แตกต่างจากเดิม
ระบบเศรษฐกิจจะไม่สามารถดำรงอยู่ได้ หากมีเพียงคนส่วนน้อยที่เป็นผู้ผลิต โดยใช้หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ แต่กลับไม่มีผู้บริโภค เพราะคนส่วนใหญ่ไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ในการจับจ่ายซื้อสินค้าและบริการ
ในความเห็นของผม การว่างงานของคนจำนวนมากจะเกิดขึ้น ก็ต่อเมื่อ ผู้คนในบางสังคมไม่มีสมรรถนะที่เหมาะสมกับยุค ทำให้เกิด Destructive Creation แทนที่จะเป็น Creative Destruction ดังนั้น แทนที่ภาครัฐจะทำงานเชิงรับ โดยการรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ด้วยระบบ Universal Basic Income หลายปีที่ผ่านมาผมได้เสนอว่ารัฐบาลควรทำงานเชิงรุกโดยการสร้างระบบที่ผมเรียกว่า ‘Universal Basic Competency (UBC)’
UBC สอดคล้องกับหลักการที่เราเชื่อกันเสมอมา (แต่ไม่ค่อยนำไปปฏิบัติ) คือ การสอนคนให้จับปลา แทนการจับปลาให้คนกิน เมื่อประชาชนมีสมรรถนะที่สอดคล้องกับยุคสมัย ทำให้เขามีโอกาสในการทำอาชีพและมีรายได้ ทำให้ภาครัฐไม่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลในการดูแลคนเหล่านี้
ยิ่งไปกว่านั้น UBC ยังเป็นการสร้างทุนมนุษย์ มีความสำคัญอย่างยิ่งในโลกอนาคต เพราะทุนมนุษย์จะเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญในการนำพาประเทศขี่ยอดคลื่นอารยะลูกที่ 4 ‘สังคมความรู้’ ตาม ‘ทฤษฎีการเปลี่ยนผ่านทางสังคม : คลื่นอารยะ 7 ลูก’ ของผม นำพาประเทศไทยเป็นประเทศรายได้สูง หรือแม้แต่เป็นประเทศชั้นนำของโลกในอนาคต
การสร้างระบบ UBC อาจเริ่มต้นจาก วิเคราะห์สมรรถนะพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการทำงาน การดำรงชีวิต และการสร้างชาติในอนาคต เพื่อกำหนดเป็นเป้าหมายในการฝึกฝนประชาชนทุกคนในประเทศ (อย่างน้อย คนรุ่นใหม่และคนที่ยังอยู่ในระบบการจ้างงาน) ให้มีสมรรถนะเหล่านี้
ที่ผ่านมาในหนังสือ “คนเก่งสร้างได้” ของผม นำเสนอแนวคิด สามารถใช้เป็นต้นแบบของการกำหนดสมรรถนะพื้นฐานสำหรับอนาคตได้ คือ ‘โมเดลสมรรถนะ KSL 31220’ ประกอบด้วย ความรู้ (knowledge) 3 มิติ ทักษะ (skills) 12 หมวด และ ลักษณะชีวิต (life characteristics) 20 ประการ (จะไม่ลงรายละเอียดในที่นี้)
ประการต่อมาและอย่างที่เคยเสนอมา 30 กว่าปี คือ การปฏิรูปการศึกษาและการฝึกอบรม เพื่อฝึกฝนประชาชนให้มีสมรรถนะตามที่กำหนด โดยเปลี่ยนแปลงทั้งเนื้อหา หลักสูตร ผู้สอน วิธีการศึกษา ช่องทางการศึกษา การวัดผล ฯลฯ ครอบคลุมทั้งการศึกษาในระบบ นอกระบบ ตามอัธยาศัย การศึกษาแบบออนไลน์และออฟไลน์ การศึกษาแบบมีหลักสูตรตายตัว และการศึกษาแบบโมดูล (หลักสูตรการศึกษาที่ยืดหยุ่น เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละคน)
ทั้งนี้ ชุดของสมรรถนะที่เป็นเป้าหมาย จะต้องมีการปรับปรุงอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงขององค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การติดตามความก้าวหน้าของความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของโลก อาจมียุทธศาสตร์ที่หลากหลาย
อาทิ จัดระบบการจัดการความรู้แห่งชาติ ติดตามให้ทันพรมแดนความรู้ของโลก การจัดตั้งมหาวิทยาลัยระดับโลกในประเทศไทย (World Class University) เพื่อสอนและผลิตความรู้ที่ทันสมัย ดึงดูดผู้เชี่ยวชาญ อาจารย์ และนักศึกษาที่มีคุณภาพจากทั่วโลก
รวมทั้งการจัดทำโครงการ ‘Big Push’ ของผมหรือการรวมสิ่งดีที่สุดในโลกมาไว้ที่ไทย ด้วยการดึงดูดผู้เชี่ยวชาญ 1 ล้านคนจากทั่วโลก ในสาขาที่แต่ละประเทศถูกจัดให้เป็นหนึ่งของโลก มาทำงานอายุ 50-65 ปีและเกษียณอายุในประเทศไทย โครงการ ‘Leap Across’ หรือการส่งคนเก่งของไทยไปศึกษากับอาจารย์และมหาวิทยาลัยที่เก่งที่สุดในโลก สาขาที่เป็นยุทธศาสตร์ของประเทศ เป็นต้น
ประการสำคัญ คือ จัดให้มีการทดสอบเพื่อวัดสมรรถนะในด้านต่าง ๆ ในระดับชาติ เพื่อวัดและรับรองสมรรถนะของบุคคล ซึ่งควรผูกโยงกับรางวัลในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีแรงจูงใจในการเข้ารับการศึกษาและฝึกอบรม เช่น เป็นเงื่อนไขในการสมัครเข้าเรียนต่อ สมัครเข้าทำงานในระบบราชการ ขึ้นค่าจ้างและเงินเดือน จัดการแข่งขันเพื่อให้รางวัลแก่ผู้มีสมรรถนะเป็นเลิศในด้านต่าง ๆ เป็นต้น
นอกจากนี้ ข้อมูลการวัดสมรรถนะของประชาชนทั้งประเทศ ควรมีการนำไปจัดระบบ ประมวลผลและนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ อาทิ จัดทำดัชนีสมรรถนะหรือทุนมนุษย์มวลรวมของประเทศ ติดตามและตรวจสอบเพื่อแก้ปัญหาความขาดแคลนบุคลากร วางแผนเสริมสร้างสมรรถนะของประชาชนในประเทศ และการวางแผนระดมทรัพยากรบุคคลเพื่อการขับเคลื่อนงานสร้างชาติด้านต่าง ๆ
อย่างไรก็ดี ผมไม่ได้หมายความว่า เราไม่ควรช่วยผู้ที่พ่ายแพ้ในระบบเศรษฐกิจในอนาคต แต่ผมเห็นว่า เราไม่ควรให้การช่วยเหลือแบบเหวี่ยงแห ซึ่งใช้งบประมาณจำนวนมาก และไม่จูงใจให้คนทำงานหรือพัฒนาตัวเอง ควรช่วยเหลือแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย ช่วยคนที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้จริง ๆ แม้ได้พยายามอย่างเต็มที่แล้ว และช่วยคนที่อาจตกทุกข์ได้ยากในบางช่วงเวลา เพื่อให้เขาสามารถยืนได้ด้วยตัวเองในที่สุด