ยุติธรรมไทย พังแล้วจริงหรือ?
ผมเคารพแนวทางวินิจฉัยคดีของท่าน ผู้พิพากษาคณากร (คดีที่อ้างว่ามีปัญหาถูกแทรกแซง) แม้จะไม่เห็นด้วยกับวิธีการที่ใช้ (ยิงตัวเอง)
แต่ปัญหาในคดีบางคดี ที่เกิดกับคนบางคน ย่อมไม่สามารถพิพากษาวงการศาลทั้งหมดได้ว่าพังทั้งระบบ หรือไร้ความเป็นธรรม ตามที่มีการขยายประเด็นกันอยู่ในขณะนี้
กล่าวเฉพาะคดีความมั่นคงชายแดนใต้ หากใครตามข่าวมาตั้งแต่ต้น ก็จะทราบว่ามีพัฒนาการในการอำนวยการยุติธรรมให้มากขึ้นตามลำดับ
ห้วงแรกของไฟใต้ที่ปะทุขึ้นเมื่อ 10 กว่าปีก่อน คดีที่ถูกส่งขึ้นสู่ศาล ถูกพิพากษายกฟ้อง 70-80% สะท้อนว่ามีการอำนวยความยุติธรรมตามหลักการของศาล คือเมื่อพยานหลักฐานไม่เพียงพอ หรือมีข้อสงสัย ก็ยกฟ้อง หรือยกประโยชน์ให้จำเลย
แรงกดดันเหวี่ยงกลับไปที่กระบวนการยุติธรรมชั้นก่อนฟ้อง คือ ตำรวจกับอัยการ ว่ารวบรวมหลักฐานกันอย่างไรถึงเอาผิดผู้ต้องหาไม่ได้ คำตอบที่ได้รับกลับมาก็คือ การก่อความไม่สงบมีการกระทำเป็นขบวนการ แบ่งงานกันทำ และปิดลับตัดตอน ทำให้หาหลักฐานเชื่อมโยงได้ยาก มีแต่ข้อมูลการข่าว ซึ่งข้อมูลแบบนี้ เมื่อคดีส่งถึงศาล ก็ยกฟ้องทุกคดี
ต่อมามีการพัฒนาให้ใช้นิติวิทยาศาสตร์ในการสืบสวนและจับกุมมากขึ้น มีการออก “กฎหมายพิเศษ” เพื่อใช้ในการแสวงหาข้อมูลจากผู้ต้องสงสัยที่ยังไม่มีหลักฐานมัดตัว ซึ่งคำให้การหรือพยานหลักฐานในชั้นนี้ ศาลมีกฎหมายและแนวปฏิบัติอยู่แล้วว่า “ไม่ให้น้ำหนักในการรับฟัง” เพราะคำให้การเกิดขึ้นก่อนมีสถานะเป็นผู้ต้องหาตาม ป.วิอาญา ฉะนั้นเมื่อขึ้นศาล จึงต้องสอบคำให้การและสืบพยานใหม่ทั้งหมดทุกคดี (ถ้าไม่มีหลักฐานอื่นที่มีน้ำหนักรองรับ ก็ยกฟ้องอยู่ดี)
นี่คือความยุติธรรมระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ถึงที่สุด เพราะผู้ต้องหาที่ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีที่มีอัตราโทษสูง เช่น ก่อการร้าย มักไม่ได้รับประกันตัว ก็ต้องติดคุกยาวตั้งแต่ชั้นจับกุมจนถึงศาลฎีกาตัดสิน บางคนติดเป็นสิบๆ ปี สุดท้ายศาลยกฟ้อง กลายเป็นความอยุติธรรมรูปแบบหนึ่งเหมือนกัน
หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมก็พยายามแก้ปัญหานี้ มีการตั้ง “สำนักงานอัยการพิเศษ” ขึ้นพิจารณาคดีความมั่นคงเป็นการเฉพาะ ทำให้การกล่าวโทษผู้ต้องหาที่ไม่มีหลักฐานมากพอ อัยการจะใช้ดุลพินิจ “สั่งไม่ฟ้อง” แล้วปล่อยตัวทันที เพื่อไม่ต้องติดคุกยาวระหว่างสู้คดีในศาล (ความยุติธรรมสูงขึ้นอีกขั้น)
เมื่อคดีที่ขึ้นสู่ศาลมีกระบวนการแสวงหาหลักฐานและกลั่นกรองก่อนฟ้องดีขึ้น ทำให้ระยะหลังๆ อัตราการพิพากษาลงโทษในคดีความมั่นคงก็สูงขึ้นตาม จากแค่ 10-20%กลายเป็นมากกว่า 50%
แน่นอนว่ากระบวนการบังคับใช้กฎหมายพิเศษย่อมมีผลข้างเคียงด้านลบตามมา กระบวนการชั้นก่อนฟ้องอาจมีข้อบกพร่องผิดพลาด ระบบบริหารภายในศาลอาจจะมีการแทรกแซง สั่งการ ในทางที่มิชอบบางกรณี ทั้งหมดนี้เป็นโจทย์ที่ทุกฝ่ายที่รับผิดชอบต้องแก้ไข ตรวจสอบอย่างโปร่งใส เพื่อเอาคนไม่ดีออกจากระบบไป แต่ไม่ใช่การติเรือทั้งโกลน หรือใช้ข้อผิดพลาดบางกรณีมาสบช่องเพื่อหวังล้มระบบ ดิสเครดิต หรือหวังผลทางการเมืองแห่งกลุ่มพวกตน