5 เขื่อนแม่โขง ‘ลาว’ ล่ามโซ่สายน้ำ
ปลายเดือนนี้ “เขื่อนไซยะบุลี” ที่กั้นแม่น้ำโขงในลาว จะเริ่มเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าอย่างเป็นทางการ หลังทดลองผลิตไฟฟ้ายูนิตแรกให้ กฟผ. มาแล้ว
เขื่อนไซยะบุลี เป็นเขื่อนแรกที่สร้างบนแม่น้ำโขง ตอนล่าง มีเสียงคัดค้านจากภาคประชาชนไทย กัมพูชาและเวียดนาม พร้อมเอ็นจีโอนานาชาติ เนื่องจากมีข้อกังวลอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับแม่น้ำโขงและระบบนิเวศ ทั้งผลกระทบข้ามพรมแดนต่อประเทศเพื่อนบ้าน
รัฐบาลลาวไม่สนใจเสียงคัดค้าน เดินหน้าสร้างเขื่อนไซยะบุลี จนเสร็จสมบูรณ์ในปลายเดือนนี้ ซึ่งเป็นผลงานชิ้นแรกของกลุ่มทุนไทยคือ ช.การช่าง ในการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงตอนล่าง
ล่าสุด 11 ต.ค. 2562 ท่านสมสะหวาด เล่งสะหวัด ที่ปรึกษาคณะบริหารศูนย์กลางพรรค และท่านคำมะนี อินทิลาด รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ พร้อมตัวแทนคณะผู้บริหารโครงการเขื่อนดอนสะโฮง เข้าร่วมพิธีทดลองเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เครื่องที่ 1 ของโครงการ “เขื่อนดอนสะโฮง”
เขื่อนดอนสะโฮง มีจุดที่ตั้งเขื่อนอยู่บนแม่น้ำโขง บริเวณสี่พันดอน เมืองโขง แขวงจำปาสัก โดยมีการสร้างเขื่อนกั้น “ฮูสะโฮง” ทางน้ำไหลธรรมชาติ ซึ่งเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำขนาด 260 เมกะวัตต์ ความสูง 25 เมตร
โครงดอนสะโฮง มีมูลค่าราว 723.1 ล้านดอลลาร์ ถือหุ้นใหญ่ 80% โดย บริษัท Mega First Corporation Berhad (MFCB) จากมาเลเซีย รัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าลาว 20%
ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากเขื่อนดอนสะโฮง จะสนอง 4 แขวงภาคใต้ คือแขวงสาละวัน แขวงอัตตะปือ แขวงเซกอง และแขวงจำปาสัก และที่เหลือส่งขายให้กัมพูชา
การไฟฟ้าลาวได้เซ็นสัญญาขายไฟฟ้าให้แก่กัมพูชาเป็นที่เรียบร้อย โดยเมื่อ 3 ปีที่แล้ว สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้เดินทางมาเยี่ยมชมการก่อสร้างโครงการดอนสะโฮงด้วยตัวเอง
ท่านคำมะนี อินทิลาด รัฐมนตรีพลังงานของลาว กล่าวย้ำว่า เขื่อนไซยะบุลี และเขื่อนดอนสะโฮง เป็นโครงการยุทธศาสตร์ของรัฐบาลลาว ในการพัฒนาเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่สร้างอยู่บนแม่น้ำโขง ซึ่งมีลักษณะพิเศษ มีผลประโยชน์สูงสุด กระทบต่อธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและสังคมน้อยที่สุด
ในแผนการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าของ สปป.ลาว จากนี้ไปจนถึงปี 2563 จะให้บรรลุเป้าหมายการแสวงหาแหล่งผลิตไฟฟ้า 60 แห่ง ซึ่งปัจจุบัน ทั้งเขื่อนพลังน้ำ และโครงการไฟฟ้าถ่านหิน ก่อสร้างสำเร็จไปแล้ว 38 แห่ง ด้วยเม็ดเงินลงทุน 1 แสนล้านดอลลาร์ และมีกำลังติดตั้ง 6,265 เมกะวัตต์
รัฐบาลลาว กำลังจะสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงอีก 3 แห่งคือ เขื่อนปากแบ่ง แขวงอุดมไซ ที่มีการสำรวจออกแบบเรียบร้อยแล้ว เขื่อนหลวงพระบาง แขวงหลวงพระบาง และเขื่อนปากลาย แขวงไซยะบุลี
ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนคือ เขื่อนหลวงพระบาง โดยกรรมาธิการแม่น้ำโขงออกโรงขอให้มีการศึกษาผลกระทบให้รอบด้าน แต่รัฐบาลลาวประกาศ ปี 2563 คิกออฟการก่อสร้างเขื่อนหลวงพระบาง โดยกลุ่มทุนเวียดนามเป็นเจ้าของโครงการ และอาจมี ช.การช่าง เข้าไปร่วมด้วย
แม้จะมีเสียงตะโกนว่า น้ำโขงกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤติ แต่รัฐบาลลาวทำเป็นหูทวนลม เพราะความต้องการเม็ดเงินจากการขายไฟฟ้าให้เพื่อนบ้าน สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาประเทศให้หลุดพ้นจากความยากจน