Food Waste ปัญหาร่วมระหว่างเราและโลก (จบ)

Food Waste ปัญหาร่วมระหว่างเราและโลก (จบ)

ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับการลดปัญหาขยะอาหาร ด้วยมาตรการที่แตกต่างกันตามตัวอย่างในบทความก่อนหน้า

ขณะที่ประเทศไทย การจัดการเพื่อลดขยะอาหารยังเป็นเรื่องใหม่ และ ประเทศไทยไม่มีแม้กระทั่งข้อมูลปริมาณอาหารที่ผลิตและปริมาณการทิ้งขยะอาหารที่ชัดเจน มีเพียงข้อมูลขยะมูลฝอยที่เป็นขยะอินทรีย์ซึ่งกรมควบคุมมลพิษระบุว่าปี 2560 มีปริมาณ 17.56 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 64 ของปริมาณขยะมูลฝอยทั้งหมด ซึ่งข้อมูลนี้เป็นเพียงปริมาณขยะมูลฝอยที่เก็บโดยเทศบาลเท่านั้น ยังไม่รวมขยะอาหารจากภาคธุรกิจที่จ้างบริษัทเอกชนดำเนินการ

การตั้งเป้าหมายเพื่อลดขยะอาหารให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2573 ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน สำหรับไทย “อาจเป็นไปได้ยาก แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทำไม่ได้”

ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมและค้าปลีกในประเทศไทยเริ่มตระหนักเรื่องการบริหารจัดการขยะอาหาร โดยผู้ริเริ่มเป็นผู้ประกอบการที่เป็นสาขาของบริษัทต่างชาติ ซึ่งบริษัทแม่มีนโยบายลดขยะอาหาร เช่น เทสโก้ โลตัส (Tesco Lotus) อิเกีย (IKEA) โรงแรมมาริออท (Marriott)

ขณะที่ผู้ประกอบการไทย เช่น โรงแรมสามพรานริเวอร์ไซด์ เป็นแห่งแรกที่เข้าโครงการลดขยะอาหารของสำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) (Thailand Convention & Exhibition Bureau (TCEB)) ท็อปส์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต (TOPs) โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งเป็นบริษัทในของเครือเซ็นทรัล ได้เริ่มมีการดำเนินการในปี 2562  

ผู้ประกอบการเหล่านี้มีการจัดการปัญหาการสูญเสียอาหารตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนเพื่อป้องกันการสูญเสียอาหาร เช่น ซื้อสินค้าเกษตรจากเกษตรกรโดยตรงเพื่อลดการสูญเสียจากการขนส่ง การวางแผนการผลิตเพื่อไม่ให้เกิดอาหารส่วนเกินจากความต้องการของลูกค้า การนำอาหารที่ยังทานได้ไปบริจาคให้องค์กรไม่แสวงหากำไร Scholars of Sustenance (SOS) การนำเศษอาหารไปจำหน่ายให้ฟาร์มสุกร หรือ ไปหมักเพื่อทำปุ๋ย เป็นต้น

แต่การดำเนินการเหล่านี้ยังประสบปัญหาหลายประการ เช่น การผูกขาดของบริษัทเอกชนที่ให้บริการจัดเก็บและรีไซเคิลขยะในบางพื้นที่ ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้สัมปทานจัดเก็บขยะแก่ผู้ให้บริการรายเดียว การขาดหน่วยงานกลางทำหน้าที่กระจายอาหารส่วนเกินไปยังสถานสงเคราะห์ต่าง ๆ เนื่องจากในปัจจุบันมีเพียง SOS รายเดียวที่มีระบบในการขนส่งอาหารเพื่อนำไปบริจาคที่ได้มาตรฐานสุขอนามัย แต่ทว่า SOS จะต้องแบกรับความรับผิดชอบหากมีการฟ้องร้องกรณีที่อาหารนำไปบริจาคส่งผลต่อสุขภาพของผู้รับบริจาค การขาดการแยกขยะอาหารจากการจัดเก็บขยะของเทศบาล การขาดข้อมูลจัดการขยะอาหารในระบบนิเวศ เช่น เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่สามารถนำมาใช้ และมูลค่าของต้นทุนที่สามารถลดได้จากการลดปริมาณอาหารที่ต้องทิ้ง เป็นต้น

การจะก้าวไปสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ได้นั้น สิ่งที่ประเทศไทยควรทำ คือ อาจเริ่มดำเนินการในกลุ่มธุรกิจโรงแรมก่อน โดยอันดับแรกต้อง สร้างฐานข้อมูลปริมาณขยะอาหาร ซึ่งอาจเริ่มจากภาคส่วนที่มีความพร้อมมากที่สุด คือ ภาคโรงแรมเพื่อนำร่องการพัฒนาข้อมูลขยะอาหารระดับประเทศ ซึ่งเป็นข้อมูลพื้นฐานจำเป็นในการบริหารจัดการปัญหาขยะอาหาร

สอง คือ จัดทำเว็บไซต์เกี่ยวกับบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวกับระบบนิเวศน์การบริหารจัดการขยะอาหาร เช่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการลดปัญหาขยะอาหาร เช่น สสปน. SOS เป็นต้น รายชื่อหน่วยงาน องค์กร หรือชุมชนที่รับบริจาคอาหาร โดยอาจระบุลักษณะอาหารที่ต้องการ เช่น อาหารปรุงสำเร็จรูป วัตถุดิบปรุงอาหาร อาหารกระป๋อง ฯลฯ รายชื่อบริษัทที่ปรึกษาเกี่ยวกับการรีไซเคิลขยะอาหาร เช่น บริษัท SORT Corporation ที่จำหน่ายเครื่องแปรรูปขยะอาหารเป็นปุ๋ย อาหารสัตว์ และพลังงาน เป็นต้น

เพื่อให้เกิดการพัฒนาแบบยั่งยืน ภาครัฐอาจจำเป็นต้องจัดทำมาตรการส่งเสริมการนำอาหารไปบริจาค เช่นสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมายเพื่อให้การคุ้มครองผู้บริจาคและตัวกลางในการกระจายอาหารเพื่อนำไปบริจาค เพื่อป้องกันการถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายในกรณีที่ผู้รับบริจาคมีปัญหาสุขภาพจากการบริโภคอาหาร

 การกำหนดมาตรฐานของการถนอมอาหารและการขนส่งอาหารที่บริจาค เช่น อุณหภูมิในการขนส่งอาหาร มาตรฐานด้านสุขอนามัย ฯลฯ

การให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี กรณีมีการบริจาคอาหารหรือวัตถุดิบให้แก่องค์กรไม่แสวงหากำไร องค์กรการกุศล หรือโรงเรียน เพื่อจูงใจให้ผู้ผลิตอาหารส่วนเกินไปบริจาคมากกว่าการนำไปทิ้ง

ขณะเดียวกันภาครัฐก็ควรมีมาตรการส่งเสริมให้มีการนำขยะอาหารไปรีไซเคิล ได้แก่ การแยกจัดเก็บขยะอินทรีย์ออกจากขยะทั่วไป โดยอาจสลับวันหรือมีรอบพิเศษในแต่ละวันของการจัดเก็บขยะอินทรีย์ซึ่งควรเริ่มจากภาคธุรกิจก่อน

การปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมจัดเก็บขยะของทุกพื้นที่ให้สะท้อนต้นทุนแท้จริงโดยอาจพิจารณาตามปริมาณและน้ำหนักของขยะ และต้องมีการปรับค่าธรรมเนียมให้เท่ากันทุกพื้นที่ มิฉะนั้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจหลีกเลี่ยงที่จะขึ้นค่าจัดเก็บขยะเนื่องจากกลัวเสียผลประโยชน์ทางการเมือง และมีศูนย์แปรรูปขยะอาหารในแต่ละท้องถิ่น เพื่อให้ธุรกิจขนาดย่อมหรือครัวเรือนสามารถนำขยะอาหารมาแปรรูปเพื่อใช้ประโยชน์อื่นได้ เช่น ปุ๋ย น้ำหมักชีวภาพ ฯลฯ

ผู้เขียนเห็นว่าปัญหา “ขยะอาหารจะเป็นประเด็นที่อยู่ในกระแสความสนใจของประชาชนมากขึ้นอย่างรวดเร็วต่อจากปัญหาขยะพลาสติก หากแต่ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลปริมาณขยะอาหารที่มีการฝังกลบแต่ละวันและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างความตื่นตัวถึงความรุนแรงของปัญหา และเราทุกคนสามารถเริ่มมีส่วนร่วมโดยการ ทานข้าวให้หมดจานและ สั่งอาหารให้พอดีกับท้อง

โดย... 

ธารทิพย์ ศรีสุวรรณเกศ