ธรรมาธิษฐาน .. จากภาวนา !!
เจริญพร สาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา เมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา นั่งเจริญภาวนาปรากฏ นิมิตเป็นปุคลาธิษฐานให้แปลเป็นธรรมาธิษฐาน ได้ว่า
“..การดำเนินไปบนเส้นทางของแต่ละชีวิตใน วัฏสงสารนี้ ย่อมยากที่จะหลีกหนีปัญหาอุปสรรคนานัปการ อันเกิดจากการเคลื่อนไหวของวิถีชีวิตที่ สะสมไว้จนแสดงความเป็นชะตาชีวิตของแต่ละบุคคล หรือชะตาชีวิตของสังคม ประเทศชาติโดยรวมที่ จะต้องเปลื้องออกไปด้วยการเสวยผล... เพื่อแสดงความปกติหรือเป็นธรรมดาว่า ทุกชีวิตเสมอกันด้วย กรรมที่มีกฎเกณฑ์ควบคุมดูแล ดังที่กล่าวกันว่า.. “ไม่มีใครใหญ่เกินกรรม”... สมสุภาษิตที่ว่า นัตถิ กัม มะสะมัง พะลัง ... ชีวิตนี้ เป็นสนามที่ทดลองแรงกรรม
ความเข้าใจเรื่อง กฎแห่งกรรม จึงเป็นเรื่องสัมมาทิฏฐิในเบื้องต้น ที่เป็นประโยชน์ยิ่งต่อการ ดำรงชีวิตไปในทิศทางที่ต้องสัมพันธ์กับ บุคคล สังคม สิ่งแวดล้อม หรือกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในธรรมชาติ ทุก ชีวิตจึงควรพัฒนาให้ถึงพร้อมด้วยสติปัญญา... เพื่อนำไปสู่การกระทำที่ชอบ สร้างความรู้ชอบ ความดำริชอบ .. เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างถูกต้องตรงธรรม เพื่อประสิทธิภาพที่ถึงพร้อมด้วยคุณธรรม ที่จะนำไปสู่ การมีพลังชีวิตที่ดำเนินไปสู่การเผชิญกับทุกปัญหา ...
การถึงพร้อมด้วยองค์คุณแห่งความรู้ที่ถูกต้องตรงตามสัจธรรม จึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำเนินชีวิตในวิถีการพัฒนาจิตใจที่แท้จริง ที่จะทำให้เกิดความเข้าใจในทุกปัญหา .. รู้จักจัดลำดับความสำคัญของปัญหา ประเมินกำลังของปัญหานั้น ๆ ว่าอยู่ในระดับใด เพื่อการจัดการด้วยวิธีการอันเหมาะสมทรงประสิทธิภาพ ...
ในเรื่องลักษณะปัญหานั้น เป็นสภาวธรรมที่ควรทำความเข้าใจ เพื่อรู้ถึงสภาพแท้จริงของตัวปัญหา ด้วยหลายปัญหาแก้ไม่ยาก สามารถแก้ไขได้เลย หรือบางปัญหาไม่ต้องแก้ ปล่อยให้ผ่านไปด้วยเงื่อนไขปัญหาที่แก้ไขในตัวปัญหาเองได้ .. แต่บางปัญหาต้องรอขณะความพร้อมจึงค่อยแก้ .. ไม่ควรหักหาญออกไปจัดการอย่างไม่ประเมินความพร้อม.. จนก่อเกิดอุบัติเหตุแห่งปัญหาให้ทับถมชีวิตจนเสียหาย ดังที่มีให้เห็นบ่อยครั้งกับผู้ประมาทในปัญหา (โลก)..
สำหรับปัญหาที่แก้ไขได้ยาก ... คือ ปัญหาที่โยงใยกับอิทธิพลภายนอก ไม่ว่า บุคคล สิ่งแวดล้อม หรือกฎเกณฑ์ทางสังคม หรือธรรมชาติ ที่เกี่ยวเนื่องกับเรา โดยเฉพาะ ปัญหาที่ต้องเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่น .. ที่ไม่ใช่ปัญหาของเราโดยตรง... ซึ่งจะต้องทำความเห็นชอบร่วมกันหลายฝ่าย ซึ่งออกจะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่ทุกฝ่ายจะต้องมีความสามัคคีกันในการแก้ไขปัญหา ด้วยความรู้ ความสามารถ และมีคุณธรรมอันถึงพร้อม มีประสิทธิภาพถึงพร้อม ดังเช่น ปัญหาของบ้านเมือง ประเทศชาติ ...
แต่ไม่ว่าจะเป็นปัญหาส่วนตัวที่แก้ไขไม่ยาก ด้วยเป็นเงื่อนปมที่เราสามารถจัดการได้เลย หรือปัญหาส่วนรวมที่แก้ไขได้ยาก ด้วยจักต้องพึ่งทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับปัญหา ก็คงจะต้องยึดหลักธรรมเดียวกัน โดยต้องรู้จักยึดหลัก 7 รู้ คือ รู้เหตุ รู้ผล รู้ตน รู้ประมาณ รู้กาล รู้สังคม และรู้บุคคล ซึ่งมีประโยชน์ยิ่งต่อการนำไปใช้เป็นหลักในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาในทุกเรื่องที่ต้องรับผิดชอบ สามารถนำไปใช้ได้จริงในการพัฒนาชีวิต เพื่อก้าวข้ามผ่านพ้นปัญหาอุปสรรค สู่จุดมุ่งหมายที่ตั้งความประสงค์ไว้
ดังนั้น ผู้เคารพธรรม .. จึงไม่ควรประมาทในการดำเนินชีวิต ที่จะต้องผ่านปัญหาต่าง ๆ ทุกระดับ โดยยึดหลักสามัคคีธรรมทั้งภายในและภายนอก ทั้งปัญหาส่วนตัวและส่วนรวม ... ไม่ควรมองข้ามแม้ปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ .. ที่สำคัญ อย่าได้ก่อความวิปริตให้เกิดขึ้นในความคิด .. จนเกิดความวิปลาสในทิฏฐิ ให้เห็นความดีเป็นความชั่ว หรือเห็นความชั่วเป็นความดี.. ที่ยากจะเข้าใจในธรรมชาติของชีวิต จนยากจะแก้ไขปัญหาต่างๆ นานา ที่เป็นเรื่องธรรมดาของโลกใบนี้ในทุกยุคสมัย จึงควรพึงจดจำไว้ว่า “ก่อนจะแก้ปัญหาใดๆ ให้ประเมินกำลังตนเองในความรู้ ความดี หรือบารมีธรรม ทุกครั้งว่า พอเพียงที่จะเข้าไปจัดการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนั้นได้หรือไม่ ...” บางครั้งถ้ายังไม่ไหว ก็พักรอไว้ก่อนได้ ... จนกว่าจะถึงความพร้อม เหมาะสมแล้วค่อยจัดการ ... อย่าได้บุ่มบ่าม มุทะลุดุดัน ย่ามใจ จนที่สุดถูกปัญหาล้มทับให้ฉิบหาย จนยากที่จะแก้
เจริญพร