เช็คโทรศัพท์แฟนอาจเสี่ยงติดคุก

เช็คโทรศัพท์แฟนอาจเสี่ยงติดคุก

ปัจจุบันสมาร์ทโฟน (Smartphone) ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตในยุคดิจิทัลไปแล้ว

เพราะไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนของโลกก็สามารถรติดต่อสื่อสารได้สะดวกรวดเร็ว และยังสามารถเก็บบันทึกข้อมูลต่างๆ ทั้งในทางธุรกิจและข้อมูลส่วนบุคคลได้อย่างง่ายดาย สมาร์ทโฟนคือ โทรศัพท์ที่รองรับระบบปฏิบัติการต่าง ๆ เช่น iOS, Android OS ได้ เสมือนยกเอาคุณสมบัติคอมพิวเตอร์มาไว้ในโทรศัพท์ ทำให้สมาร์ทโฟนสามารถลงแอพพลิเคชั่น (Application) เพิ่มเติม ให้ใช้งานมากมาย สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่าน 4G, Wi-Fi และใช้งาน Social Network และแอพพลิเคชั่นสนทนาชั้นนำ เช่น LINE, YouTube, Facebook, Twitter โดยที่ผู้ใช้สามารถปรับแต่งลูกเล่นการใช้งานให้ตรงกับความต้องการได้มากกว่ามือถือธรรมดา

เมื่อสมาร์ทโฟนมีระบบปฏิบัติการหรือชุดคำสั่งเฉกเช่นเดียวกับคอมพิวเตอร์ทั่วไป ดังนั้นจึงน่าจะอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (ฉบับแก้ไข 2560) เพราะในมาตรา 3 ได้ให้นิยามความหมายว่า ระบบคอมพิวเตอร์ หมายความว่า อุปกรณ์หรือชุดอุปกรณ์ของคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมการทำงานเข้าด้วยกัน โดยได้มีการกำหนดคำสั่ง ชุดคำสั่ง หรือสิ่งอื่นใด และแนวทางปฏิบัติงานให้อุปกรณ์หรือชุดอุปกรณ์ทำหน้าที่ประมวลผลข้อมูลโดยอัตโนมัติ เมื่อมีการฝ่าฝืนสิทธิบางประการที่พ.ร.บ.นี้ได้กำหนดไว้ก็ถือว่ามีความผิดตามพ.ร.บ.ดังกล่าวด้วย โดยเฉพาะในปัจจุบันระบบเครือข่ายเชื่อมโยงถึงกันทั่วโลก ปัญหาในเรื่องอาชญากรรมทางด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะในเรื่องแฮกเกอร์ก็มีให้เห็นมากขึ้น ผู้ที่แอบลักลอบเข้าสู่ระบบจึงมาได้จากทั่วโลก และบางครั้งก็ยากที่จะดำเนินการใด ๆ ได้

หนึ่งในการกระทำที่ถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่ตัวผู้เขียนมองว่ามีประเด็นน่าสนใจก็คือการเช็คโทรศัพท์แฟนโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งมิได้เป็นที่พูดถึงกันมากนัก เพราะเป็นกรณีที่เกิดกับคู่รัก บางคู่อาจมองว่าการเช็คโทรศัพท์ถือเป็นสิ่งที่ปกติในชีวิตคู่ แต่เมื่อความรักที่มีต่อกันเกิดความระแวงหรือมีปัญหาต่อกัน การเช็คโทรศัพท์ของอีกฝ่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าวใน มาตรา 5 และมาตรา 7 ที่ว่าด้วยการเข้าถึงโดยมิชอบด้วยระบบคอมพิวเตอร์หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตนซึ่งต้องระวางโทษจำคุก

กฎหมายได้ให้ความหมายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ไว้ว่าหมายถึง ข้อมูล ข้อความ คำสั่ง ชุดคำสั่ง หรือสิ่งอื่นใดบรรดาที่อยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ในสภาพที่ระบบคอมพิวเตอร์อาจประมวลผลได้และให้หมายความรวมถึงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วย การเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยมิชอบจึงเป็นการกระทำใดๆ ที่เป็นการเข้าถึงข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ของบุคคลอื่นโดยมิได้รับอนุญาติหรือความยินยอมจากผู้เป็นเจ้าของข้อมูลเสียก่อน อีกทั้งต้องเป็นข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยมีการตั้งระบบรักษาความปลอดภัยเอาไว้ ซึ่งเจ้าของข้อมูลเองย่อมมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะป้องกันมิให้ผู้อื่นเข้าถึงหรือล่วงรู้ข้อมูลของตนได้

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนไม่เห็นด้วยหากจะตีความว่า “การแอบเช็คโทรศัพท์แฟนโดยไม่ได้รับอนุญาต”เป็นความผิดตามกฎหมายฉบับนี้ แม้ว่าการกระทำดังกล่าวอาจจะเข้าองค์ประกอบความรับผิดในมาตรา 5 หรือ มาตรา 7 ก็ตาม ทั้งนี้ เพราะอาจเกิดปัญหาในการใช้และการตีความกฎหมายในระยะยาว เนื่องจากเจตนารมณ์ของผู้บัญญัติกฎหมายน่าจะมีความมุ่งหมายที่จะนำบทบัญญัตินี้มาสร้างมาตรการป้องกันความเสียหายที่เกิดจากแฮกเกอร์ หรือผู้ที่พยายามหาวิธีการ หรือหาช่องโหว่ของระบบ เพื่อแอบลักลอบเข้าสู่ระบบ เพื่อล้วงความลับ หรือแอบดูข้อมูลข่าวสาร บางครั้งมีการทำลายข้อมูลข่าวสาร หรือทำความเสียหายให้กับตัวบุคคลหรือองค์กร เช่น การลบรายชื่อลูกหนี้การค้า การลบรายชื่อผู้ใช้งานในระบบ เป็นต้น

เหตุผลในการประกาศใช้พ.ร.บ.ฉบับนี้คือ เนื่องจากในปัจจุบันระบบคอมพิวเตอร์ได้เป็นส่วนสำคัญของการประกอบกิจการและการดำรงชีวิตของมนุษย์หากมีผู้กระทำด้วยประการใดๆ ให้ระบบคอมพิวเตอร์ไม่สามารถทำงานตามคำสั่งที่กำหนดไว้หรือทำให้การทำงานผิดพลาดไปจากคำสั่งที่กำหนดไว้หรือใช้วิธีการใด ๆ เข้าล่วงรู้ข้อมูล แก้ไข หรือทำลายข้อมูลของบุคคลอื่นในระบบคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ หรือใช้ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จหรือมีลักษณะอันลามกอนาจาร ย่อมก่อให้เกิดความเสียหาย กระทบกระเทือนต่อเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของรัฐ รวมทั้งความสงบสุขและศีลธรรมอันดีของประชาชน สมควรกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพ.ร.บ.นี้

กรณีชายหนุ่มที่เป็นคู่รักเข้าถึงหรือล่วงรู้ข้อมูลจากการแอบดูสมาร์ทโฟนจะเกิดความเสียหายแก่แฟนสาวผู้เป็นเจ้าของข้อมูลหรือไม่ หากเกิดขึ้นแล้วความเสียหายนั้นมากน้อยแค่ไหนเพียงใด ในกรณีนี้เองผู้เขียนมองว่า ในเรื่องของการเช็คโทรศัพท์ของแฟนโดยมีเจตนาที่จะตรวจเช็คว่าแฟนสาวของตนได้มีคบชู้หรือไม่ หากการเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวมิได้ก่อให้เกิดความเสียหายใดๆ เกิดขึ้นแก่ตัวแฟนสาว กล่าวคือ มิได้มีข้อมูลใดที่ชายหนุ่มล่วงรู้แล้วจะทำให้แฟนสาวเกิดความเสียหายในทางร่างกาย ทรัพย์สิน เสรีภาพ พฤติการณ์ในลักษณะนี้ผู้เขียนเห็นว่า ไม่น่าจะก่อให้เกิดความรับผิดเกิดขึ้น เนื่องจากอาจจะมีคำถามได้ว่าแฟนสาวที่เป็นผู้เสียหายที่มาร้องทุกข์เองนั้นเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือไม่ และจะพิสูจน์ว่าได้รับความเสียหายที่กระทบกระเทือนต่อสิทธิบางประการอย่างเห็นได้ชัดมากน้อยเพียงใด ได้อย่างไร

กล่าวโดยสรุปแม้ว่าหากพิจารณาตามตัวอักษรแล้ว การเช็คโทรศัพท์แฟนอาจถือว่าเป็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ แต่ผู้บังคับใช้กฎหมายควรคำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมาย ตลอดจนสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ประกอบการพิจารณาด้วย มิเช่นนั้นแล้วอาจทำให้เกิดการตีความและบังคับใช้กฎหมายที่อาจกระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากยิ่งขึ้น

โดย... 

ดร.ภาณุพงศ์ เฉลิมสิน

เฉลิมขวัญ อ่อนเกตุพล

ศิวณัฐ พิธีรัตนานนท์