ความสุขคือสิ่งที่คุณสร้างเองได้

ความสุขคือสิ่งที่คุณสร้างเองได้

ความสุขที่ค่อนข้างยั่งยืน มีความหมายมากกว่าการหาความสำราญชั่วคราว ปัจจัยที่นำไปสู่ความสุขเบื้องต้น

ขึ้นอยู่กับการมีงานทำ มีรายได้พอยังชีพได้ มีสุขภาพดี มีคู่ครอง เพื่อนฝูงที่ดี

ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือสภาพจิตใจ คนที่มีจิตใจที่สงบสุข รู้จักพอใจกับสิ่งที่ตนเองมีอยู่ ควบคุมสิ่งที่ตนทำได้ หรือทำตัวให้รู้สึกเป็นอิสระจากเหตุปัจจัยภายนอก มีโอกาสที่จะมีความสุขมากกว่าคนที่แม้จะรวย หรือได้รับความพึงพอใจทางโลกแล้ว แต่ยังรู้สึกไม่พอเพียง ยังคาดหมาย ยังต้องการมากขึ้น หรือมีอารมณ์เกลียด อิจฉา โกรธ ไม่พอใจอยู่เรื่อยๆ

แหล่งที่มาของความสุขคือการรู้จักควบคุมจิตใจ การมีจิตใจที่สงบ หรือรักที่จะทำในสิ่งที่มีความหมายสำหรับชีวิตของคนคนนั้น (ซึ่งสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ด้วย)

ดาไล ลามะ องค์ปัจจุบันอธิบายว่า ความสุขมีรากฐานอยู่บนความรักและความเมตตากับเพื่อนมนุษย์คนอื่นๆ ทำให้เรารู้สึกมีค่า มีศักดิ์ศรี และรู้จักในความอบอุ่นของความเอื้ออาทรของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นๆ ด้วยความซื่อตรง เปิดเผย และใจกว้าง ด้วยความรักและความเมตตากรุณา เอาใจเขามาใส่ใจเรา ได้เห็นส่วนที่ดีของคนอื่นๆ คือปัจจัยที่จะนำไปสู่ความสุข

ความรักความเมตตา หมายถึงภาวะจิตที่มองคนอื่นๆ อย่างมนุษย์เพื่อนร่วมโลกที่เท่าเทียมกันและมีอะไรเหมือนกัน เช่น ปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ รู้สึกอุทิศตน รับผิดชอบ และนับถือให้เกียรติผู้อื่น ไม่ฝักใฝ่ความรุนแรง ไม่ก้าวร้าว ไม่ทำร้าย ไม่ยึดมั่นถือมั่นกับความรู้สึกว่าเมื่อเรารักใครเราจะต้องได้ความรักตอบแทน หรือความรู้สึกว่าต้องการควบคุมใครสักคนให้ทำในสิ่งที่เราพอใจ

ความเมตตาคือความปรารถนาดีอย่างจริงใจ ยินดีน้อมรับ แบ่งเบาความทุกข์ของคนอื่น หากเราบ่มเพาะความเมตตาได้อย่างแท้จริง จะทำให้เรามองอะไรได้กว้างขึ้นกว่าตัวเราเอง และรู้สึกดีขึ้น มีความสุขขึ้น (ความปีติยินดี) ที่ได้มีส่วนในการช่วยเหลือคนอื่น นั่นก็คือทั้งคนให้และคนรับต่างก็รู้สึกในทางที่ดีขึ้น ภาวะจิตที่ดีขึ้นยังมีผลดีต่อสุขภาพทางกายของเราด้วย

การมีสภาพจิตใจในทางบวก (ความรู้สึกที่ดี) ไม่ได้เป็นผลดีเฉพาะต่อตัวคุณเท่านั้น แต่จะเป็นผลดีต่อทุกคนที่คุณเข้าไปมีความสัมพันธ์ด้วย นั่นก็คือเป็นผลที่ดีต่อสังคมโดยรวม

ความสุขเป็นสิ่งที่คนสามารถสร้างขึ้นได้ ศึกษาและฝึกฝน แสวงหาอย่างมีเหตุผลถึงสาเหตุและหนทางไปสู่ความสุขอย่างแท้จริง ซึ่งมีความหมายมากกว่าความสำราญซึ่งเป็นเพียงอารมณ์ความรู้สึกชั่วคราว

คุณจะต้องพยายามหลีกเลี่ยงอารมณ์ในทางลบ เช่น เกลียด อิจฉา เคืองแค้น และทดแทนอารมณ์นั้นด้วยความอดกลั้นและอดทน รัก เมตตากรุณา ปรัชญาพุทธเรื่องให้ทดแทนความคิดในเชิงลบด้วยความคิดในเชิงบวกนั้นได้รับการสนับสนุนจากนักจิตวิทยาแนวบวก ที่ฝึกฝนให้คนทดแทนวิธีคิดที่บิดเบือน เช่น ชีวิตฉันไม่มีอะไรดีและทุกเรื่อง ด้วยวิธีคิดที่แม่นยำกว่าว่า ชีวิตส่วนนี้ของฉันอาจไม่ค่อยดี แต่ก็มีส่วนอื่นๆ ที่ดีๆ อยู่ด้วย

การมุ่งเน้นที่ปฏิบัติฝึกฝนตนเองให้สามารถพัฒนา จิตใจที่ดี หรือความเป็นเลิศ คุณธรรม ตามแนวคิดของนักปรัชญาสำนักสโตอิก กรีกยุคโบราณ จะช่วยลดโอกาสที่คุณจะลงมือทำในสิ่งที่มีลักษณะทำลายล้าง ไม่สร้างสรรค์ลงไปได้ และจะมีโอกาสพบความสุขมากกว่าความทุกข์

การหลีกเลี่ยงความทุกข์ด้วยการใช้ยา เหล้า ยาเสพติด การหาความบันเทิง การสกัดกั้นไม่ยอมรับ หรือถ่ายโอนความผิดไปให้คนอื่น เป็นการหลีกเลี่ยงความทุกข์ได้ชั่วครั้งชั่วคราว เหมือนใช้ยาระงับการเจ็บปวด แต่ไม่ได้รักษาสาเหตุของโรคอย่างแท้จริง ดังนั้นจึงมักนำไปสู่ความทุกข์มากยิ่งขึ้น

วิธีที่จะรับมือกับความทุกข์ได้ดีกว่า เราต้องฝึกการยอมรับว่าความทุกข์ เช่น การแก่เฒ่า การเจ็บไข้ได้ป่วย ความตาย เป็นธรรมชาติส่วนหนึ่งของชีวิต หากเราได้ฝึกใคร่ครวญว่าความทุกข์เป็นเรื่องที่มีโอกาสเกิดได้ควบคู่ไปกับความสุข เวลาเกิดความทุกข์ จิตใจเราก็จะหวั่นไหวน้อยกว่า กลัวความทุกข์น้อยกว่าคนที่คาดหมายด้านเดียวว่าชีวิตควรจะมีแต่ความสุข

หากเราปรับเปลี่ยนทัศนะว่าความทุกข์เป็นธรรมชาติส่วนหนึ่งของชีวิต เป็นการดำรงอยู่ที่เต็มไปด้วยความไม่รู้ และฝึกความอดทน อดกลั้น ต่อการเปลี่ยนแปลงไม่แน่นอนของชีวิตมากขึ้น ก็จะช่วยให้เราต้านทานและลดทอนความรู้สึกทุกข์ใจลงได้ดีกว่าคนที่มีทัศนะว่าความทุกข์เป็นสิ่งไม่ดี เป็นโชคร้ายที่ไม่น่าเกิดกับเขา

ตามปรัชญาพุทธ รากเหง้าของความทุกข์คือความไม่รู้ ความดิ้นรนทะยานอยาก และความโกรธเกลียด ซึ่งเป็นยาพิษในจิตใจ ความไม่รู้ไม่ได้หมายถึงการขาดข้อมูลข่าวสาร แต่หมายถึงการมีความคิดเห็นผิดเพี้ยนคลาดเคลื่อนจากสภาพธรรมชาติที่แท้จริงของมนุษย์และปรากฏการณ์ทั้งหลาย

การจะขจัดความทุกข์ คือการทำความเข้าใจสรรพสิ่งต่างๆ อย่างกระจ่างแจ้งว่าสังขารและสิ่งต่างๆ ไม่เที่ยงแท้ ย่อมเสื่อมสลายและดับไป การมีชีวิตอยู่ในแต่วัน ล้วนมากไปด้วยความทุกข์ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ที่เราต้องเรียนรู้จะอยู่ร่วมและรับมือกับมัน ฝึกจิตให้ขจัดความดิ้นรนทะยานอยาก และโกรธเกลียด ซึ่งเป็นภาวะที่สร้างความทุกข์ในทางจิตใจ ฝึกจิตให้บริสุทธิ์ให้เป็นอิสระจากทุกข์ หรือเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับทุกข์ได้อย่างเข้มแข็ง

คนร่ำรวยที่สามารถใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบายมากขึ้น ความทุกข์ทางกายค่อยหดหายไปจากสายตา พวกเขาเริ่มมองไม่เห็นว่าความทุกข์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์อีกต่อไป พวกเขามองความทุกข์เป็นเรื่องผิดปกติ ดังนั้นเมื่อเกิดความทุกข์ขึ้นจริง คนที่เคยแต่สุขสบาย หรือไม่ได้คิดว่าชีวิตคือการเปลี่ยนแปลงที่อาจมีทุกข์ได้ จึงทุกข์ทางใจรุนแรงกว่าคนยากจน คนที่เคยมีประสบการณ์ผ่านทุกข์ยากมาแล้ว

คนเช่นนี้ ยังสร้างทุกข์ให้ตัวเองเพิ่มขึ้น ด้วยการมองว่าตนเองเป็นเหยื่อของโลกที่ไม่ยุติธรรม และโทษผู้อื่นร่ำไป โดยไม่ได้คิดใคร่ครวญว่าอดีตก็คืออดีต อะไรที่เกิดขึ้นแล้วก็เป็นสิ่งที่ช่วยไม่ได้แล้วที่จะไปตีโพยตีพาย สิ่งที่สำคัญคือตัวเราจะแก้ปัญหา แก้สถานการณ์ต่อไปอย่างไร หรือถ้าเป็นเรื่องที่ตัวเราแก้ไม่ได้แล้ว ก็จะต้องยอมรับสภาพความจริงว่าจะเราจะอยู่ร่วมกับสถานการณ์นั้นต่อไปอย่างไร

โดยสรุปคือ การพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ ความฉลาดทางสังคม ความฉลาดทางจิตวิญญาณ และความฉลาดในเรื่องระบบธรรมชาติ/ระบบนิเวศ (ทุกชีวิตต่างเชื่อมโยง พึ่งพาอาศัยกันและกัน) จะมีส่วนช่วยให้เรามีความสุขได้มากกว่าแค่ความฉลาดทางสติปัญญาในการหาเงินมาบริโภคไปวันๆ

(อ่านเพิ่มเติม วิทยากร เชียงกูล ปรัชญาชีวิต แง่คิดและคำปลอบโยน สนพ.แสงดาว 2562 www.saengdao.com)