ทางออกปัญหาที่ดินของรัฐ

ทางออกปัญหาที่ดินของรัฐ

จากปัญหาที่ดินหลากรูปแบบ หลายลักษณะ ตั้งแต่ปัญหาเกษตรกรที่ยากจน ไม่มีที่ดินทำกิน ต้องขอให้รัฐบาลจัดสรรที่ดินทำกินให้

ปัญหาชาวบ้านถูกจับกุมเพราะรุกที่ป่า การเข้าไปซื้อเอกสารสิทธิ ทั้งที่เป็นประเภท ที่ส.ป.ก. ภ.บ.ท.5 หรือการเข้าจับจองโดยตรงของนายทุน หรือแม้กระทั้งนายทุนต่างชาติเข้ามากว้านซื้อที่ดินเพื่อทำเกษตร โดยมีคนไทยเป็นนอมีนี

ขณะที่การปฏิรูปที่ดินในไทย เริ่มตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยปี 2516 กลุ่มชาวนา ชาวไร่ นัดรวมตัวชุมนุมกันหลายครั้งเพื่อเรียกร้องให้ รัฐบาลแก้ไขปัญหาไม่มีที่ดินทำกิน และการถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายทุน รัฐบาลในขณะนั้นก็ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมต่อ สนช. และประกาศใช้ พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยอาศัยรัฐธรรมนูญ ปี 2517 มาตรา 81 ความว่า ให้รัฐพึงส่งเสริม ให้เกษตรกรมีกรรมสิทธิ์และสิทธิในที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมอย่างทั่วถึง โดยการปฏิรูปที่ดินและ วิธีการอื่น ๆ

ความพยายามในการแก้ไขปัญหาของรัฐ คือ การจัดที่ดินให้แก่เกษตรกรและผู้ยากไร้ในรูปแบบต่างๆ เช่น การจัดที่ดินในรูปนิคมสหกรณ์และนิคมสร้างตนเองตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ ปี 2511 การจัดที่ดินตาม พ.ร.บ. การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม  ปี 2518 การจัดที่ดินในรูปแบบสิทธิทำกิน ตามพ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ ปี 2507 แต่ก็ปรากฎนายทุน นักธุรกิจ นักการเมืองบางกลุ่มที่ใช้ช่องว่างในการบริหารจัดการที่ดินของรัฐเข้าไปถือครอง

การดำเนินงานยังไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากกระบวนการพิสูจน์สิทธิ์เพื่อแก้ไขข้อพิพาทมีความล่าช้าและขาดประสิทธิภาพ ไม่มีพื้นที่รองรับประชาชน และชุมชนซึ่งจะเคลื่อนออกมาจากพื้นที่สงวนหวงห้าม รวมทั้งมีการต่อต้านและคัดค้านของประชาชน ขาดบุคลากร งบประมาณที่เพียงพอในการดำเนินงาน ขาดการบังคับใช้กฎหมายที่จริงจังและต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยการปฏิบัติหน้าที่ใช้อำนาจหน้าที่ในการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ

ดังนั้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหาสอดคล้องกับการปฏิรูปโครงสร้างการจัดการที่ดิน เจตนารมณ์ของกฎหมายและรัฐธรรมนูญ และคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนจนและเกษตรกรรายย่อย คดีที่พิพาทเรื่องที่ดิน การจัดการทรัพยากรที่เป็นคดีพิพาทที่อยู่ในชั้นพิจารณาของศาล ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบช่วยควรเหลือชาวบ้านที่ต้องต่อสู่คดีทั้งค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับศาล การประกันตัว ทนายความ และค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปมาศาลของชาวบ้าน รวมทั้งความสามารถเข้าถึงกองทุนยุติธรรม เพื่อการช่วยเหลือผู้ถูกคดี

การปฎิรูปกระบวนการยุติธรรม เพื่อส่งผลต่อความเป็นธรรมควรปรับปรุงประมวลกฎหมายที่ดิน ป่าไม้ให้มีเอกภาพ และวางหลักการของกฎหมายเพื่อให้เกิดความยุติธรรม จัดทำหลักเกณฑ์การกระจายอำนาจของการจัดการทรัพยากรและการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้เกิดความเป็นธรรมทางนิเวศควบคู่กับความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม จัดทำกฎหมายวิธีพิจารณาคดีที่ดินป่าไม้เพื่อให้การพิจารณาคดีมีมาตรฐาน เป็นกระบวนการยุติธรรมที่เข้าถึงงาน รวมเร็ว สะดวก ใช้วิธีพิจารณาคดีที่หลากหลาย การเดินเผชิญสืบ การนำระบบไต่สวน ที่ยึดโยงกับวิถีชีวิตวัฒนธรรมชุมชน มาประกอบการตัดสินคดี การเจรจาไกล่เกลี่ยโดยคนกลาง ตลอดจนให้มีการกลั่นกรองคดีในระดับชุมชนก่อนเข้าสู่กระบวนการุยติธรรมทางศาล

พัฒนาระบบการฟ้องคดีสาธารณะโดยให้ประชาชนสามารถฟ้องคดีได้ และรัฐฟ้องคดีอย่างมีประสิทธิภาพมาขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนหรือชุมชนตื่นตัวต่อการรักษาทรัพยากรธรรมชาติของส่วนรวมมากขึ้น

โดย...

กรกฎ ทองขะโชค

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ