ฤา.. กาลกลียุคเกิดขึ้นแล้ว.. ในสังคม !!

ฤา.. กาลกลียุคเกิดขึ้นแล้ว.. ในสังคม !!

ฤา.. กาลกลียุคเกิดขึ้นแล้ว.. ในสังคม !!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา มีสีลวเถรคาถาบทหนึ่งกล่าวว่า อาทิ สีลํ ปติฏฺ กลฺยาณานญฺ มาตุกํ แปลว่า  ศีลเป็นเบื้องต้น เป็นที่ตั้ง และเป็นบ่อเกิดแห่งความดีทั้งปวง

สังคมของสัตบุรุษจึงย่อมแสดงเชิงประจักษ์ด้วยการมีสีลสังวร รักษามารยาทในการพูด-ทำ ไม่ละเมิดความผิดแม้เล็ก น้อย ... ประโยชน์ตนและประโยชน์ในหมู่ชน สังคม จึงเกิดขึ้น ได้แก่ ความสงบสุข..

สิ่งสำคัญของผู้มีศีลอีกประการหนึ่ง คือ การเพียรรักษาจิตให้ดำรงอยู่ในการคิดนึกตรึกตรองในทางกุศล หรือ การคิดนึกในทางความดี ลดละวางการคิดนึกในทางอกุศล .. ไม่เพ่งโทษใคร อะไร ให้เสียจิตใจของตน จนกลายเป็น จิตอกุศล เพิ่มพูนอาสวะ อันเป็นอาหารของอวิชชาให้ไม่รู้จักจบสิ้น เมื่อ อวิชชาเกิดขึ้นมากเท่าไร .. การรู้เห็นผิดไปจากธรรมก็จะมากยิ่งเท่านั้น.. ก็จักนำไปสู่การเพิ่มโทษทุกข์ภัยมากยิ่งพันทวี ตอบแทนคืนกลับสู่จิตใจหรือชีวิตของสัตว์นั้นให้ต้องรับผล สมดังพุทธภาษิตที่ว่า

ปรวชฺชานุปสฺสิสฺสนิจฺจํ อชฺฌาน สญฺญิโน

อาสวา ตสฺส วฑฺฒนฺติอารา โส อาสวกฺขยา

แปลว่า  เมื่อบุคคลตามดูซึ่งโทษของผู้อื่น เป็นบุคคลมีความหมายจะยกโทษเป็นนิตย์

อาสวะทั้งหลาย ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้นั้น

บุคคลนั้นเป็นผู้ห่างไกลธรรมที่สิ้นอาสวะ

จากพระพุทธภาษิตดังกล่าว เน้นย้ำคำว่า อาสวะกิเลส ซึ่งเป็นกิเลสที่หมักดองจิต หรือ กิเลสที่หมักหมมจิต นอนเนื่องทับถมอยู่ในจิต ให้จิตเน่าเหม็น เศร้าหมอง ขุ่นมัว ชุ่มอยู่เสมอ จำแนกเป็น อย่าง ได้แก่ อวิชชาสวะ คือ ความไม่รู้ตามความเป็นจริง ที่เป็นธรรมดาในธรรมชาติ ให้ก่อเกิดความเห็นผิดไปจากความเป็นจริง ทิฏฐาสวะ .. จนก่อความกำเริบให้เข้าไปรักใคร่ชอบใจปรารถนาในสิ่งนั้น มีกามวัตถุเป็นต้น ให้เกิด กามาสวะที่จะนำไปสู่การเข้าไปยึดถือในสิ่งที่ชอบใจใคร่ปรารถนานั้น เรียกว่า ภวาสวะ

ภวาสวะ .. คือ ภพภายในจิตใจจึงก่อเกิดขึ้นในบัดนั้น เพื่อสร้างภพภายนอกตามพฤติจิตที่เป็นไปตามลักษณะของอาสวะนั้น ไม่ว่าจะเป็น กามภพ รูปภพ อรูปภพ ที่สำเร็จด้วย กามาวจรจิต

รูปาวจรจิต อรูปาวจรจิต...

จิตเป็นประเภททุกขสัจจะ อาสวะส่วนหนึ่งเป็นสมุทัยสัจจะ .. ความเป็นไปของทุกข์ในชีวิตจึงมีอาสวะเป็นมูลเหตุโดยประการทั้งปวง โดยอาสวะนั้นอาศัยจิตเกิดขึ้นชั่วคราว เมื่อจิตดับไป อาสวะย่อมดับไปเป็นธรรมดา .. ซึ่งอาสวะที่เกิดขึ้นบ่อย เพื่อประกอบจิตนั้น ย่อมมีเหตุมาจากการเพ่งโทษ..

การเพ่งโทษที่เกิดขึ้นมากในสังคมปัจจุบัน จนนำพาหมู่ชนไปสู่ความวุ่นวาย ไร้ความสงบนั้น ย่อมมีมูลมาจากคนในสังคมมีอคตินิยม .. ไม่ดำรงอยู่ในศีล ขาดการเจริญสติ ไร้ความรู้ชอบถูกตรงตามธรรม สูญเสียคติธรรม นำไปสู่จิตเพ่งโทษให้เบียดเบียนกันและกัน จนเป็นสภาพสังคมที่ไร้ศีลธรรม อันหาความร่มเย็นเป็นสุขมิได้เลย

ดังนั้น ในพระพุทธศาสนาจึงมีคำสั่งสอนให้ใช้หลักธรรม 5 ประการ ก่อนจะเพ่งโทษใคร ด้วย

1. ตั้งในใจว่า จักกล่าวโดยกาลควร

2. ตั้งในใจว่า จักไม่กล่าวด้วยคำไม่จริง

3. ตั้งในใจว่า จักไม่กล่าวด้วยคำหยาบ

4. ตั้งในใจว่า จักไม่กล่าวด้วยคำอันไม่ประกอบด้วยประโยชน์

5. ตั้งในใจว่า จักไม่กล่าวด้วยมีโทสะในภายใน

..ซึ่งผู้ที่จะปฏิบัติตามหลักธรรม 5 ประการดังกล่าวได้ จักต้องเข้าใจในโทษภัยอันเกิดจาก

อาสวะ ที่เราสามารถกำจัดให้สิ้นไปได้ด้วยการมีสติ.. หรือเจริญสติปัฏฐาน หมายถึง การประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม ดังมีความเชื่อมั่นว่า “ธรรมแล .. ย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม

วันนี้ของสังคมไทย .. ที่เคยอ้างอิงพุทธธรรม ประชาคมเคยประกอบตนอยู่ด้วยศีลธรรม .. ได้เกิดความพลิกผันอย่างรุนแรง ให้เห็นความไร้ศีลธรรม .. ขาดหลักพุทธธรรมในการดำรง .. และการดำเนินไปของชีวิต.. จึงก่อเหตุให้เกิดความผิดปกติขึ้นในสังคม มีการเพ่งโทษ กล่าวโทษ ใส่ร้าย .. ใส่ความเท็จ ให้ซึ่งกันและกัน อย่างไร้สารประโยชน์กันมากมาย จนออกอาการสูญเสียความยั้งคิด .. ความยั้งทำ อย่างที่บรรพชนเคยถือปฏิบัติกันมา ซึ่งนั่นหมายถึง การปฏิเสธหลักสังคหวัตถุธรรม ที่เคยก่อสังคมรูปอารยธรรมให้สิ้นไปอย่างสิ้นเชิง ดังที่ปรากฏ .. มีการถือข้างแบ่งพวก สาดทุพภาสิตใส่กันและกัน ใช้วาจาดุจเป็นอาวุธประหัตประหารกันอย่างไร้มนุษยธรรม ให้เห็นถึงปรากฏการณ์กลียุคที่เกิดขึ้นแล้วจริงในสังคม ... อนิจจัง !!

เจริญพร