ไวรัสโคโรนา อาจไม่ใช่สิ่งที่ฆ่าคุณ
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) หรือเชื้อไวรัสโคโรนา ที่ทวีความรุนแรงขึ้นในทุกขณะ
ก็กลายเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงภัยของชีวิตในปัจจุบันนี้ไปแล้ว ณ ขณะที่ผมเขียนบทความนี้ ทั่วโลกรายงานมีผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 75,000 ราย และเพิ่มขึ้นอยู่เป็นระยะ ในขณะที่ภายในประเทศไทย ก็พบว่ามีผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 35 ราย และยังมีผู้ป่วยเฝ้าระวังอีกนับหลายร้อยราย
แม้ว่าจะมีการรักษาผู้ติดเชื้อ จนแพทย์อนุญาตให้สามารถกลับบ้านได้แล้วบางส่วน แต่ก็ยังมีอีกจำนวนมากที่ยังต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อดูแลอาการอย่างต่อเนื่อง ถ้ามองในอีกแง่มุมหนึ่ง ก็นับเป็นความเสียหายในเชิงเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน นอกเหนือจากผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระดับมหภาค ที่ทำให้ภาวะการท่องเที่ยวต้องชะลอตัวลงไปบ้างแล้ว จากความกังวลเรื่องความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ จนทำให้การออกมาจับจ่ายใช้สอยนอกบ้านหรือในย่านที่มีคนพลุกพล่านก็พลอยจะน้อยลงไปด้วย มิหนำซ้ำ หากโชคร้าย ติดเชื้อไวรัสนี้ขึ้นมา ก็อาจจะทำให้ไม่สามารถออกไปทำงานหารายได้ แถมยังต้องมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลด้วยอีกเช่นกัน
จากความเสี่ยงในเรื่องนี้ ถ้าพิจาณาในแง่ของการสร้างความคุ้มครองปกป้องชีวิตและสุขภาพของเราเองนั้น ก็อาจจะพิจารณาได้เป็นสองแนวทาง ลำดับแรก ก็คือในแง่ของการป้องกันเชิงรุก (Active Protection) หรือการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อไวรัส ซึ่งแนวทางวิธีป้องกันความเสี่ยงในการติดเชื้อ ก็คือการหมั่นล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจลล้างมือเพื่อฆ่าเชื้อ สวมใส่หน้ากากอนามัยไว้เสมอเมื่อต้องออกจากบ้านหรือเดินทางไปสู่พื้นที่ที่มีคนพลุกพล่าน รวมถึงไม่นำมือมาสัมผัสตา จมูก ปาก โดยไม่จำเป็น และไม่ลืมทำความสะอาดอุปกรณ์รอบตัวที่เราต้องหยิบจับเป็นประจำด้วย นอกจากนี้ ก็ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการ หรือหากมีอาการเจ็บป่วยที่น่าสงสัย ก็ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อตรวจเช็คอาการ
ในลำดับถัดมา ก็คือการเตรียมความพร้อมในแง่ของการป้องกันเชิงรับ (Passive Protection) หรือการเตรียมความพร้อมในวันที่หากติดเชื้อไวรัสนี้ขึ้นมา ในส่วนนี้ การประกันภัยก็จะเข้ามามีบทบาทด้วยเช่นกัน เพราะนอกจากการที่เราจะต้องมีเงินสำรองฉุกเฉินไว้อยู่แล้วบ้าง แต่การประกันภัย ก็ถือเป็นหนึ่งในวิธีการโอนย้ายความเสี่ยงที่เราจะต้องรับมือกับค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดฝัน ที่เกิดมาจากเชื้อไวรัสนี้ ไปให้กับบริษัทประกันภัยช่วยรับมือแทน ดังนั้น การคิดและวางแผนการสร้างความคุ้มครองต่าง ๆ ให้ครอบคลุมกับความเสี่ยงภัย ก็อาจจะต้องพิจารณาให้เข้มข้นขึ้นกว่าเดิมที่เคยทำกันอีกสักเล็กน้อย
ซึ่งการคิดและวางแผนรับมือกับความเสี่ยงภัยจากโรคนี้ ก็จะมีผลิตภัณฑ์ประกันประเภทต่าง ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง อันดับแรกที่น่าจะเกี่ยวข้องมากที่สุด ก็คือประกันสุขภาพ ที่จะต้องคำนึงถึงความคุ้มครองค่าใช้จ่ายในกรณีที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล และการรักษาต่อเนื่องระยะยาวทั้งในและนอกโรงพยาบาลที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงค่าชดเชยการเสียโอกาสต่าง ๆ ที่อาจจะเกี่ยวข้อง อันเนื่องมาจากการสูญเสียโอกาสในการออกไปทำงานหารายได้ ว่าสำหรับความคุ้มครองในส่วนนี้ เรามีการเตรียมความพร้อมไว้มากน้อยแค่ไหน เพียงพอหรือไม่ต่อ รวมถึงการพิจารณาควบคู่ไปกับสวัสดิการต่าง ๆ ที่อาจจะได้รับมาเพิ่มเติม เช่น ประกันสุขภาพกลุ่ม หรือประกันสังคมที่คุ้มครองการรักษาตามโรงพยาบาลที่ได้ลงทะเบียนไว้
ทั้งนี้ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ก็ได้ออกมาชี้แจงเพื่อสร้างความมั่นใจไว้แล้วว่า กรมธรรม์ประกันสุขภาพจากบริษัทประกันภัย และสิทธิประโยชน์กรณีเจ็บป่วยของประกันสังคมนั้น ให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลตามจำนวนเงินผลประโยชน์ที่กำหนดไว้ รวมถึงในกรณีเจ็บป่วยด้วยโรคจากไวรัสนี้ด้วย นอกจากนั้น ในปัจจุบันนี้ ก็เริ่มมีประกันสุขภาพที่ออกแบบมาใหม่จากหลากหลายบริษัทประกันภัย เพื่อสร้างความคุ้มครองเฉพาะด้าน เช่น ค่าชดเชยจากกรณีที่ติดเชื้อไวรัสนี้โดยเฉพาะ หรือกรณีเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ในฐานะผู้ป่วยในจากการติดเชื้อโรคไวรัส ด้วยเช่นกัน
นอกจากนั้น ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต ก็ยังเข้ามีบทบาทในแง่ของการที่เราจะต้องพิจารณาถึงภาระทางการเงินต่าง ๆ ที่อาจตกไปถึงคนข้างหลังหากเราต้องจากไปก่อน รวมถึงรายได้ที่ขาดหายไปของครอบครัว และค่าใช้จ่ายที่อาจจะเกิดขึ้นในกรณีที่เราจากไป เพราะโอกาสที่จะเสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสนี้ก็มีอยู่ไม่น้อย จากสถิติล่าสุดของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของจีน (CCDC) นั้นพบว่า อัตราการเสียชีวิตโดยเฉลี่ยของผู้ที่ติดเชื้ออยู่ที่ประมาณ 2.3% และจะสูงขึ้นอีกตามอายุที่มากขึ้น ดังนั้น การเตรียมความพร้อมกับการรับมือไว้เสมอ จึงยังเป็นเรื่องที่สำคัญและควรจะต้องทำและพิจารณาปรับปรุงอยู่ตลอด ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงเวลาปกติ หรือในช่วงเวลาที่ชีวิตเรามีความเสี่ยงเพิ่มจากไวรัสตัวใหม่นี้ก็ตาม
เนื่องจากการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลต่าง ๆ ที่ปัจจุบันก็มีค่าใช้จ่ายที่สูง เพราะเพียงค่าใช้จ่ายในการตรวจหาเชื้อไวรัสในโรงพยาบาลรัฐก็เริ่มต้นที่หลักหมื่นบาทแล้ว และอาจสูงขึ้นอีกหากตรวจในโรงพยาบาลเอกชน หากต้องการการบริการด้านการแพทย์ที่ดีขึ้น หรือความมั่นใจที่มากขึ้นในการรับบริการทางการแพทย์ รวมถึงความไม่แน่นอนของระยะเวลาที่ต้องเข้าพักรักษาในโรงพยาบาล และความยากในการรักษาอาการอันเนื่องมาจากไวรัสชนิดใหม่นี้ ที่ยังต้องการการพัฒนายาต้านไวรัสและวิธีการรับมือกับอาการจากการติดเชื้อไวรัสนี้ให้อยู่หมัดกันอีกพอสมควร ซึ่งแน่นอนว่าอาจส่งผลให้ค่าใช้จ่ายเหล่านี้เป็นสิ่งที่ยังยากจะคาดคะเน เพราะฉะนั้น นอกเหนือจากการป้องกันและรับมือในเชิงรุกที่ควรต้องทำอยู่แล้ว การป้องกันและรับมือในเชิงรับก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ทุกคนต้องคำนึงถึงเป็นอย่างยิ่ง และต้องทำอย่างเหมาะสมและพอดีกับกำลังทรัพย์และฐานะทางการเงินของเราด้วยเช่นกัน
เพราะในความเป็นจริง ไวรัสโคโรนา อาจไม่ใช่สิ่งที่ฆ่าคุณ แต่อาจจะเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลแทนก็เป็นได้
เนื่องจากในปี 2020 นี้ หลายสำนักคาดการณ์และให้ความเห็นตรงกันว่าเศรษฐกิจอาจจะเข้าสู่ช่วงการชะลอตัว-จนถึงถดถอยทั่วโลก ผม ดร.เรือบิน จึงร่วมกับคุณไอซ์ กษิดิศ สุวรรณอำไพ นักวางแผนการเงิน CFP® และ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิจัยและพัฒนา บจก. ทีคิวแอลดี ในบทความซีรีย์ “รัดเข็มขัด ขจัดความเสี่ยง” ที่จะเน้นไปทางด้านการดูแลเรื่องการเงิน ทั้งส่วนบุคคลและธุรกิจของพวกเรา บนพื้นฐานของความสมดุลระหว่างความเสี่ยงและผลตอบแทนในระดับที่เหมาะสม เพื่อให้พวกเราสามารถก้าวผ่านภาวะเศรษฐกิจในช่วงนี้ไปด้วยกันนะครับ