สร้าง “นโยบายเมืองปลอดภัย” ด้วย Policy Lab
ความปลอดภัยเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ ภายใต้ความไม่ปลอดภัยของประชาชนที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองในมิติต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์วิกฤติ
เรื่อง COVID-19 ในปัจจุบันรวมไปถึงความปลอดภัยจากปัญหาอาชญากรรม อุบัติเหตุ ฝุ่น PM.2.5 เหตุกราดยิง ก่อการร้าย ประเด็นวาระเรื่อง “เมืองปลอดภัย” หรือ Safe City สำหรับประชาชนจึงกลายเป็นประเด็นที่สำคัญในอันดับต้นๆ ในวาระเชิงนโยบาย
เพราะเมืองมีชีวิต คนกับเมืองต้องอยู่ร่วมกัน ดังนั้นการออกแบบเมืองปลอดภัย จึงไม่ใช่แค่เพียงการออกแบบสิ่งก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น หากแต่เป็นการออกแบบเชิงระบบเพื่อให้คนทุกคนในสังคม แม้แต่คนที่เปราะบางที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็ก หรือผู้หญิงเพียงลำพัง
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา(13 มี.ค.)สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และมูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation:TFF) ได้ร่วมกันเปิดตัว“โครงการออกแบบกระบวนการและสนับสนุนการจัดทำต้นแบบนโยบายเมืองปลอดภัย”
โดยมีสถาบันอนาคตไทยศึกษา ให้การสนับสนุนทางวิชาการและรันกระบวนการ PolicyLab หรือห้องปฏิบัติการเชิงนโยบาย สร้างนโยบายเมืองปลอดภัยร่วมกัน(co-creation) นำไปสู่การขับเคลื่อนร่วมกันในอนาคต เพื่อค้นคิดว่านโยบายแบบไหนหรือยุทธศาสตร์แบบใดจะตอบรับกับอนาคตในรูปแบบใหม่ได้ตลอดจนการพัฒนาและทดลองนวัตกรรมเชิงนโยบายใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนไปเพื่อตอบโจทย์โลกที่เต็มไปด้วยความผันผวน (VUCA World) ซึ่งวิกฤตการณ์ COVID-19 ก็เป็นตัวอย่างเชิงประจักษ์ที่ชัดเจน
โครงการนี้จะอาศัยกลไก Thailand Innovation Policy Accelerator (TIPA) ของสอวช. ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มใหม่ที่น่าจะสนใจและเป็นความหวังในการพัฒนานโยบายและข้อริเริ่มใหม่แบบมีส่วนร่วม (Co-creation platform)ให้เกิดผล นำไปสู่การขับเคลื่อนได้อย่างรวดเร็วขึ้น สามารถนำไปสู่การทดสอบต้นแบบนโยบายก่อนผ่าน“กระบะทรายเชิงนโยบาย” (Policy Sandbox) เพื่อพัฒนาเมืองปลอดภัยของประเทศไทยให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
สำหรับการจัดทำต้นแบบเมืองปลอดภัยในครั้งนี้จะใช้กระบวนการ DoubleDiamond Model หรือ 4D เป็นหลัก ได้แก่
1.Diagnosis การค้นหาและวินิจฉัยโจทย์เชิงนโยบายโดยการระดมสมองถึงความหวังและความกลัว (Hope and Fear) ในประเด็นนโยบายต่างๆ รวมถึงร่วมกันคิดถึงภูมิทัศน์ทางนโยบาย (Policy Landscape) ซึ่งได้แก่ คน ระบบและบริบทของเรื่อง เพื่อให้ทราบชัดเจนว่าประชาชนเป้าหมายคือกลุ่มใด หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (Stakeholder) ผู้ได้รับประโยชน์ ผู้ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง รวมถึงระบบความสัมพันธ์ กฎหมาย กฎระเบียบ และบริบทที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างนวัตกรรมเชิงนโยบายในอนาคต
2.Discovery การทำความเข้าใจประชาชนอย่างลึกซึ้งโดยการ “Zoom Out” มีขึ้นเพื่อการค้นหามุมมองเชิงลึก (Insight) จากภาพเชิงระบบของประเด็นเชิงนโยบาย Safe City ที่ศึกษาและให้ความสนใจจะค้นหานวัตกรรมเชิงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหา หลังจากนั้น เข้าสู่กระบวนการ Zoom In เพื่อค้นหามุมมองเชิงลึกจากประชาชน กระบวนการนี้คล้ายคลึงกับการคิดเชิงออกแบบ(Design Thinking) ที่ผู้ออกแบบนโยบายควรจะต้องรับฟังประชาชนอย่างลึกซึ้ง และจัดทำแผนที่ความเข้าใจประชาชน (Citizen Empathy Map) และลงพื้นที่ไปสัมภาษณ์และสังเกตพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่จริง
3.Development การสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ หรือ Ideation เป็นการพัฒนานโยบาย (Development) เพื่อสร้างไอเดียจะทำงานร่วมกันของประชาชนและผู้เชี่ยวชาญ โดยมีเป้าหมายเพื่อระดมไอเดียแก้ไขปัญหาและพัฒนาไอเดียต่างๆ จนไปสู่การคัดเลือกไอเดียที่ควรนำไปพัฒนาต่อและลงรายละเอียดเพื่อจัดทำต้นแบบนวัตกรรมนโยบายต่อไป
4.Delivery การสร้างต้นแบบนวัตกรรมเชิงนโยบาย และการทดสอบกับประชาชนและสื่อสารนโยบายเป็นขั้นตอนก่อนการออกนโยบายจริง โดยมีการจัดทำต้นแบบ (prototyping) และทดลองทดสอบกับประชาชน สร้างประสบการณ์จริง(Experience prototyping) นำผลตอบรับมาปรับปรุงนโยบายหรือบริการก่อนที่จะสร้างนโยบายที่แท้จริง ขั้นตอนสุดท้าย ปรับปรุงต้นแบบนโยบายและการนำเสนอให้กระชับ ตรงประเด็น รวมถึงให้ออกแบบกลไกการขับเคลื่อนในอนาคต เพื่อให้ค้นหาช่องทางในการผลักดันให้ต้นแบบนโยบายมีการนำไปขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นจริง
กระบวนการดังกล่าวได้มีการใช้งานใน Policy Lab ของสหราชอาณาจักร รวมถึงสถาบันอนาคตไทยศึกษา ได้นำมาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทยในกระบวนการจัดทำ Policy Lab และ Government Innovation Lab ที่ผ่านมาหลายครั้ง
สถาบันอนาคตไทยศึกษา ขอขอบคุณสวอช. ตร.และทุกหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการเพื่อสร้างนโยบายเมืองปลอดภัยที่ปลอดภัยสำหรับประชาชนทุกคนในเมืองอนาคต
โดย...
ธราธร รัตนนฤมิตศร
ประกาย ธีระวัฒนากุล
สถาบันอนาคตไทยศึกษา
Facebook.com/thailandfuturefoundation