COVID-19: ศึกนี้ยาวนาน

COVID-19: ศึกนี้ยาวนาน

ในช่วงเริ่มต้นของการระบาดของ COVID-19 ความผิดพลาดที่สำคัญของนักวิเคราะห์หลายสำนักก็คือ มองว่า การระบาดจะเป็นเรื่องระยะสั้น

และเป็นเรื่องเฉพาะของจีน

ส่วนใหญ่มักเปรียบเทียบกับการระบาดของโรค SARS เมื่อค.ศ. 2003 ซึ่งตอนนั้นจีนใช้เวลาไม่นานก็สามารถควบคุมการระบาดได้ และไม่ได้แพร่กระจายไปในตะวันตก หลายคนเปรียบเทียบผลกระทบทางเศรษฐกิจครั้งนี้ว่าจะคล้ายๆ ตอนนั้น เพียงแต่มักทิ้งท้ายว่า ครั้งนี้อาจหนักหนากว่านั้น เพราะเศรษฐกิจจีนตอนนี้ขึ้นมาเป็นเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก และมีบทบาทเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกอย่างมาก

แต่นั่นเป็นการประเมินที่วันนี้เห็นแล้วว่าประเมินต่ำเกินไป ตอนนี้ชัดเจนแล้วว่า การระบาดไม่ใช่เฉพาะที่จีน แต่ลุกลามอย่างน่าสะพรึงกลัวในเอเชีย ยุโรป และสหรัฐ โดยที่สหรัฐมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 1 และสหภาพยุโรปโดยรวมก็เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่สำคัญยิ่ง ตอนนี้จึงเกิด “โรคกลับขั้ว” คือจากที่จีนเริ่มควบคุมการระบาดได้ แต่การระบาดได้ลามไปในยุโรปและสหรัฐ ผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อโลกรอบนี้จึงหนักหนาสาหัสอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์

ยังมีหลายคนพยายามมองโลกในแง่ดีว่า จีนใช้มาตรการเข้มงวดประมาณ 1 เดือน ก็สามารถควบคุมการระบาดได้ ดังนั้น ประเทศต่างๆ ก็น่าจะสามารถทำได้เช่นกัน ดังจะเห็นการพูดกันในไทยว่า ขอให้อดทนกับมาตรการที่เข้มงวดในช่วงนี้ เพื่อจะให้ “จบเร็ว”

แต่ประเด็นคือ ศึกครั้งนี้ไม่มีทางจบเร็วครับ เราต้องเริ่มวางแผนที่จะรับศึกในระยะยาว ดังที่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต ท่านได้เปรียบเทียบอย่างคมคายว่า นี่จะเป็นการวิ่งมาราธอน ท่านนายกสิงคโปร์และท่านประธานาธิบดีเยอรมันนีก็บอกประชาชนของท่านแล้วว่า สถานการณ์การระบาดอาจอยู่ถึง 2ปี!!

หลายคนย้อนถามว่า แต่สถานการณ์ในจีนควบคุมได้ในเวลาอันสั้นไม่ใช่หรือ คำตอบคือ ใช่ครับ จีนสามารถควบคุมการระบาดได้ และแทบจะไม่มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในช่วงหลายวันที่ผ่านมา แต่อย่าเข้าใจผิดนะครับว่า ชีวิตผู้คนในจีนกลับมาเป็นปกติแล้ว

ใช่ครับ วันนี้บริษัทห้างร้าน ธุรกิจของจีนเริ่มกลับมาทำมาค้าขายกันอีกครั้ง ทุกอย่างเหมือนเริ่มเดินเครื่องใหม่ แต่มาตรการการป้องกันการระบาดยังคงเข้มงวด ผู้คนเมื่อออกจากบ้านอยู่ในพื้นที่สาธารณะต้องสวมหน้ากากอนามัย มีการรักษาระยะห่างทางสังคม ยังคงมีการติดตามและต้องรายงานสุขภาพของแต่ละคนผ่าน App ของทางการ มีการแบ่งกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มผู้ติดเชื้อ และแบ่งพื้นที่เสี่ยงชัดเจน

การเดินทางเข้าจีนจากต่างประเทศ ก็ไม่ใช่ว่าจะกลับมาเป็นปกตินะครับ ในวันนี้ หากท่านใดเดินทางจากต่างประเทศเข้าปักกิ่ง ท่านจะต้องกักตัวเอง 14 วัน และต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการกักตัวและมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดครับ เพราะจีนกลัวการระบาดระลอกสอง และมองว่าตอนนี้ความเสี่ยงมาจากผู้ติดเชื้อจากภายนอกที่เดินทางเข้ามาในจีน

วันนี้ สถานการณ์ในไทยกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ พวกเราทุกคนต้องร่วมแรงร่วมใจกัน ไม่ให้ไทยซ้ำรอยอู่ฮั่นและอิตาลี ซึ่งระบาดหนักจนเกิดการสูญเสียมหาศาล เพราะฉะนั้น ในขณะที่กราฟผู้ติดเชื้อของเรากำลังเป็นขาขึ้นและขึ้นอย่างชันมาก จึงจำเป็นที่รัฐบาลต้องใช้มาตรการยาแรง ปิดห้าง ปิดเมือง ปิดประเทศ และเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของพวกเราทุกคนต้องช่วยกัน “อยู่บ้าน ลดเชื้อ เพื่อชาติ” ในช่วงคับขันนี้

แต่ใครอย่าเผลอคิดว่าอดทนสัก 2-3 สัปดาห์แล้วชีวิตจะกลับมาเป็นปกติ เพราะหากเป็นเช่นนั้น เราก็จะมีการระบาดหนักระลอก 2และระลอกต่อๆ ไปได้ไม่สิ้นสุดหากเรายังไม่มีมาตรการจำกัดการเดินทางหรือการกักตัวผู้เดินทางเข้าอย่างมีประสิทธิภาพ สุดท้ายก็จะกลับมาระบาดอีกอยู่ดี เพราะมีความเป็นไปได้สูงที่ยังจะเกิดการระบาดต่อเนื่องอีกในหลายประเทศ เพราะเชื้อไวรัสตัวนี้มีพลังในการแพร่กระจายที่รวดเร็วมาก

ในวันนี้ ด่านแรกคือพวกเรารวมพลังกันไม่ให้การระบาดในไทยหนักจนรับมือไม่ไหวอย่างในอู่ฮั่นและอิตาลี แต่พอผ่านด่านนี้แล้ว เราต้องทำใจยอมรับความจริง 3 ข้อ

1.เราจะต้องปรับตัวอย่างมากมายในเรื่องแนวทางการใช้ชีวิต การระวังรักษาระยะห่างทางสังคม การระวังสุขอนามัย การทำความสะอาดพื้นที่สาธารณะ เรายังคงไม่สามารถจะกลับไปปฏิบัติตนแบบในสมัยก่อนการระบาดได้อีก

2.เราต้องกลับมาเริ่มทำงาน เริ่มทำมาค้าขาย ถึงแม้การระบาดของไวรัสจะยังไม่หมดไป เพราะเราคงไม่สามารถปิดบ้าน ปิดเมือง ปิดประเทศไปได้ตลอด และขืนทำเช่นนั้นในระยะยาว ถึงเราไม่ตายด้วยโรค ก็คงอดตายแทนแน่ เพราะฉะนั้นคำถามสำคัญก็คือ เราจะกลับมาทำงาน ค้าขายได้อย่างไร เมื่อไวรัสยังคงระบาด

Paul Romer นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล เพิ่งให้คำตอบที่แหลมคมมาก กุญแจสำคัญที่เขาพูดถึงไม่ใช่นโยบายเศรษฐกิจ แต่เป็นนโยบายสาธารณสุข นั่นก็คือ จะต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยีการตรวจเชื้อที่รวดเร็ว ต้นทุนถูก และตรวจได้จำนวนมาก

นี่คือสิ่งที่ได้เกิดขึ้นในเกาหลีใต้และในจีน และกลายเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดในวงนโยบายของสหรัฐอเมริกาตอนนี้

การตรวจอย่างแพร่หลาย ไม่เพียงจะช่วยให้การรักษาผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงทีเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์มหาศาลกับการป้องกันการระบาด เพราะคนที่ไม่แน่ใจก็จะรีบเข้าตรวจ คนที่ตรวจพบ (แม้จะยังไม่มีอาการ) ก็จะได้รีบกักตัวเอง และที่สำคัญที่สุด คือจะทำให้คนเริ่มมีความมั่นใจว่า เราสามารถแยกกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มผู้ติดเชื้อออกไปได้ ไม่ใช่หวาดระแวงว่าเราไม่รู้ใครติดเชื้อไม่ติดเชื้อ จนต้องแนะนำให้ทุกคนอย่าออกจากบ้านดีที่สุด หากเป็นเช่นนั้น เศรษฐกิจก็ไม่มีทางกลับมาเดินเครื่องเสียที

3.เราจะต้องพึ่งพาเศรษฐกิจภายใน เพราะในระยะยาวอย่างน้อย 1 ปี ต่อจากนี้ การเดินทางระหว่างประเทศจะลดลงมหาศาล เพราะฉะนั้น เราตัดใจไปได้เลยว่าการท่องเที่ยวจะกลับมา แต่จะต้องคิดใหม่ว่าจะกระตุ้นการบริโภค การจับจ่ายใช้สอย การลงทุนภายในประเทศอย่างไร สุดท้ายก็กลับมาที่พลังของการสื่อสารและสร้างความมั่นใจจากภาครัฐว่าสถานการณ์การระบาดภายในประเทศนั้นควบคุมได้ และสามารถแยกกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มผู้ติดเชื้อออกจากสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนกลุ่มที่เหลือก็เริ่มกลับมาทำธุรกิจและทำมาค้าขายดังเดิม

เราต้องเริ่มตั้งโจทย์ทางนโยบายให้ถูกต้องครับ โดยต้องยอมรับว่าโรคนี้จะอยู่กับเรานาน และไม่มีทางจะ “จบเร็ว” การเปรียบเทียบที่ถูกต้องไม่ใช่การเปรียบเทียบกับโรค SARS เมื่อค.ศ. 2003ซึ่งตอนนั้นระบาดไม่กี่เดือน แต่คือการเปรียบเทียบกับการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สเปนเมื่อ 100 ปี ที่แล้ว ซึ่งในสมัยนั้น การระบาดยาวนานเป็นเวลา 1 ปี 8 เดือน ครับ