สังคมไทยกับความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย

สังคมไทยกับความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย

ในฐานะผู้สอนวิชากฎหมาย เมื่อได้ยินคำกล่าวที่ว่า “ประเทศไทยนั้นอะไรก็กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ มีอยู่อย่างเดียวที่ไม่ศักดิ์สิทธิ์คือกฎหมาย”

ผู้เขียนก็รู้สึกเจ็บปวดระคนเศร้าใจ และได้แต่ครุ่นคิดว่าเหตุใดสังคมไทยจึงรู้สึกว่ากฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์หากจะตั้งข้อสมมุติฐานว่าสิ่งใดที่ผู้คนศรัทธาให้ความเคารพสิ่งนั้นย่อมมีความศักดิ์สิทธิ์ การที่สังคมรู้สึกว่ากฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ก็น่าจะมีเหตุมาจากการที่คนในสังคมไม่ศรัทธาไม่เคารพและไม่ปฏิบัติตามกฎหมายนั่นเอง

เมื่อพิจารณาต่อไปว่าปัจจัยใดบ้างที่มีผลทำให้คนในสังคมไม่เคารพและไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ผู้เขียนสรุปว่าเกิดขึ้นจากปัจจัย 2 ประการด้วยกัน กล่าวคือ ปัจจัยที่เกิดจากสภาพการณ์แข่งขันในสังคม และปัจจัยอันเนื่องมาจากการบังคับใช้กฎหมาย

ในประการแรก จากสภาพสังคมไทยในปัจจุบันที่มีการแข่งขันกันอย่างสูงในแทบจะทุกๆ เรื่อง ทำให้ผู้คนในสังคมเห็นประโยชน์ของตนเป็นที่ตั้ง เกิดพฤติกรรมมือใครยาวสาวได้สาวเอาบ่อยครั้งที่มีการเลี่ยงกฎหมายในบางเรื่องเพื่อให้ตนเองได้เปรียบผู้อื่น โดยผู้กระทำไม่ต้องรับผิดหรือไม่ได้รับผลร้ายจากการกระทำของตนจนสังคมรู้สึกว่าคนเลี่ยงกฎหมายได้ประโยชน์โดยไม่มีผลกระทบใด ๆ แต่คนที่ปฏิบัติตามกฎหมายกลับต้องเสียเปรียบ คนในสังคมย่อมจะเกิดความชาชินและเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมาย และนั่นย่อมกระทบต่อความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายโดยตรง

ผู้เขียนขอยกตัวอย่างกฎหมายจราจรซึ่งเป็นกฎหมายที่มีขึ้นเพื่อสร้างความปลอดภัยร่วมกันของสังคมในการใช้รถใช้ถนน แต่พฤติกรรมอันตรายต่างๆ เช่นการขับรถเร็ว การขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้อื่น หรือการฝ่าฝืนกฎหมายด้วยการจอดรถในที่ห้ามจอด การจอดรถซ้อนคัน ฯลฯ ก็ยังคงสามารถพบเห็นได้จนดูเป็นเรื่องธรรมดา เช่นนี้ ผู้กระทำก็อาจไม่รู้สึกว่าตนกำลังทำผิดอะไรเลย ในขณะที่ผู้พบเห็นต่างก็ชาชิน ในแง่นี้การฝ่าฝืนกฎหมายก็ดูเหมือนจะกลายเป็นประเพณีที่ยอมรับกันอยู่โดยทั่วไปและทำให้เจตนารมณ์ของกฎหมายจราจรกลายเป็นหมันไป

เมื่อพิจารณาในทางทัณฑวิทยา บทบัญญัติของกฎหมายที่มีบทลงโทษนั้นมีวัตถุประสงค์หลักประการหนึ่งก็คือเพื่อเป็นการยับยั้งการกระทำความผิด (deterrence) โดยตั้งอยู่บนการคำนึงถึงธรรมชาติของมนุษย์ที่ปรารถนาจะได้รับความสุขสบายและหลีกเลี่ยงความทุกข์ทรมาน ดังนี้ หากผู้กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายมิได้รับผลร้ายใดๆ แต่กลับได้ความสะดวกสบายและผลประโยชน์ ก็จะทำให้เขาไม่ได้รับบทเรียนและย่อมกระทำผิดอีกในอนาคต ในขณะเดียวกันบุคคลอื่นๆ ในสังคมก็ย่อมเห็นตัวอย่างนั้นและเกิดพฤติกรรมเอาอย่าง ซึ่งย่อมทำให้โทษในกฎหมายกลายเป็นสิ่งที่ปราศจากผลในทางปฏิบัติ และกระทบต่อความเคารพนับถือกฎหมายในท้ายที่สุด

ปัจจัยที่มีผลต่อความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายอีกประการหนึ่ง คือการขาดการบังคับใช้กฎหมายอย่างสม่ำเสมอและเท่าเทียมกัน ดังมีกรณีตัวอย่างที่ทำให้สังคมตั้งคำถามเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติในการบังคับใช้กฎหมายให้เห็นอยู่บ่อยครั้งจนคนในสังคมขาดความเชื่อมั่นในเรื่องความเท่าเทียมกันในการบังคับใช้กฎหมายซึ่งมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ปัญหานี้มีสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจากระบบอุปถัมภ์ (patronage system) ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยอยู่แต่เดิม และกำลังมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบความสัมพันธ์เชิงผลประโยชน์โดยไม่ต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ทางสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน

เพื่อหาทางออกของปัญหาความไม่ศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย สังคมต้องร่วมกันสร้างกลไกให้ผู้ที่รับผิดชอบต่อส่วนรวมโดยปฏิบัติตามกฎหมายได้รับความคุ้มครอง ส่วนผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายจะต้องได้รับผลร้ายจากการบังคับใช้กฎหมายอย่างแน่นอนและในระยะเวลาที่รวดเร็ว โดยสังคมต้องส่งเสริมปัจจัยที่ทำให้คนเกิดความศรัทธาต่อกฎหมายขึ้นในสังคม กล่าวคือ

1.ในกระบวนการบัญญัติกฎหมาย ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นและเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนได้มีส่วนร่วมอย่างจริงจังและสม่ำเสมอในปัจจุบันมีการตราพ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ซึ่งออกตามความในมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน กำหนดให้ก่อนตรากฎหมายทุกฉบับจะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้เกี่ยวข้องเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดังนั้น หากมีการดำเนินการในกระบวนการเหล่านี้อย่างจริงจังย่อมทำให้กฎหมายที่เกิดขึ้นนั้นได้รับการยอมรับจากประชาชน ซึ่งจะส่งผลต่อการปฏิบัติตามกฎหมายและประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายด้วย

2.การบังคับใช้กฎหมายต้องดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับการคัดกรองมาอย่างมีประสิทธิภาพ ได้รับการฝึกฝนให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นอย่างดี มีเครื่องมือในการทำงานที่ครบครันทันสมัย และวิธีการบังคับใช้กฎหมายกระทำอย่างตรงไปตรงมา บังคับใช้กฎหมายอย่างสม่ำเสมอกับทุกกรณีโดยไม่มียกเว้นด้วยเหตุผลอื่นใดนอกเหนือจากเหตุผลในกฎหมาย

3.การอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนกระบวนการยุติธรรมต้องเข้าถึงได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว และต้องไม่เสียค่าใช้จ่ายที่สูงเกินสมควร ภายใต้แนวคิดว่าการเข้าถึงความยุติธรรมเป็นภาระหน้าที่ของรัฐที่จะอำนวยให้แก่ประชาชนไม่ใช่ประชาชนต้องแสวงหาความเป็นธรรมด้วยความยากลำบาก ใช้เวลานาน และในราคาแพง

4.สมาชิกสังคมทุกคนต้องสำนึกถึงสิทธิและหน้าที่ของตนอย่างจริงจังเห็นความสำคัญในการปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ละเลยเอาแต่ความสะดวกหรือประโยชน์ของตนเป็นที่ตั้งโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม

หากทุกภาคส่วนในสังคมได้ร่วมมือร่วมใจกันอย่างจริงจัง สังคมก็จะมีความศรัทธาและเคารพในกฎหมายมากขึ้น เมื่อมีการปฏิบัติตามกฎหมายด้วยความเคารพนับถือย่อมส่งผลให้กฎหมายเกิดความศักดิ์สิทธิ์ซึ่งแน่นอนว่าประโยชน์สุดท้ายก็คือสมาชิกสังคมสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขนั่นเอง

โดย... 

ธรรมรักษ์ จิตตะเสโน

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์