‘ธรรมีกถา’ ในวัน Lock down เกาะภูเก็ต

‘ธรรมีกถา’ ในวัน Lock down เกาะภูเก็ต

เจริญพรสาธุชนผู้ประพฤติธรรม ในยามนี้หรือในยามไหนๆ คงไม่มีอะไรประเสริฐเท่ากับการได้เคารพธรรม การได้ปฏิบัติบูชาธรรม

ในสมัยปัจฉิมกาลของพระพุทธองค์ ก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน ได้ตรัสเรื่องปฏิบัติบูชากับพระอานนท์ว่า

“อานนท์ ผู้ใดแล เป็นผู้ปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติธรรมอยู่ผู้นั้นย่อมชื่อว่า สักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อมตถาคต ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง เพราะเหตุนั้น อานนท์ พวกเธอพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้อยู่ปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติตามธรรมดังนี้”

ในห้วงเวลาที่ตั้งใจมาเจริญภาวนาอยู่บนภูเขาป่าต้นน้ำ ที่ตั้งของสำนักพระธาตุภูหว้ารัตนคีรีฯ อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม เป็นต้นมา ได้รับรู้ข่าวสารบ้านเมืองมาโดยตลอด โดยเฉพาะวิกฤตการณ์โรคันตภัยบนเกาะภูเก็ต เจ้าของฉายาไข่มุกอันดามันสวรรค์เมืองใต้ หาดทรายสีทอง สองวีรสตรี ที่บัดนี้กลับคืนสู่สภาพเงียบสงบ ด้วยการประกาศปิดเกาะภูเก็ต เนื่องจากไวรัสโควิด-19 เมื่อ 30 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา

การเดินทางมาเจริญภาวนาในครั้งนี้ จึงไม่เหมือนกับทุกครั้ง ด้วยวิกฤตการณ์ดังกล่าวที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของศรัทธาสาธุชนบนเกาะภูเก็ต จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนการดำรงชีพของพระสงฆ์ในพุทธศาสนา ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ที่เข้าขั้นรุนแรงจนนำไปสู่ความหวาดวิตกกังวลของบรรดาสาธุชนทั้งหลาย

เมื่อวันที่ 2 เมษายน ที่ผ่านมา จึงได้ถือโอกาสเดินลงจากภูเขาไปกล่าว ธรรมีกถากับคณะศรัทธา ร่วม 10 ราย ที่ขานอาสาเป็นตัวแทนหมู่คณะนำภัตตาหารมาถวายพระสงฆ์ รวม 6 รูป ที่พักอาศัยบนพระธาตุภูหว้า โดยมีการจัดเป็นรูปแบบถวายสังฆทานแทนการใส่บาตร เพื่อการถึงซึ่งอานิสงส์อันยิ่งและเพื่อสืบศาสนกิจไม่ให้สะดุดหยุดลงทั้งฝ่ายพระสงฆ์และศรัทธาญาติโยม ทั้งนี้ ได้เน้นการถือปฏิบัติตามหลักความปลอดภัยตามทางการแพทย์อย่างเต็มที่ เพื่อความไม่ประมาท (เพราะกลัวตาย !?)

สำหรับธรรมีกถาในเช้าวันดังกล่าวที่ลานธรรมเชิงเขาพระธาตุภูหว้า นอกจากคำอนุโมทนาเพื่อเสริมสร้างกำลังใจ ก่อสร้างกำลังบุญกุศล เพื่อการเพิ่มพูนกำลังฉันทะและความศรัทธาในธรรมให้มั่นคงในจิตใจชาวศรัทธาแล้ว ยังได้ให้ คติธรรมเพื่อการดำรงชีพในยามที่ต้องเผชิญกับภยันตรายจากโรคไวรัสโควิด-19 โดยสรุปว่า

“สิ่งที่ควรปฏิบัติในยามนี้ นอกเหนือจากภาระหน้าที่ทางโลก คือ การปฏิบัติธรรมให้ยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มพูนความตั้งมั่น ความศรัทธาในพระรัตนตรัย อันเป็นธงชัยของชีวิตแห่งสัตว์โลกทั้งหลาย"

การปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา คือ การเจริญสติปัญญา เพื่อประกอบความเพียรชอบ ก่อการบุญกุศล สร้างคุณธรรมความดี เพื่อหล่อเลี้ยง ปกป้อง คุ้มครองให้ชีวิตเดินทางผ่านสถานการณ์ต่างๆ ไปได้อย่างไม่สูญเสียคุณค่าของสัตว์ที่สามารถเข้าถึงความประเสริฐได้ด้วยตนเอง จึงนับเป็นภารกิจที่สำคัญที่สุดในยามนี้ !!

การศึกษาเพื่อความเข้าใจในกฎแห่งกรรม เพื่อมีศรัทธาในกรรม วิบาก และความเป็นสัตว์ที่อาศัยกรรม โดยเชื่อมั่นว่า การกระทำย่อมมีผล และผลกรรมนั้นย่อมตอบแทนคืนเจ้าของการกระทำนั้นๆ นับเป็นสัจธรรมอันล้ำค่าของชีวิต เพื่อการตั้งอยู่ในการประพฤติชอบตรงตามธรรมหลีกเลี่ยงการประพฤติทุจริตทั้ง 3 ทาง อันจะเป็นเหตุให้ต้องรับผลที่เป็นโทษทุกข์ภัยไม่จบไม่สิ้น สมดังคำกล่าวที่ว่า นัตถิ กัมมะ สะมัง พะลัง (ไม่มีแรงใดเสมอด้วยแรงกรรม)

สาธุชนจึงควรพิจารณาให้เกิดความรู้ความเข้าใจถูกต้องตรงตามธรรม ว่า แท้จริงชีวิตของเรานั้นจักต้องเป็นไปเช่นนี้ คือ เมื่อมีเกิด ก็ต้องมี แก่ เจ็บไข้ไม่สบาย และมีความตายเป็นที่สุด โดยการเข้าให้ถึงความเป็นธรรมดาของความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ว่า แท้จริง ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ และไม่อยู่ภายใต้อำนาจของใครที่จะบังคับบัญชาให้เป็นไปตามความปรารถนาความต้องการได้ ด้วย ธรรมทั้งหลายประชุมลงที่อนัตตา !

ถ้าเราเข้าใจเช่นนี้ จิตใจก็สงบ สมาธิจะปรากฏ ปัญญาจะบังเกิด เพื่อการรู้เข้าใจถึงสภาวธรรมทั้งปวงอันเกิดแต่เหตุ และความสิ้นไปเมื่อเหตุนั้นสิ้นไป ซึ่งความเข้าใจดังกล่าวจะนำไปสู่การแก้ปัญหาทั้งปวงได้จริงในทุกด้าน ไม่ว่าทางโลก หรือทางธรรม ที่ชีวิตเราต้องสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน อันเป็นไปตามกฎเกณฑ์กรรมที่ควบคุมสัตว์ทั้งหลายให้อยู่ภายใต้อำนาจของธรรม

ซึ่งหากเราเข้าใจในธรรมตามที่กล่าวมา เราจะไม่กล่าวโทษใครๆ เราจะไม่กล่าวโทษกาลเวลา ประเทศเขตแดน บุคคล ที่แม้จะมีส่วนเพิ่มพูนวิบากกรรมอันเป็นฝ่ายอกุศลให้กับเราด้วยเรายอมรับตามธรรมว่า เราทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตน ดังนั้น ที่เราต้องพบกับกาลอันเป็นกาลียุค ที่มากไปด้วย ทุกขภิกขภัย โรคันตภัย อมนุสสภัย ด้วยเพราะเรามีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย จักทำกรรมอันใดไว้ ไม่ว่าดีหรือชั่ว ก็ย่อมจักต้องรับผลของกรรมนั้น จึงมิใช่ยินดีแต่จะรับส่วนผลกรรมฝ่ายดีอย่างเดียว ความเข้าใจเช่นนี้นับว่าเป็นสัมมาทิฏฐิเบื้องต้นในพระพุทธศาสนา ที่สาธุชนควรพิจารณาโดยเฉพาะในยามนี้ !!

เจริญพร