อยู่ยาวกับโควิด
วันนี้เราต้องเปลี่ยนความคิดจากความหวังว่าจะ “เจ็บแต่จบ” มาเป็นการเตรียมการเพื่ออยู่กับโควิดในระยะยาว
เพราะหากวัคซีนยังต้องรออีกอย่างน้อย 1-2 ปี ระหว่างที่รอวัคซีนนั้น ชีวิตเราจะไม่สามารถกลับมาเป็นปกติเช่นก่อนการระบาดของโควิดได้
อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถจะใช้มาตรการเข้มข้นปิดบ้าน ปิดห้าง ปิดโรงเรียน ปิดเมืองไปได้ตลอดในขณะนี้เรากำลังใช้ยาแรง เพื่อป้องกันทุกวิถีทางไม่ให้เกิดการระบาดหนักในประเทศไทย ไม่ให้ซ้ำรอยหายนะที่เคยเกิดมาแล้วที่อู่ฮั่น อิตาลี และนิวยอร์ก แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อต่ำลงอย่างชัดเจน เราก็คงต้องค่อยๆ ทยอยกลับมาใช้มาตรการที่ผ่อนคลายลง เริ่มเปิดบ้าน เปิดห้าง เปิดร้าน เปิดโรงเรียน เปิดโรงงานกันอีกครั้ง ดังเช่นที่จีนเริ่มทำแล้วตอนนี้
เมื่อถึงวันนั้น อย่างน้อยมีปัจจัย3ข้อ ที่จำเป็นต้องพร้อม เพื่ออยู่กับโควิดได้ในระยะยาว เพื่อให้สามารถกดตัวเลขผู้ติดเชื้ออยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ไม่ต้องกลับมาใช้มาตรการแรงดังในช่วงนี้อีก
ปัจจัยแรกคือ ศักยภาพในการตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อต้องพัฒนาจนตรวจได้ปริมาณมาก สามารถตรวจแบบปูพรมทั้งผู้ที่มีอาการและกลุ่มเสี่ยงที่ไม่มีอาการ ในช่วงที่ผ่านมา สาเหตุที่เราต้องมีเกณฑ์ที่รัดกุมในการส่งตรวจ เป็นเพราะศักยภาพในการตรวจของเรายังอยู่ในระดับต่ำ จึงจำเป็นต้องจัดทรัพยากรที่จำกัดสำหรับตรวจกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงและมีอาการชัดเจน
ในขณะนี้ เราได้มีการพัฒนาศักยภาพในการตรวจได้ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งต้องอาศัยชุดเครื่องมือที่พร้อม น้ำยาตรวจที่เพียงพอ สิ่งเหล่านี้จำเป็นที่ต้องมีการจัดการเตรียมพร้อมและหาแหล่งจัดซื้อและนำเข้าอย่างจริงจัง
การตรวจเชื้อมี 2 วิธีหลักนั้น ได้แก่ การตรวจเก็บสิ่งส่งตรวจจากโพรงจมูก กับการตรวจหาแอนติบอดี วิธีแรก ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่จะเห็นว่าแม่นยำและเป็นมาตรฐาน คือหากตรวจพบเชื้อ ก็เรียกว่ามีเชื้อแน่นอน อย่างไรก็ตาม งานวิจัยจากจีนและสหรัฐฯ ระบุว่าอาจเป็นไปได้ที่จะตรวจไม่พบเชื้อ แม้ผู้ป่วยความเป็นจริงแล้วอาจมีเชื้อ โดยความผิดพลาดนี้อาจสูงถึง 30%ซึ่งมักจะเกิดจากความผิดพลาดในขั้นตอนการเก็บสิ่งส่งตรวจ เช่น อาจล้วงไปไม่ลึกพอเป็นต้น
ส่วนการตรวจวิธีหลัง คือตรวจหาแอนติบอดีนั้น ผู้เชี่ยวชาญบางคนเรียกว่าเป็น Rapid Test เพราะทำได้เร็ว จากการเจาะเลือดที่ปลายนิ้ว ใส่ในเครื่องมือตรวจ รู้ผลในเวลารวดเร็ว แต่หลายคนไม่สนับสนุนวิธีนี้ เพราะจะตรวจพบเชื้อได้หลังจากที่เชื้อฟักตัวในระยะหนึ่งแล้ว ดังนั้น ผู้ที่มีเชื้อในช่วงแรกอาจยังตรวจไม่พบ และแม้ตรวจพบเชื้อ ก็อาจเป็นผลที่ผิดพลาดได้ ยังจำเป็นต้องตรวจยืนยันด้วยวิธีการเก็บสิ่งส่งตรวจจากโพรงจมูก เพื่อให้มั่นใจอีกครั้ง
ไม่ว่าจะเป็นการตรวจวิธีไหน ล้วนไม่ได้แม่นยำ 100% ทั้ง 2 วิธีมีข้อดีข้อด้อยแตกต่างกัน ผมเห็นว่า เราควรจะสื่อสารและเชื่อมั่นในประชาชน อย่าไปกลัวว่าประชาชนหากตรวจไม่พบเชื้อด้วยวิธีแอนติบอดี้ แล้วจะยิ่งไม่ระวังตัว เพราะคิดว่าตัวเองไม่ติดเชื้อ ทั้งๆ ที่อาจมีเชื้อ เราสามารถสื่อสารข้อจำกัดของการตรวจทั้งสองวิธีให้กับผู้ที่เข้ารับการตรวจได้ ดังที่ในจีน จะมีการแจกแผ่นพับแนะนำข้อปฏิบัติและการแปลผลที่ชัดเจน เช่น ถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยง แม้จะตรวจไม่พบเชื้อ ก็ยังจำเป็นที่จะต้องกักตัวต่อ ต้องมาติดตามตรวจใหม่อีกครั้งเมื่อไร หรือหากมีอาการและมีประวัติที่เข้าข่ายเสี่ยง แต่ตรวจไม่พบเชื้อ ก็อาจต้องตรวจ CT Scan ปอดอีกด้วย ซึ่งภาพของปอดจะสามารถช่วยบ่งชี้ได้ว่า ลักษณะเป็นโควิดหรือไม่
หากเราสามารถใช้การตรวจทั้งสองวิธีประกอบกัน ขยายศักยภาพการตรวจแบบปูพรมทั่วประเทศ ตรวจให้ได้ปริมาณมาก เพื่อจะได้พบผู้ติดเชื้อให้เร็วและมากที่สุด จะทำให้สามารถแยกผู้ติดเชื้อออกมากักกันและรักษาได้ สาเหตุหนึ่งที่หลายคนกังวลและไม่สามารถดำเนินชีวิตปกติได้ เพราะปริมาณการตรวจในประเทศยังทำได้น้อย จึงไม่แน่ใจว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ยังต่ำ มาจากการตรวจที่น้อย หรือเป็นเพราะตัวเลขต่ำจริงๆ
ปัจจัยสำคัญข้อที่ 2 คือ หน้ากากอนามัย ในวันนี้ แม้กระทั่งรัฐบาลของสหรัฐอเมริกาเองก็ได้กลับลำเรียบร้อยแล้ว จากเดิมที่แนะนำให้ใส่เฉพาะผู้ป่วยเท่านั้น ตอนนี้ได้แนะนำให้ทุกคนใส่หน้ากากอนามัยเมื่อเดินทางออกนอกบ้านและอยู่ในที่สาธารณะ เพียงแต่เนื่องจากข้อจำกัดด้านทรัพยากร จึงรณรงค์ให้ทำหน้ากากเอง รวมทั้งใช้หน้ากากผ้า
ในเมืองจีนนั้น แม้กระทั่งในที่ทำงาน พนักงานทุกคนก็ต้องใส่หน้ากากอนามัยไปด้วยในขณะทำงาน รวมทั้งในรถไฟใต้ดินและห้างสรรพสินค้าด้วย เพราะทั้งหมดเป็นห้องและสถานที่ปิดที่การระบายอากาศไม่ดี ซึ่งเอื้อต่อการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส
ในช่วงที่เราใช้ยาแรงปิดบ้านปิดเมือง คำถามคือ เราได้มีการพยายามยกระดับการผลิตหน้ากากอนามัยหรือไม่ วัตถุดิบจำเป็นในการผลิตที่ต้องนำเข้าเราสามารถหาได้หรือไม่
ปัจจัยสุดท้าย ซึ่งต้องเตรียมการและเตรียมใจ คือ การจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศอย่างในจีนตอนนี้ เนื่องจากเขาเห็นชัดเจนว่าการระบาดในต่างประเทศรุนแรง จีนได้ระงับการเดินทางเข้าประเทศ และผู้ที่เดินทางเข้าประเทศก่อนหน้านี้ ต้องกักตัว 14 วัน อย่างเคร่งครัด
ดังนั้น เมื่อเราสามารถควบคุมการระบาดได้ในระดับหนึ่ง และเริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติมากขึ้น เราอาจเริ่มจากเปิดบ้าน เปิดโรงเรียน เปิดห้าง เปิดโรงงาน เปิดเมือง แต่เราอาจต้องค่อยๆ เปิดประเทศอย่างช้าๆ โดยจะต้องมีมาตรการที่รัดกุมและชัดเจนในการจำกัดการเดินทางจากประเทศที่มีการระบาด โดยแนวโน้มคือ น่าจะยังเกิดการระบาดในประเทศต่างๆ อีกหลายระลอก ทำให้ต้องมีการเฝ้าระวังและปรับเกณฑ์การจำกัดการเดินทางอยู่ตลอด
เมื่อเป็นเช่นนี้ โจทย์ใหญ่ข้อหนึ่งที่เราต้องเริ่มคิดในการอยู่กับโควิดก็คือ เราต้องจัดการเศรษฐกิจของเราให้สามารถพึ่งพาเศรษฐกิจภายในประเทศให้ได้ในช่วง 1-2 ปี โดยไม่ต้องหวังกับการท่องเที่ยว และการส่งออก (ที่ห่วงโซ่การผลิตจะติดขัดอีกหลายระลอกตามการระบาดในประเทศต่างๆ)
เราคงต้องคิดอย่างที่จีนคิดตอนนี้ คืออย่างน้อยในช่วงอยู่ยาวกับโควิด เราต้องไม่หวังว่าเศรษฐกิจจะโต หรือเครื่องยนต์เดิมจะกลับมาได้ แต่ต้องมุ่งไปที่การจัดการไม่ให้เกิดวิกฤติสังคมเป็นหลักประคองไม่ให้เกิดการเลิกจ้างงาน และต้องพยายามกระตุ้นการบริโภคและการจับจ่ายใช้สอยและท่องเที่ยวภายในประเทศทดแทน