‘หมดเวลา’ ถอดบทเรียนมองธุรกิจหลังโควิด

‘หมดเวลา’ ถอดบทเรียนมองธุรกิจหลังโควิด

ปกติเป็นคนคิดบวก เจอปัญหาอุปสรรคมานับครั้งไม่ถ้วน ก็รอดมาได้ด้วยการคิดบวกนี่แหละ

“เดี๋ยวมันก็ผ่านไป”

“ไม่เป็นไร”

“ทำให้ดีที่สุด”

“ทุกวิกฤติมีโอกาส”

แต่วันนี้ต้องยอมรับเลยว่า คิดแค่นี้ไม่ได้จริงๆ เพราะการคิดแบบ “เจออุปสรรค” กับคิดแบบ “เจอสงคราม” มันส่งผลต่อ Action ที่ต่างกัน

ผู้นำรุ่นพี่ เขาพูดกันว่าโควิด-19 นี่หนักกว่าสมัยต้มยำกุ้ง ดิฉันเองก็ไม่ค่อยเข้าใจเพราะไม่ทัน

ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ดิฉันได้พี่ๆ ที่เคยผ่านวิกฤติเหล่านั้นมาเป็นพี่เลี้ยง (Executive Mentor) ทั้งชวนคิดและช่วยคิดวิธีการบริหารในช่วงวิกฤติ

“นี่สงคราม คิดให้มัน Worst Case ถ้าสถานการณ์เลวร้ายที่สุดจะเป็นอย่างไร” พี่เลี้ยงให้การบ้านกลับไปคิด

ตามสไตล์คนคิดบวก คิดให้มันเลวร้ายที่สุดยังไง ก็ยังไม่ถูกใจพี่เลี้ยง ต้องกลับไปคิดใหม่ ให้เลวยิ่งกว่าเลว ร้ายยิ่งกว่าร้าย และดิฉันได้เรียนรู้จริงๆ ค่ะว่าการมองเห็นความเลวร้ายของสถานการณ์ในระดับที่ต่างกัน มันส่งผลต่อ Action ที่ต่างกันจริง

ถอดบทเรียนมองธุรกิจหลังโควิด

1. หมดเวลาคิดเพียงเพื่อกำไร การดำเนินธุรกิจวันนี้ยังไม่ต้องคิดไปถึงกำไร ผู้บริหารต้องหันมาดูแลเรื่อง cash flow ให้รอดไปอย่างน้อยอีกปีสองปี และนี่เป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่คนทำธุรกิจต้องกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่าเรามีจุดแข็งอะไร และจุดแข็งนี้ยังสร้างคุณค่าให้กับพนักงาน ลูกค้าและสังคมหลังวิกฤติอยู่หรือไม่ มองด้วยความจริง เลิกคิดสวย เลิกหลอกตัวเอง บริษัท Futures Platform วิจัยเทรนด์หลังโควิด-19 เรื่องการพึ่งพิงกระแสโลกาภิวัตน์จะน้อยลง หันมาพึ่งพิงกันเองภายในชุมชม ธุรกิจยิ่งต้องหาให้เจอว่าเรามีคุณค่าต่อชุมชมต่อสังคมหรือไม่ หากมุ่งเน้นการทำธุรกิจเพียงเพื่อผลกำไร ก็ยิ่งอยู่ยาก

2. หมดเวลาชิล ดิฉันเชื่อว่ากระแส Disruption ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา เราต่างรู้อยู่แก่ใจว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างต้องเปลี่ยนแปลง ผู้บริหารรู้ว่ามีจุดไหนที่ต้องเปลี่ยน แต่เราก็ชิลๆ มา ยังไม่จริงจังในการลงมือเปลี่ยนแปลง แต่วันนี้โควิด-19 มันมาเร่ง urgency เราหมดเวลาชิลแล้วจริงๆ ช่วงนี้หลายองค์กรถือเอาเวลาที่ว่างจากการดำเนินธุรกิจมายุ่งกับการจริงจังในการปรับเปลี่ยนองค์กร หากวันนี้ใครยังว่างอยู่ น่าจะรอดยากจริง

3. หมดเวลาของ Poor Performer พี่เลี้ยงของดิฉันให้ข้อคิดเสมอว่า ให้ใช้เวลาเพียง 20% ไปกับการคิดและบริหารองค์กรภายใต้วิกฤติ แต่ให้ใช้เวลาจากนี้อีก 80% ในการเตรียมองค์กรให้พร้อมเมื่อโควิดจากไป เมื่อจินตนาการองค์กรใหม่ที่แข็งแรงกว่าเดิมที่จะรอดไม่ว่าจะเจอโควิดอีกกี่รอบ ดิฉันเชื่อว่าหลาย ๆ องค์กรต้องการคนที่มีทักษะที่เหมาะกับอนาคต ปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว สามารถเรียนรู้พัฒนาทักษะใหม่ๆ ได้เร็ว ประสานร่วมมือเพื่อเป้าหมายเดียวกัน หากองค์กรมีกลุ่มคนที่เป็น Poor Performer ผลงานไม่ได้ ปรับตัวไม่ทัน ภาพใหม่ขององค์กรมันเป็นตัวเร่งให้เห็นว่าในอนาคตมันไม่มีที่ว่างสำหรับคนกลุ่มนี้จริงๆ

งานนี้ต้องขอบคุณโควิด-19 ที่เป็นแบบฝึกหัดให้คนที่ชอบคิดบวกเกินไป ได้มองเห็นโลกในความเป็นจริงเสียที จบโรงเรียนโควิดครั้งนี้ ผู้นำเจนใหม่ๆ คงได้รับปริญญาเอกด้านการสู้วิกฤติ และพวกเราจะมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงยิ่งขึ้น