COVID-19: ความเปราะบาง SMEs และมาตรการช่วยเหลือ

COVID-19: ความเปราะบาง SMEs และมาตรการช่วยเหลือ

ปัจจุบันโลกเผชิญกับสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งกระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจในวงกว้าง

กว้าง ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs)ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากความต้องการสินค้าและบริการที่ลดลงภาครัฐในหลายประเทศจึงต้องรีบเข้ามาให้ความช่วยเหลือเนื่องจากSMEs เป็นฟันเฟืองสำคัญของระบบเศรษฐกิจ ทั้งในแง่ของมูลค่าผลผลิตและการจ้างงานสำหรับไทย SMEs มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 43 ต่อ GDP และเป็นแหล่งจ้างงานหลักของประเทศโดยแรงงานในSMEsไทย มีจำนวนกว่า 14ล้านคนหรือร้อยละ 85 ของแรงงานทั้งประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ในภาคการค้าและบริการ บทความนี้ต้องการชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงที่SMEs กำลังเผชิญและความจำเป็นที่ภาครัฐต้องเข้ามาช่วยเหลือให้ SMEsผ่านมรสุมนี้ไปได้

SMEs มีสายป่านในการทำธุรกิจที่สั้นกว่าธุรกิจขนาดใหญ่

ข้อมูลงบการเงินของSMEs ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลปี 2560 พบว่าเมื่อเทียบกับธุรกิจขนาดใหญ่ SMEsส่วนใหญ่มีฐานะทางการเงินและความสามารถในการชำระหนี้ที่จำกัดเป็นทุนเดิมโดยมี1.7 แสนรายที่ประสบภาวะขาดทุน คิดเป็น 1 ใน 3 ของ SMEs ทั้งหมด นอกจากนี้ SMEs มีกำไรจากการดำเนินงานที่น้อยเทียบกับรายจ่ายดอกเบี้ยน้อยกว่าธุรกิจขนาดใหญ่เกือบ2 เท่า โดยเฉพาะSMEs ในภาคการผลิตและภาคเกษตรที่มีความสามารถในการชำระหนี้ไม่ดีนักจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่สะสมมานาน โดยเฉพาะในรายที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการค้าและการดำเนินงานได้ตามโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็ว ทั้งนี้SMEs ในภาคเกษตรมีความเปราะบางมากที่สุด จากความผันผวนด้านราคาและผลผลิตทางการเกษตรทำให้กำไรไม่เพียงพอในการชำระดอกเบี้ยจ่าย( ดังภาพที่ 1)

158798554885

เมื่อพิจารณาถึงกรณีที่ธุรกิจต้องเผชิญกับการถดถอยของเศรษฐกิจอย่างกะทันหัน (shock) พบว่า
1) SMEs มีความสามารถในการรับ shock น้อย
โดย SMEs ในภาคเกษตรไม่สามารถรับความเสี่ยงจาก
กำไรการดำเนินงานลดลงได้เลย ซึ่งเดิมก็ไม่เพียงพอต่อการชำระดอกเบี้ยจ่ายอยู่แล้ว ในขณะที่ธุรกิจภาคการผลิตและภาคบริการอื่นๆ
SMEs สามารถรับความเสี่ยงได้น้อยกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ประมาณ 2-3 เท่า และ 2) SMEs
มีสภาพคล่องจำกัด
โดยเมื่อพิจารณาถึงมูลค่าสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงและสามารถใช้เพื่อจ่ายหนี้สินระยะสั้นและค่าใช้จ่ายพื้นฐานในการดำเนินธุรกิจ เช่น ค่าเช่า ค่าจ้าง ค่าน้ำ ค่าไฟ เป็นต้น SMEs จะมีสายป่านในการดำเนินธุรกิจที่สั้นกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ค่อนข้างมาก

ภาครัฐจำเป็นต้องช่วยเหลือเยียวยาSMEs อย่างเร่งด่วน

การแพร่ระบาดของ COVID-19ทำให้ธุรกิจต่างๆ ได้รับผลกระทบทั้งจาก 1) มาตรการจำกัดการเดินทางทั้งในและนอกประเทศซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจบริการท่องเที่ยวและโรงแรม 2) มาตรการจำกัดการทำกิจกรรมต่างๆ ในเศรษฐกิจส่งผลกระทบต่อธุรกิจการค้าและการผลิต บางธุรกิจต้องปิดกิจการและเลิกจ้างชั่วคราว และ 3) การปิดเส้นทางขนส่งในบางประเทศทำให้ห่วงโซ่การผลิตหยุดชะงัก (supply chain disruption) จึงถือได้ว่ามรสุม COVID-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจในวงกว้าง โดย SMEs ที่มีฐานะการเงิน ความสามารถในการชำระหนี้และสภาพคล่องที่ค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว ซึ่งหากธุรกิจต้องปิดกิจการย่อมกระทบกับเศรษฐกิจในภาพรวมและยากที่เศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวได้ในระยะเวลาอันสั้น ทำให้ภาครัฐและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เล็งเห็นความจำเป็นที่ต้องเข้าช่วยเหลือเร่งด่วนเพื่อประคับประคองการดำเนินธุรกิจและรักษาระดับการจ้างงานซึ่งดำเนินการผ่านการขอความร่วมมือสถาบันการเงิน

158798572730

มาตรการเยียวยา SMEs

เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2563 รัฐบาลและ ธปท. ได้ออกมาตรการตาม พ.ร.ก. การช่วยเหลือทางการเงินแก่ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ได้แก่ 1) การเลื่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือนให้กับ SMEsที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท โดยไม่ถือว่าเป็นการผิดนัดชำระหนี้และไม่เสียประวัติข้อมูลเครดิต และ2) สินเชื่อเงื่อนไขผ่อนปรน (soft loans) แก่ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี นาน 2 ปี วงเงินรวม 5 แสนล้านบาท โดยรัฐบาลจะรับภาระดอกเบี้ย 6 เดือนแรกให้ นอกจากนี้ มีการให้
สินเชื่อใหม่หรือสินเชื่อเพิ่มเติมผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐสำหรับลูกหนี้
SMEs วงเงินรวม 3.96แสนล้านบาท ซึ่งมาตรการเหล่านี้จะช่วยลดภาระการชำระดอกเบี้ยจ่ายให้กับ SMEs ที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ และเป็นการเพิ่มสภาพคล่องให้กับ SMEs ในการดำเนินธุรกิจ ทั้งนี้ ธปท. ได้ขอความร่วมมือให้มีการหารือเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ระหว่างสถาบันการเงินและลูกหนี้ในช่วง 6 เดือนนี้อีกด้วย

158798558949

หลัก “4 ร” สำหรับมาตรการช่วยเหลือในระยะข้างหน้า

การติดตามและประเมินสถานการณ์เป็นระยะว่า COVID-19 จะมีผลกระทบรุนแรงแค่ไหนและมรสุมนี้จะอยู่กับเราไปอีกนานเพียงใด จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อที่หากจำเป็น ภาครัฐและ ธปท. จะได้มีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม ซึ่งจำเป็นต้องมีหลัก“4 ร”คือ1) รับฟังเสียงจากผู้ประกอบการเพื่อให้แน่ใจว่ามาตรการที่ออกมาเพิ่มเติมช่วยเหลือได้อย่างตรงจุด 2) รวดเร็วในการออกมาตรการให้ทันต่อสถานการณ์ 3) รักษาความต่อเนื่องของมาตรการในช่วงที่ภาคธุรกิจได้รับผลกระทบจาก COVID-19 เพราะไม่เช่นนั้น หากธุรกิจต้องล้มลง ภาคครัวเรือนจะได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่จากการลดการจ้างงาน ที่สำคัญคือ4) การ ร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชนจะทำให้ทุกภาคส่วนสามารถอยู่รอดได้ในวิกฤติปัจจุบันและเศรษฐกิจสามารถกลับมาฟื้นตัวได้เร็ว ซึ่งทั้ง “4 ร” นี้ เราจะรอไม่ได้เพื่อให้เราทุกคนก้าวผ่านมรสุมนี้ไปด้วยกัน

ทั้งนี้ ธปท. ได้ขอความร่วมมือสถาบันการเงินดูแลลูกหนี้ที่เดือดร้อนจากวิกฤต COVID-19 ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ และขอให้ประชาชนมั่นใจว่าหน่วยงานภาครัฐจะทำงานอย่างเต็มกำลังเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบครั้งนี้หากมีคำถามหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับมาตรการ สามารถติดต่อศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท. โทร. 1213 ได้ นอกจากนี้ ธปท. ได้รวบรวมข้อมูลมาตรการช่วยเหลือล่าสุดของทุกสถาบันการเงินไว้ที่ www.bot.or.th/thai/financialinstitutions/covid19

โดย...

แพรวไพลิน วงษ์สินธุวิเศษ
เศรษฐกรอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน

ดร.พสิษฐ์ โชติวัฒนะกุล
เศรษฐกรอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค

[ บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคลซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย ]