วิธีการอธิบายการฆ่าตัวตาย (แบบลอก ตัดแปะ!)

วิธีการอธิบายการฆ่าตัวตาย (แบบลอก ตัดแปะ!)

ผลวิจัยเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายในสังคมไทยภายใต้นโยบายควบคุมโรคระบาดได้กลายเป็นประเด็นร้อนที่ผ่านมา

เนื่องจากผลการวิจัยที่มีคณะผู้วิจัยเป็นอาจารย์นักวิชาการที่มีชื่อเสียง ได้ทุนอย่างเป็นทางการในการทำวิจัยเรื่องดังกล่าว ที่ต้องบอกว่าได้ทุนอย่างเป็นทางการ ก็เพราะการได้ทุนอย่างเป็นทางการหมายถึง โครงการขาดตกบกพร่องหรือไม่  โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่แหล่งทุนเชิญมาประเมินโครงร่างจะเป็นผู้ให้ความเห็น ถ้าผ่านแล้ว ก็แปลว่า ไม่น่าจะมั่วๆ กันได้

แต่หลังจากที่แถลงผลการวิจัยออกมา ปรากฏว่า ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบ-ลบมาก จากอาจารย์นักวิชาการที่เป็นผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ และมีชื่อเสียงเช่นเดียวกัน แต่ก็น่าสนใจตรงที่มีความเห็นของผู้วิจารณ์ท่านหนึ่งบอกว่า เป็นไปได้ว่า สถานการณ์โควิด-19 และนโยบายควบคุมโรคระบาดที่มีผลกระทบอย่างแรงต่อการทำมาหากินของกลุ่มคนจน โดยเฉพาะคนจนเมืองจน อาจทำให้มีอัตราการฆ่าตัวตายที่เทียบเคียงได้กับอัตราการตายจากโรคระบาด แต่น่าเสียดายที่ระเบียบวิธีการวิจัยที่ได้มา ซึ่งข้อสรุปดังกล่าวของคณะผู้วิจัยนั้นไม่ถูกต้อง และไม่น่าเชื่อถือ

ผมเองไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญการวิจัยที่ต้องใช้การเก็บข้อมูลเชิงปริมาณตัวเลขสถิติ ดังนั้น ก็คงไม่สามารถบอกได้ว่า ตกลงแล้ว ผลวิจัยหรือคำวิจารณ์ในเชิงการวิจัยแบบตัวเลขของใครผิดถูกน่าเชื่อถือ แต่ถ้าเป็นส่วนของการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ ก็พอบอกได้และก็เห็นด้วยกับสิ่งที่ผู้วิจารณ์ได้ติงไว้

แต่ถ้าจะให้ผมลองนำเสนอการวิเคราะห์เรื่องการฆ่าตัวตายภายใต้วิกฤติโรคระบาดของไทย ผมก็อาจจะนำเสนอในลักษณะดังต่อไปนี้ครับ

โดยจะเริ่มจากสิ่งที่ผมรู้ที่น่าจะเป็นต้นแบบของการศึกษาในทางวิชาการเรื่องการฆ่าตัวตาย นั่นก็คือ การศึกษาเรื่องการฆ่าตัวตายที่เป็นการศึกษาอย่างมีระเบียบแบบแผน ไม่ใช่นั่งเทียนคิดๆเอาเอง และการเล่าเรื่องของผมถ้าจะนับว่าเป็นงานวิจัย ก็เป็นแบบลอกๆ มาตัดแปะครับ

นักวิชาการผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นต้นแบบของการศึกษาเรื่องแบบนี้คือ เอมิล เดอร์ไคม์(Emile Durkheim: 1858-1917) เขาได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายและออกมาเป็นหนังสือเมื่อปี 1897  และในการอธิบายงานของเดอร์ไคม์ ผมขออ้างอิงข้อเขียนทางวิชาการของท่านอาจารย์ ดร. รตพร ปัทมเจริญ แห่งภาควิชาสังคมศาสตร์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในบทความเรื่อง การฆ่าตัวตาย : ปรากฏการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรม” (file:///C:/Users/This%20PC/Downloads/85870-Article%20Text-208567-1-10-20170507.pdf ขอขอบพระคุณท่านมา ณ ทีนี้ด้วยครับ)

ท่านอธิบายงานของเดอร์ไคม์ไว้ว่า ผลการวิจัยของเดอร์ไคม์ที่ศึกษาการฆ่าตัวตายในสังคมยุโรปขณะนั้นคือ - กลุ่มโปรแตสแตนท์มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่ากลุ่มคาทอลิกกลุ่มคนที่ไม่แต่งงานมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่ากลุ่มคนที่แต่งงานแล้วกลุ่มทหารมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่ากลุ่มพลเรือนนายทหารชั้นประทวนมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าทหารที่ถูกเกณฑ์- อัตราการฆ่าตัวตายในช่วงเวลาที่บ้านเมืองอยู่ในภาวะปกติจะสูงกว่าในช่วงเวลาที่เกิดสงครามและการปฏิวัติอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ในระดับที่สูงในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจมีความเฟื่องฟูและตกต่ำมากกว่าในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจอยู่ในสภาวะคงที่

และสาเหตุการฆ่าตัวตายถูกสรุปออกมาได้ 3 สาเหตุใหญ่ นั่นคือ 1. การฆ่าตัวตายที่เสียสละชีวิตเพื่อผู้อื่น 2. การฆ่าตัวตายเพื่อตนเอง 3. การฆ่าตัวตายที่เกิดจากภาวะไร้บรรทัดฐาน

การฆ่าตัวตายเพื่อคนอื่นมักจะเกิดขึ้นในสังคมที่คนมีความผูกพันกันมาก จนเป็นไปได้ว่า คนๆหนึ่งจะฆ่าตัวตายหากการตายของเขาจะช่วยคนอื่นๆ และในสังคมที่ผูกพันกันมาก หากมีใครฆ่าตัวตายเพื่อคนอื่น ก็จะได้รับการยกย่องมาก คนที่คิดฆ่าตัวตายก็อาจจะจะรู้สึกก่อนจะฆ่าตัวตายว่า การตายของตัวนั้นเป็นเรื่องมีเกียรติสูงส่ง  ส่วนการฆ่าตัวตายเพื่อตัวเองและการฆ่าตัวตายที่เกิดจากภาวะไร้บรรทัดฐานมักจะเกิดขึ้นจากการที่สังคมมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในระดับต่ำ การฆ่าตัวตายเพื่อตัวเองแบบนี้มักจะเกิดจากการที่คนๆนั้นมีความผูกพันกับผู้อื่นน้อย(พวกนักคิดนักวิชาการต้องระวังให้ดี เพราะเขามีข้อมูลว่าคนพวกนี้มีอัตราการฆ่าตัวตายสูง เพราะไม่ค่อยสุงสิงกับมนุษย์มนา)

เดอร์ไคม์ชี้ว่า สังคมขาดประสิทธิภาพหรือบรรทัดฐานหละหลวมไม่ค่อยจะสามารถใช้ควบคุมพฤติกรรมของคนในสังคมได้จะนำไปสู่อัตราการฆ่าตัวตายที่สูงขึ้น นอกจากนั้นยังมีข้อสังเกตว่า อัตราการฆ่าตัวตายในประเทศที่อนุญาตให้มีการหย่าร้างได้มีระดับที่สูงกว่าประเทศที่ไม่เปิดโอกาสให้มีการหย่าร้าง กล่าวได้ว่าอัตราการฆ่าตัวตายจะสูงขึ้นตามอัตราการหย่าร้างที่มีมากขึ้น เดอร์ไคม์ มองว่าการอนุญาตให้หย่าร้างได้เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นความอ่อนแอของหลักบรรทัดฐานที่สำคัญที่สุดในสังคม เพราะความอ่อนแอหละหลวมของบรรทัดฐานเกี่ยวกับการแต่งงานมีความเกี่ยวข้องกับความอ่อนแอของชุดบรรทัดฐานอื่นๆ ในสังคมด้วย  (แม้ตัวเลขสถิติของเดอร์ไคม์จะออกมาแบบนั้นภายใต้เงื่อนไขแบบนั้น แต่หลายคนอาจจะแย้งว่า ให้หย่าง่ายน่าจะดีกว่า คือไปตายเอาดาบหน้า ดีกว่าอยู่ไปแต่ตายทั้งเป็น 5555!)

หลักฐานอีกอย่างหนึ่งที่ เดอร์ไคม์ ใช้สนับสนุนแนวคิดของเขาคือ การฆ่าตัวตายมีความเกี่ยวพันกับวิกฤตทางเศรษฐกิจ ซึ่งอันนี้ผมว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ขณะนี้มากที่สุด โดยเดอร์ไคม์อธิบายว่า ในช่วงที่เศรษฐกิจถดถอยและในช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว การฆ่าตัวตายก็เกิดขึ้นเช่นกัน สำหรับการถดถอยของเศรษฐกิจทำให้เกิดความยากลำบากและความยากจน แต่สิ่งนี้ไม่ได้ทำให้เกิดการฆ่าตัวตาย สเปนยากจนกว่าฝรั่งเศส แต่อัตราการฆ่าตัวตายในฝรั่งเศสเกิดขึ้นสูงกว่า การที่ผู้คนฆ่าตัวตายก็เพราะในภาวะเหล่านี้การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วทางเศรษฐกิจทำให้เกิดความยุ่งยากและความไม่แน่นอนในชีวิต อีกทั้งพวกเขายังรู้สึกยากลำบากในการที่จะยอมรับในกรณีที่เกิดความล้มเหลวทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องกับตนเองและครอบครัว”  ดังนั้น ในงานวิจัยของเดอร์ไคม์ ทำให้เราต้องระมัดระวังว่า แม้วิกฤติเศรษฐกิจจะทำให้คนฆ่าตัวตายก็จริง แต่ลำพังสาเหตุความคับแค้นยากจนทางเศรษฐกิจไม่ได้เป็นสาเหตุโดยตรงการฆ่าตัวตาย เพราะสเปนจนกว่าฝรั่งเศส แต่การฆ่าตัวตายในฝรั่งเศสกลับสูงกว่า

อีกทั้งสิ่งที่ผมเคยรับรู้มาก็คือ การฆ่าตัวตายในช่วงที่วิกฤตการณ์หุ้นเจ๊งในอเมริกาปี 1929  คนฆ่าตัวตายสูงเพิ่มขึ้นกว่าปกติจาก 17.0 ต่อประชากร 100,000 คนในปี 1929 เป็น 21.3 ในปี 1932 และแน่นอนว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากหุ้นเจ๊งและฆ่าตัวตายก็มีทั้งที่เป็นคนมีฐานะธรรมดาระดับเสมียนไปจนถึงระดับมหาเศรษฐี  แต่การฆ่าตัวตายแบบนี้น่าจะเกิดจากภาวะตั้งตัวไม่ติด หุ้นตกอย่างรวดเร็วเกิน

การฆ่าตัวตายของคนไทยในช่วงวิกฤติโรคระบาดที่ส่วนใหญ่เป็น “คนจน” ที่ได้รับผลกระทบในเรื่องปากท้องทั้งของตัวเองและครอบครัว จึงมีความเป็นไปได้สูง แต่นั่นคือ สมมติฐาน และเป็นการตั้งสมมุติฐานที่สมเหตุสมผลด้วย เพราะตัวแบบที่เดอร์ไคม์ศึกษาไว้ก็บอกว่า มีการฆ่าตัวตายด้วยสาเหตุแบบนี้อยู่ แต่กระนั้น ผลการวิจัยของเดอร์ไคม์ ก็เตือนไว้ด้วยว่า สเปนจนกว่าฝรั่งเศส แต่ฆ่าตัวตายน้อยกว่าฝรั่งเศส ดังนั้น มันน่าจะมีอะไรในสังคมสเปนที่ทำให้คนสเปนไม่ฆ่าตัวตายมากในยามเผชิญวิกฤติปากท้อง เช่นเดียวกัน หากคนไทยจะฆ่าตัวตายมากจากผลกระทบทางเศรษฐกิจในช่วงสถานการณ์โรคระบาดก็อาจจะมีสาเหตุพ่วงอย่างอื่นด้วย หรือจะเป็นเพราะผลกระทบมันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงเกินกว่าจะปรับตัวได้ทัน!

ทีนี้เรามาดูอัตราการฆ่าตัวตายโดยรวมๆแบบยังไม่แยกแยะสาเหตุของโลกและของกลุ่มประเทศอาเซียนกัน จากรายงานการจัดอันดับประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในโลกประจำปี 2019 โดย World Population Review ที่สำรวจและพิจารณาข้อมูลการฆ่าตัวตายขององค์การอนามัยโลกในปีที่ผ่านมา พบว่าไทยรั้งอันดับที่ 32 มีอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 14.4 คนต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งสูงที่สุดในกลุ่มอาเซียนตามมาด้วยสิงคโปร์ อันดับที่ 67 มีอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 11.2 คน ลาว อันดับที่ 84 มีอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 8.6 คน โดยฟิลิปปินส์ถือเป็นประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายน้อยที่สุดในย่านอาเซียน มีอัตราส่วนอยู่ที่ 3.2 คนต่อประชากร 100,000 คน” (https://thestandard.co/list-of-countries-by-suicide-rate-2019/)

แต่ผู้รู้อธิบายว่า ไม่ได้มีการรายงานตัวเลขที่แท้จริงของการฆ่าตัวตายในกัมพูชา พม่า มาเลเซียและฟิลิปปินส์ เพราะการฆ่าตัวตายของประเทศเหล่านี้เป็นเรื่องที่ขัดต่อศาสนาอย่างรุนแรง (https://theaseanpost.com/article/suicides-southeast-asia-rise) และผู้คนในประเทศเหล่านี้ยังมีความเชื่อศาสนาอย่างเคร่งครัด

อย่างไรก็ตาม หมายความว่า ในกรณีของกลุ่มประเทศอาเซียนในยามที่ไม่มีวิกฤตเศรษฐกิจจากโรคระบาด คนไทยก็ฆ่าตัวตายกันอยู่แล้วและมากที่สุดในอาเซียนด้วย ดังนั้น ก็ เป็นไปได้มาก ว่ายิ่งเจอวิกฤติเศรษฐกิจภายใต้โรคระบาดที่ไม่รู้ว่าการทำมาหากินจะกลับคืนสู่ปกติเมื่อไร และมีแนวโน้มจะยืดเยื้อยาวนาน คนจนเมืองก็น่าจะฆ่าตัวตายด้วยสาเหตุนี้ ผสมกับสาเหตุอื่นๆที่ทำให้สังคมไทยมีอัตราฆ่าตัวตายสูงสุดในอาเซียนมาก่อนหน้านี้อยู่แล้ว สาเหตุที่ว่านั้นคืออะไรคนจนเมืองที่ฆ่าตัวตายจนที่สุดหรือไม่ ถ้าไม่ ทำไมคนที่จนกว่าถึงไม่ฆ่าตัวตาย?

และก็ควรจะศึกษาเปรียบเทียบกับประเทศที่มีปัญหาโรคระบาดและปิดเมืองแบบเดียวกันและในช่วงเวลาเดียวกันกับของไทยว่า มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงหรือไม่ซึ่งต้องใช้เวลาทำวิจัยนานกว่านี้ อย่าถือสาหาความอะไรกับผมมากนักนะครับ ที่เขียนไปนี่เป็นการเขียนแบบลอกๆ เขามาแล้วตัดแปะให้เป็นเรื่องเป็นความขึ้นมา