ทิศทางและทางออกการศึกษาไทยหลังโควิด 19
ผลกระทบจากโรคระบาดโควิด 19 ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องคุยกันต่อ ไม่จบง่ายๆ จากเรื่องของสาธารณสุข การรักษา ก็ยังมีเรื่องเศรษฐกิจถดถอย คนตกงาน ฯลฯ
ซึ่งต้องเป็นปัญหาระยะยาวที่รัฐและเอกชนจะต้องร่วมมือกันแก้ไข ยังดีที่ตอนโควิด-19 เริ่มระบาดเป็นช่วงใกล้ปิดเทอม ก็ยังสามารถขายผ้าเอาหน้ารอดใช้วิธีการสอนและสอบออนไลน์แบบตะกุกตะกักไปได้ ที่ใช้คำว่าตะกุกตะกักก็เพราะสถานศึกษาชั้นนำของเราก็ยังออกมายอมรับว่าไม่พร้อมสำหรับการจัดการศึกษาออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ เป็นเรื่องของทั้งเทคโนโลยีของสถานศึกษา ความเชี่ยวชาญของผู้สอนแบบออนไลน์ ความพร้อมของเจ้าหน้าที่ที่ต้องทำงานสนับสนุนด้านสื่อการสอน และความพร้อมของตัวผู้เรียนเองที่ไม่มีคอมพิวเตอร์และค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ ICT นี่ก็เข้าเดือนพฤษภาคมแล้ว อีกไม่นานก็จะมีการเปิดภาคการศึกษาแล้ว ยังไม่แน่ใจเลยว่าสถานศึกษาทุกระดับจะเตรียมความพร้อมของบุคลากร เครื่องมือและเทคโนโลยีสำหรับการให้การศึกษาแบบดิจิทัลแล้วหรือยัง
การศึกษาทั่วโลกหลังโควิด-19 จะเปลี่ยนเป็นการศึกษาแบบ E Learning เป็นหลัก นักวิชาการแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้ออกมาคาดการณ์เมื่อต้นเดือนเมษายนนี้ว่า แม้โรคอาจจะเริ่มซาลงและถูกควบคุมได้ภายในไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ แต่พฤติกรรมเว้นระยะห่างทางกายภาพและสังคม (Physical and Social Distancing) ที่เป็นพฤติกรรมประจำวันใหม่ของชาวโลกในเวลานี้ น่าจะกลายเป็นพฤติกรรมที่ดำเนินต่อไปจนถึงปีหน้า ทั้งนี้เพราะผู้คนยังคงหวาดระแวงการติดโรคอยู่อีกนาน โดยในส่วนของการศึกษา นักวิชาการทั่วโลกก็ออกมาฟันธงว่าต่อไปการเรียนการสอนในสถานศึกษาต่างๆจะผ่านทางระบบออนไลน์มากขึ้น เพราะสถานศึกษาเป็นสถานที่ซึ่งมีคนหมู่มากมารวมอยู่ในที่เดียวกัน แต่มันจะมีผลกระทบต่องบประมาณมากทีเดียว
การศึกษาสำหรับสถานศึกษาที่มีงบประมาณน้อย ดิฉันขอร่วมคาดการณ์ว่าสำหรับประเทศไทยนั้นอีกไม่นานรัฐบาลคงต้องพิจารณาออกมาตรการการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษาต่างๆ เชื่อว่าจากเดิมที่เคยมีนิสิตนักศึกษานักเรียนจำนวนหลายสิบหลายร้อยมานั่งเรียนนั่งสอบในห้องเดียวกันคงไม่ใช่แน่ รัฐคงมีนโยบายให้สถานศึกษาจัดระยะห่างของที่นั่งเรียนให้ห่างกันอย่างน้อยหนึ่งเมตร ทุกคนในห้องเรียนต้องสวมหน้ากากปิดจมูกปากเป็นอย่างน้อย มีเจลล้างมือหน้าห้อง มีการทำความสะอาดห้องเรียน เครื่องมือเครื่องใช้ในห้องเรียนทุกคาบเรียน เข้าใจว่าสถานศึกษาที่มีเนื้อที่จำกัดและมีงบประมาณจำกัดคงกำลังขบคิดกันอย่างหนักว่าจะบริหารการเรียนการสอนและงบประมาณอย่างไร
ในแง่ของการเรียนการสอน ถ้ายังจำเป็นต้องเรียนกันในห้องเรียน ก็คงต้องแบ่งผู้เรียนเป็นรอบๆ เพื่อไม่ให้มีคนอยู่ในห้องเดียวกันมากเกินไป ในแง่ของหลักสูตรก็คงต้องมีการปรับชั่วโมงการเรียนการสอนในห้องเรียนให้มีความกระชับขึ้น เน้นให้ผู้เรียนไปศึกษาด้วยตนเองที่บ้านได้มากขึ้น สิ่งที่รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการจะต้องช่วยสนับสนุนโรงเรียนในสังกัดกระทรวงก็คือพัฒนาฝึกอบรมครูอาจารย์และผู้เรียนให้มีทักษะในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เชื่อว่าครูและนักเรียนในชนบทหลายคนอาจไม่มีคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยไว้ใช้เป็นของตัวเองด้วยซ้ำไป รัฐก็คงต้องจัดงบประมาณด้านนี้ อาจร่วมมือกับเอกชนให้ครูและผู้เรียนเช่าซื้อคอมพิวเตอร์ได้ หรืออาจขอให้ผู้มีฐานะดีและองค์กรต่างๆร่วมกันบริจาคคอมพิวเตอร์หรือแท็บเล็ตให้เด็กนักเรียนผู้ขาดแคลน เป็นต้น ทั้งนี้คนไทยเราเป็นผู้มีเมตตา สังเกตได้ว่าเมื่อมีภัยพิบัติเกิดขึ้นก็จะมีแรงบริจาคมากมาย คราวนี้แทนที่จะบริจาคอาหาร เปลี่ยนมาเป็นบริจาคเพื่อการศึกษาบ้างก็จะส่งผลกับคุณภาพของประชากรไทยในระยะยาว
ในเวลานี้หวังให้รัฐบาลช่วยเหลืออย่างเดียวคงไม่ไหว เพราะงบประมาณก็ถูกนำไปใช้กับการแจกเงินเยียวยากลุ่มผู้เดือดร้อนไปมากมายแล้ว อย่างไรก็ตามดิฉันเชื่อว่าประเทศไทยและประเทศอื่นๆอีกหลายประเทศก็คงยังไม่พร้อมที่จะจัดการศึกษาทางออนไลน์เป็นหลัก อย่างไรเสียก็ยังจำเป็นต้องมีการเรียนการสอนในห้องเรียนที่เห็นหน้าเห็นตากันอยู่ ดังนั้นในช่วงเวลาที่ยังไม่พร้อมทำ E Learning ก็คงต้องวิธีจัดกลุ่มเรียนเป็นรอบๆไปร่วมกับวิธีการอย่างอื่นตามที่จะคิดค้นกันออกมาให้การศึกษาดำเนินต่อไปได้
ไม่มีเงินค่าเทอมก็เรียนเองได้ ตามที่เราตระหนักกันดีว่าพิษของโควิด -19 ทำให้มีผู้ว่างงานเป็นจำนวนหลายล้านคนในประเทศไทย ในบรรดาผู้ว่างงานนี้มีหลายครอบครัวที่มีลูกหลานอยู่ในวัยเรียน หลายคนล้วนร้อนอกร้อนใจว่าจะหาเงินที่ไหนไปจ่ายค่าเล่าเรียนของลูก ในอดีตที่ผ่านมาพอเริ่มเปิดเทอมผู้ปกครองที่ยากจนก็ต้องวิ่งไปกู้หนี้ยืมสิน เอาข้าวของไปจำนำ ทั้งนี้ก็เพราะพ่อแม่ตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาว่าจะช่วยพัฒนาชีวิตของลูกหลานให้ดีขึ้น ให้สามารถพึ่งพาตนเองและมีอนาคตที่ดียิ่งไปกว่าของพ่อแม่
ถูกแล้วค่ะที่เห็นว่าการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ แต่ถ้าถึงขนาดต้องกู้หนี้ยืมสินมาจ่ายค่าเทอมโดยที่ยังไม่รู้ว่าจะสามารถใช้หนี้ได้เมื่อไร ก็ไม่ต้องให้ลูกหลานไปเรียนในสถานศึกษาในระบบหรอกค่ะ เราต้องสร้างค่านิยมใหม่ว่าผู้ที่มีความสามารถในการทำงานและประสบความสำเร็จในชีวิตไม่จำเป็นต้องจบการศึกษาในระบบจากสถานศึกษาชื่อดังเสมอไป เราต้องรู้จักจัดลำดับความสำคัญของชีวิต เรื่องปากท้องของครอบครัวต้องมาก่อน ถ้าลูกกำลังเรียนอยู่ก็สามารถลาพักการศึกษามาช่วยทางบ้านทำมาหากินก่อนได้ ยิ่งถ้ากำลังเรียนในระดับอุดมศึกษา การลาพักเรียนยิ่งไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย แต่เรื่องไม่มีจะกินนี่สิถึงตาย ลาพักเรียนมาทำงานสร้างรายได้ก่อน ระหว่างนั้นก็เรียนด้วยตนเองทาง E Learning ก็ได้ หรือถ้ายังอยู่ในระหว่างเรียนมัธยมหรือประถมศึกษา ถ้าจำเป็นก็ต้องลาเรียนมาช่วยพ่อแม่ แล้วหาเวลาศึกษาด้วยตนเอง โดยพ่อแม่อาจทำหน้าที่เป็นครูสอนให้เองถ้ามีความรู้พอ เป็นการเรียนที่บ้านที่เรียกว่า Home School
แต่ก่อนที่พ่อแม่จะตัดสินใจทำการสอน ไม่ใช่ว่าจะลงมือทำเองได้เลย แต่จะต้องทำการลงทะเบียน รวมทั้งปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดไว้ให้ได้ เพื่อที่จะสามารถเทียบวุฒิการศึกษาของการเรียนที่บ้านกับทางกระทรวงศึกษาธิการได้ ผู้ที่สนใจจะสอนลูกที่บ้านเอง สามารถยื่นขอระเบียบการได้จากสำนักงานเขตพื้นที่ เพื่อทำหลักสูตรสอน โดยมีกติกาว่าวุฒิการศึกษาของผู้ปกครองต้องไม่ต่ำกว่ามัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า อย่างไรก็ตามพ่อแม่หลายรายอาจไม่มีความสามารถมากพอหรือไม่มีเวลาพอจะสอนลูกเอง มิหนำซ้ำยังต้องอาศัยแรงงานลูกมาช่วยทำงานด้วย แต่ลูกก็ยังมีทางเลือกค่ะ คือพร้อมเมื่อไรก็ไปสมัครเรียนการศึกษานอกระบบห้องเรียนและการศึกษาตามอัธยาศัยโดยไปขอรายละเอียดได้ที่สำนักงานเขต เสร็จแล้วก็สอบเทียบระดับการศึกษาได้ สรุปก็คือ ชีวิตของเราทุกคนมีทางเลือก ไม่ได้ไปเรียนที่โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยไม่ใช่เรื่องน่าอาย ชีวิตไม่ได้เจอทางตัน ถ้าจังหวะชีวิตของเราไม่อำนวยให้ได้เรียนตามมาตรฐานเหมือนคนอื่นๆทั่วไป เราก็เลือกเรียนเวลาที่เราสะดวก ในราคาและสถานที่ที่เราสะดวก ทำงานไปเรียนไปก็ได้ หรือทำงานก่อนเรียนก็ได้
รัฐบาลควรส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยให้แพร่หลายก้าวหน้ายิ่งขึ้น ดูจากสภาพเศรษฐกิจในเวลานี้ คงต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะทำให้ประชากรไทยมีความอยู่ดีกินดีอย่างที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ แต่นอกจากปัญหาปากท้องที่รัฐต้องรีบเร่งแก้ไขแล้ว เรื่องของการศึกษาก็เป็นเรื่องที่วางมือไม่ได้ เมื่อประเทศมีคนจนมากขึ้น มีแรงงานว่างงานเพราะขาดคุณสมบัติที่นายจ้างขององค์กรยุคดิจิทัลต้องการ ดิฉันมีความเห็นว่ารัฐบาลจำเป็นต้องพัฒนาความสามารถของคนไทยโดยใช้วิธีลัด กล่าวคือให้คนไทยได้เรียนลัดผ่านการศึกษานอกระบบ และการฝึกอบรมที่รัฐบาลควรแสวงหาความร่วมมือจากภาคเอกชนและสถานศึกษาให้จัดหลักสูตรที่สร้างองค์ความรู้และทักษะที่นายจ้างต้องการ (Employability skills) โดยใช้เวลาที่รวดเร็วที่สุดและไม่ควรคิดค่าใช้จ่ายการฝึกอบรมกับผู้ที่กำลังว่างงานอยู่ วิธีนี้เป็นวิธีที่รัฐบาลประเทศเกาหลีใต้นำมาใช้เมื่อประมาณ 50 กว่าปีมาแล้วช่วงที่ต้องการพัฒนาประเทศเป็นประเทศอุตสาหกรรมอย่างเร่งด่วน เราควรต้องใช้การฝึกอบรมแบบเรียนลัดเพื่อหางานทำได้หลังฝึกอบรมจบเลย จะมาพึ่งการศึกษาตามระบบไม่ทันการณ์แน่ค่ะ