อย่าปล่อยให้โอกาสที่มากับวิกฤติเสียไป

อย่าปล่อยให้โอกาสที่มากับวิกฤติเสียไป

ตอนนี้คำว่า New Normal หรือความปกติใหม่ มีการพูดถึงทุกวงการ หมายถึงยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงจะต้องเกิดขึ้นจากผลกระทบของโควิด-19

ที่ทำให้หลายๆ อย่างในโลกยุคหลังโควิดจะเปลี่ยนไปจากเดิม เป็นพฤติกรรมใหม่หรือความปกติใหม่ ที่จะเกิดขึ้นและแตกต่างไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน กระบวนการทำธุรกิจ การใช้ชีวิต การให้ความสำคัญกับสุขภาพ สิ่งแวดล้อม บทบาทของเทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน และในการทำงาน

ที่สำคัญในระดับประเทศ สิ่งที่เคยมีอยู่ในสังคม ในการเมือง ในเศรษฐกิจของประเทศก็ต้องเปลี่ยนเช่นกัน และจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มาจากความต้องการของคนในประเทศที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง ต้องการเห็นสังคมเดินออกจากสิ่งเดิมๆ ที่ไม่ดีไปสู่สิ่งใหม่ที่ดีกว่า เป็นมาทุกยุคทุกสมัยและในทุกวิกฤติใหญ่ที่เกิดขึ้น

ถ้าเราย้อนดูประวัติศาสตร์โลกช่วงร้อยปีที่ผ่านมา ในทุกวิกฤติใหญ่ที่เกิดขึ้นจะมีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่เหมือนการตั้งต้นใหม่เกิดขึ้นตามมาเสมอ เหมือนเป็นกฎธรรมชาติ ไม่ว่าวิกฤตินั้นจะเป็นสงคราม โรคระบาด หรือภาวะเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรง

ที่เป็นอย่างนี้เพราะความเสียหายและความทุกข์ยากต่อคนในสังคมที่เกิดจากวิกฤตินั้นมีมหาศาล ทั้งทรัพย์สินเงินทองและชีวิตผู้คน เป็นการสูญเสียที่ทุกคนไม่ต้องการให้เกิดขึ้นอีก ที่สำคัญ วิกฤติได้เปิดให้เห็นความอ่อนแอที่สังคมมี ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจหรือการเมืองที่เป็นเหตุนำไปสู่การเกิดขึ้นของวิกฤติ หรือมีผลให้ความสามารถของประเทศที่จะตั้งรับและบริหารจัดการวิกฤติทำได้ไม่ดีพอจนความเสียหายเกิดขึ้นมาก เกิดการสูญเสียมากจนคนในสังคมเห็นพ้องต้องกันว่าจะต้องไม่ยอมให้วิกฤติเกิดขึ้นอีก เกิดเป็นความมุ่งมั่นอันยิ่งใหญ่ร่วมกันของคนในชาติ (Great Common Purpose) ที่ต้องการให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เพื่อไม่ให้ประเทศชาติต้องเสียหายและทุกข์ยากจากวิกฤติที่เกิดขึ้นอีก ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ไปสู่สังคมที่ดีกว่าเดิม

ตัวอย่างในเรื่องนี้ก็เช่น การระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปน เมื่อปี 1918 ที่มีคนเสียชีวิตทั่วโลกมากถึง 50 ล้านคน หลังการระบาดก็นำไปสู่การจัดตั้งระบบสาธารณสุขระดับชาติในหลายประเทศ โดยเฉพาะในยุโรปเพื่อสร้างความมั่นคงด้านสาธารณสุขให้กับประชาชน หรือหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ลากยาวกว่าหกปี มีทหารและพลเมืองทั่วโลกเสียชีวิตไปกว่า 70 ล้านคน ก็นำมาสู่การจัดตั้ง องค์การสหประชาชาติเพื่อรักษาความสงบและสันติภาพในโลก โดยใช้ความร่วมมือระหว่างประเทศ เป็นแนวทางแก้ไขปัญหา สำหรับเศรษฐกิจ หลังภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกในปี 1930s ที่ตามมาด้วยสงครามโลกครั้งที่สอง ก็นำมาสู่การวางสถาปัตยกรรมของระบบการเงินโลกใหม่ มีการจัดตั้งองค์กรระหว่างประเทศ เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ และธนาคารโลก เพื่อประสานความร่วมมือของประเทศต่างๆ เพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินโลกและช่วยเหลือพัฒนาประเทศเกิดใหม่ ซึ่งเป็นระบบที่ยืนยาวมาถึงปัจจุบัน

ในเรื่องนี้มีเกล็ดว่า ตอนช่วงท้ายสงครามโลกครั้งที่สอง วินสตัน เชอร์ชิลล์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษขณะนั้นได้กล่าวในทำนองนี้ คือ กล่าวว่าอย่าให้วิกฤติที่เกิดขึ้นสูญเปล่า(Never let a good crisis go to waste) กล่าวในช่วงที่ 3 มหาอำนาจ คือรัสเซีย โดยสตาลิน สหรัฐ โดยประธานาธิบดี ทีโอดอร์รูสเวลต์ และสหราชอาณาจักรอังกฤษ คือตัวเขาจับมือกันเป็นพันธมิตรซึ่งนำไปสู่การจัดตั้งองค์การสหประชาขาติ เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองจบสิ้นลง แสดงให้เห็นถึงการวางแผนล่วงหน้าที่จะสร้างโลกใหม่ที่ดีกว่าโลกเดิมหลังวิกฤติ หรือหลังสงครามโลกจบลง

วิกฤติคราวนี้ก็เช่นกัน วิกฤติแสดงให้เห็นความอ่อนแอที่ซ่อนอยู่ในแต่ละประเทศ ที่แต่เดิมมองไม่เห็น ทั้งในเรื่องประสิทธิภาพของระบบสาธารณสุข ภาวะผู้นำ ความเข้มแข็งของสถาบัน(Institutions)ในประเทศ และความร่วมมือของคนในสังคมในการแก้ปัญหา บางประเทศแข็งนอกอ่อนในอย่างไม่น่าเชื่อ ทำให้คนในประเทศต้องรับทุกข์มาก บางประเทศทำได้ดีเกินคาดหมายและควรต้องชมเชย เฉพาะในเอเซียแปซิฟิคก็ต้องพูดถึงนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน และม้ามืดอย่างเวียดนาม ประเทศเหล่านี้มีความเข้มแข็งซ่อนอยู่ที่แต่เดิมมองไม่เห็นจนวิกฤติคราวนี้แสดงให้เห็น

ของประเทศเราก็เช่นกัน เราเห็นความเข้มแข็งที่ซ่อนอยู่ที่แต่เดิมอาจไม่ตระหนักหรือมองไม่เห็น ที่ช่วยให้ประเทศสามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19ได้ดีจนถึงวันนี้ ซึ่งที่สำคัญและต้องพูดถึงคือ  1.ความสามารถของระบบสาธารณสุขของเรา โดยเฉพาะแพทย์ พยาบาล บุคลากรที่เกี่ยวข้อง และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ที่ทุ่มเทให้กับการทำหน้าที่  2.การทำหน้าที่ของประชาชนหรือพลเมืองที่ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับมาตรการล็อคดาวน์ของภาครัฐที่จำเป็นต่อการควบคุมการระบาด โดยความร่วมมือมีมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งต้องถือเป็นการเสียสละอย่างใหญ่หลวงของคนจำนวนมากที่มีรายได้จากการทำงานเลี้ยงชีพเป็นรายวัน แต่ยอมขาดรายได้ หยุดการประกอบอาชีพเพื่อให้มาตรการของภาครัฐประสบความสำเร็จ  3.ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของคนในประเทศที่ช่วยเหลือกันในยามทุกข์ยาก ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคสิ่งของ เงิน อาหาร การจัดตั้งโรงทาน สิ่งเหล่านี้อยู่ในดีเอ็นเอของคนไทยที่จะช่วยเหลือกันในยามลำบาก ทำให้ผลกระทบของวิกฤติต่อคนในสังคมสามารถผ่อนคลายลง

แต่ความอ่อนแอที่ซ่อนอยู่หรือที่รู้แต่ไม่ตระหนักก็มีมากและมีหลายด้าน ที่ถูกตีแผ่ให้เห็นในวิกฤติคราวนี้ ที่ชัดเจน คือปัญหาความเหลื่อมล้ำที่คนจำนวนมากในประเทศ คือมากกว่า 20 ล้านคน ต้องพึ่งความช่วยเหลือจากภาครัฐ ในยามไม่มีรายได้ เพราะไม่มีเงินออมและไม่สามารถช่วยตัวเองได้อย่างที่ควร จากที่ไม่มีระบบที่จะเป็นหลังพิง(Safety net) ให้ในยามที่เดือดร้อน ชี้ให้เห็นถึงความอ่อนแอหรือความเปราะบางที่ประเทศมี แม้เศรษฐกิจจะเติบโตมาได้ต่อเนื่อง

ดังนั้น ถ้าเราจะทำให้วิกฤติคราวนี้ ไม่เสียโอกาสและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่จะทำให้สังคมดีขึ้น นิวนอร์มอลเศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 จะต้องเป็นเศรษฐกิจที่ให้โอกาสกับคนส่วนใหญ่ของประเทศมากขึ้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และเป็นเศรษฐกิจที่มีความเข้มแข็งที่สามารถเป็นหลังพิง(Safety net) ให้กับคนส่วนใหญ่ของประเทศในยามที่ประเทศเจอวิกฤติหรือมีปัญหารุนแรง

นั่นคือ อย่าปล่อยให้โอกาสที่มากับวิกฤติคราวนี้เสียไป