COVID-19...จุดเปลี่ยนแห่งทศวรรษของ 4 สงครามทางเศรษฐกิจ
นับเป็นเวลากว่า 5 เดือนแล้วที่โลกต้องเผชิญกับสงครามการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งถือเป็นวิกฤตด้านสาธารณสุขครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์
และส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในหลายมิติ ไม่เพียงแต่วิถีการดำเนินชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนแปลงไป หรือที่หลายคนเริ่มเรียกกันติดปากว่า New Normal แต่หากมองในภาพใหญ่ของเศรษฐกิจโลกแล้ว
COVID-19 ยังกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของ 4 สงครามทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาและในระยะถัดไป ดังนี้
สงครามราคา ถือเป็นกลยุทธ์การตลาดที่หากเกิดขึ้นแล้วมักจะทำให้ผู้เล่นในธุรกิจนั้น ๆ เจ็บตัวกันหมด ซึ่งแม้ว่าตลอดทศวรรษที่ผ่านมาจะมีบทเรียนให้เห็นมากมาย แต่หลายธุรกิจก็ยังจำเป็นต้องใช้กลยุทธ์ดังกล่าวเพื่อตอบสนองผู้บริโภคบางกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านราคาเป็นหลักในการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการ อาทิ การบิน โรงแรม ค้าปลีก เป็นต้น อย่างไรก็ตาม วิกฤต COVID-19 ในครั้งนี้ทำให้หลายธุรกิจได้รับผลกระทบจากมาตรการ Lockdown และ Social Distancing จนรายได้แทบเป็นศูนย์ ประเด็นดังกล่าวนับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้หลายธุรกิจต้องหันมาทบทวนกลยุทธ์การแข่งขันด้านราคากันอย่างจริงจัง เนื่องจากธุรกิจต้องแบกรับต้นทุนการบริหารจัดการ ตลอดจนการรักษามาตรฐานความสะอาดและความปลอดภัยที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถในการทำกำไร ทั้งธุรกิจบริการที่อาจรับลูกค้าต่อวันได้น้อยลง และภาคการผลิตโดยเฉพาะที่ใช้แรงงานเข้มข้นอาจผลิตสินค้าต่อวันได้ลดลง เหตุการณ์ข้างต้นเป็นสิ่งยืนยันได้ว่าการแข่งขันด้านราคาคงไม่ใช่คำตอบหลักสำหรับการดำเนินธุรกิจในระยะถัดไป
สงครามการค้า ที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลาเกือบ 4 ปีนับตั้งแต่ทรัมป์ก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐฯ ได้กดดันบรรยากาศการค้าการลงทุนของโลกมาโดยตลอด ซึ่งที่ผ่านมาไพ่ที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ถืออยู่ในมือดูจะเหนือกว่าทางฝั่งจีนอยู่พอสมควรจากการที่สหรัฐฯ เป็นผู้นำเข้าสินค้ารายใหญ่ที่สุดของจีน อีกทั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมา ก็แข็งแกร่งที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วทั้งหมด ทำให้สหรัฐฯ ยังสามารถทนต่อแรงเสียดทานจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นผ่านการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนได้ อย่างไรก็ตาม หลังจากเกิด COVID-19 จนสหรัฐฯ กลายเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตสูงที่สุดในโลก และอาจทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ปี 2563 หดตัวสูงสุดในรอบ 10 ปี ปัจจัยดังกล่าวทำให้ทรัมป์ต้องระมัดระวังมากขึ้นในการใช้นโยบายปกป้องทางการค้าที่จะซ้ำเติมเศรษฐกิจสหรัฐฯ จนอาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ทรัมป์แพ้ศึกการเลือกตั้งประธานาธิบดีในช่วงปลายปีได้
สงครามค่าเงิน ดูเหมือนจะถูกพูดถึงน้อยลงไปบ้างในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นแต่หลังจากเกิด COVID-19 ที่ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกต้องกลับมาใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำติดดินและมาตรการ QEอีกครั้ง ก็อาจเป็นชนวนจุดไฟสงครามค่าเงินได้อีก เนื่องจากหลายประเทศต้องการให้ค่าเงินตนเองอ่อนลงเพื่อกระตุ้นการส่งออกและการท่องเที่ยวซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจาก COVID-19 โดยผู้เล่นหลักในครั้งนี้คงหนีไม่พ้นสหรัฐฯ กับจีน โดยนับตั้งแต่เกิด COVID-19 เงินดอลลาร์สหรัฐ ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยผันผวนในทิศทางแข็งค่าต่อเนื่อง สวนทางกับเงินหยวนที่อ่อนค่าลง ทำให้ทรัมป์คงไม่พอใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนัก ประจวบเหมาะกับการที่จีนเริ่มทดลองใช้เงินหยวนดิจิทัลที่หนุนหลังโดยธนาคารกลางเป็นประเทศแรกของโลกในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2563 โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อลดการพึ่งพาการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐของนักลงทุนทั่วโลก ปัจจัยดังกล่าวอาจจะยิ่งเร่งให้สงครามค่าเงินเกิดเร็วขึ้น
สงครามผู้นำตลาด ซึ่งเป็นการต่อสู้กันระหว่างอุตสาหกรรมเก่าและอุตสาหกรรมใหม่ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ในช่วงก่อนวิกฤต Hamburger หุ้นที่นำตลาดจะอยู่ในกลุ่มพลังงาน การเงิน ค้าปลีกเป็นต้น แต่หลังจากเกิดวิกฤตหลายครั้งที่ผ่านมารวมถึงวิกฤต COVID-19 ครั้งนี้ สะท้อนได้ชัดเจนว่าอุตสาหกรรมเก่าเหล่านี้อ่อนไหวต่อเศรษฐกิจค่อนข้างมาก ตรงกันข้ามกับอุตสาหกรรมใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีที่ดูเหมือนจะทนกับวิกฤตได้ดีกว่า สังเกตได้จากราคาหุ้นกลุ่ม FAANG ซึ่งเป็นตัวย่อของ Facebook, Apple, Amazon, Netflix และ Google ที่ปรับขึ้นสวนทางกับหุ้นกลุ่มอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าทุกกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่จะสามารถยืนหยัดในภาวะดังกล่าวได้ เพราะหลายธุรกิจที่เคยเป็น Start-up ดาวรุ่งอย่างกลุ่มเศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) อาทิ Co-working space, House-sharing หรือ Car-sharing ก็ดูเหมือนจะถูก Disrupt จากพฤติกรรม Social Distancing ปัจจัยดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจแห่งอนาคตไม่เพียงแต่ต้องนำไอเดียใหม่ ๆ มาผสมผสานกับเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังต้องยืดหยุ่นต่อพฤติกรรมผู้บริโภคและภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วด้วย
สุดท้ายนี้ไม่ว่าสงครามข้างต้นจะออกมาในรูปแบบใด สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องคิดไว้ในใจเสมอคือ ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน ดังนั้น ต้องหมั่นพัฒนาตนเอง หมั่นเช็กสภาพคล่อง พร้อมทั้งเตรียมเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงและทางหนีทีไล่ให้กับธุรกิจอยู่ตลอดเวลา เพื่อที่จะได้กลายเป็นผู้ชนะไม่ว่าจะเกิดสงครามในรูปแบบใดขึ้นอีกในอนาคต
Disclaimer : คอลัมน์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของ EXIM BANK