BSF ช่วยแก้ปัญหาตราสารหนี้ภาคเอกชนได้อย่างไร
ในช่วงเดือน มี.ค. ถึง เม.ย. ที่ผ่านมา ตลาดตราสารหนี้มีความผันผวนค่อนข้างรุนแรงซึ่งสะท้อนได้จากมูลค่าของเงินลงทุน
หรือราคาของตราสารหนี้ทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งระยะสั้น กลาง และยาวที่ปรับตัวลดลงโดยพร้อมเพรียงกัน สาเหตุหลักเกิดจากความกังวลจากการระบาดของไวรัส COVID-19 และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ทำให้ตลาดอยู่ในภาวะ risk-off และนักลงทุนต่างเทขายตราสารหนี้อย่างตื่นตระหนกในทุกราคา (panic sell) เพื่อถือเงินสดในระยะเวลาอันรวดเร็ว
ในส่วนของตราสารหนี้ภาคเอกชนหรือหุ้นกู้ก็ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเช่นกันจากการประกาศ lock down ประเทศตั้งแต่เดือนกลางมีนาคมที่ผ่านมา ทำให้ธุรกิจส่วนใหญ่หยุดชะงักชั่วคราว หรือสามารถดำเนินธุรกิจได้เพียงบางส่วน ส่งผลให้รายได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ค่าใช้จ่ายบางส่วน (รวมถึงภาระดอกเบี้ยและหนี้สินต่างๆ) ไม่สามารถปรับลดลงได้ ทำให้บริษัทผู้ออกตราสารหนี้หลายรายมีความเสี่ยงต่อการขาดสภาพคล่อง ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ (Default risk) รวมถึง ความสามารถในการออกหุ้นกู้ทดแทน (roll-over) หุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอน โดยเฉพาะหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือระดับ BBB+ หรือแม้แต่ผู้ออกหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูงกว่านี้ แต่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจาก COVID-19 ก็อาจเผชิญกับความท้าทายในการออกทดแทนหรือออกหุ้นกู้ใหม่เนื่องจากความต้องการในตลาดมีไม่มากพอ และสภาพคล่องในตลาดที่ยังไม่ปกติ จากผลกระทบข้างต้นส่งผลให้ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ภาคเอกชน (credit spread) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งการปรับตัวเพิ่มขึ้นนั้นไม่ได้สะท้อนคุณภาพเครดิตของผู้ออกหุ้นกู้เท่าไรนัก เนื่องจากเป็นการปรับขึ้นทุกอันดับความน่าเชื่อถือและทุกช่วงอายุ ไม่เว้นแม้กระทั่งหุ้นกู้อันดับความน่าเชื่อถือสูงสุดอย่าง AAA ที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปีก็ตาม
ปัจจุบัน ตลาดตราสารหนี้เอกชนเป็นช่องทางการออมที่สำคัญของประชาชนและการระดมทุนของภาคธุรกิจ โดยมียอดคงค้างประมาณ 3.6 ล้านล้านบาท หรือกว่า 20% ของ GDP หากกลไกตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนไม่สามารถทำงานได้ปกติ หรือผู้ลงทุนขาดความเชื่อมั่นในการลงทุน การระดมทุนหรือต่ออายุหนี้ (rollover) ของธุรกิจจะทำได้ยาก แม้ธุรกิจที่มั่นคงก็อาจจะไม่สามารถระดมทุนได้หรือต้องระดมทุนด้วยต้นทุนที่สูงขึ้นมาก จึงมีความเสี่ยงที่ปัญหาการขาดสภาพคล่องจะลุกลามในวงกว้าง เป็นปัญหาเชิงระบบตามมา ดังนั้น คณะรัฐมนตรีจึงออกมาตรการด้านการเงินและการคลังผ่านพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) จำนวน 3 ฉบับ เริ่มบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 เม.ย.2563 ที่ผ่านมา โดยในส่วนของพ.ร.ก.การเงิน 2 ฉบับ มูลค่ารวม 9 แสนล้านบาทนั้น ได้ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อเติมสภาพคล่องให้ระบบการเงินผ่านการออกเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) วงเงิน 5 แสนล้านบาท และเพื่อดูแลเสถียรภาพทางการเงินวงเงิน 4 แสนล้านบาท ซึ่งจะนำไปตั้งกองทุนรวม Corporate Bond Liquidity Stabilization (BSF) เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้ที่ไม่ปกติและเบาบาง โดยกองทุนจะเข้าไปลงทุนในตราสารหนี้ที่ถึงกำหนดชำระและต้องการกู้ยืมต่อ (roll over) โดยจะเน้นตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีคุณภาพแต่ประสบปัญหาสภาพคล่องเป็นการชั่วคราวจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 โดยผู้ออกหุ้นกู้ก็ต้องหาสภาพคล่องด้วยตัวเองอย่างน้อย 50% และกองทุนจะเข้าไปเติมเงินให้อีก 50% การจัดตั้งกองทุน BSF จึงถือเป็นการสนับสนุนสภาพคล่องสำรอง (backstop) สำหรับตราสารหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในช่วงปี 2563-2564 แต่อย่างไรก็ตามบริษัทที่ขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนฯ จะต้องชำระอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าอัตราตลาด ต้องระดมทุนส่วนใหญ่ได้จากแหล่งเงินทุนอื่นก่อน เช่น การกู้เงินธนาคารพาณิชย์หรือการเพิ่มทุน ต้องมีแผนการจัดหาทุนในระยะยาวที่ชัดเจน รวมทั้งต้องผ่านเกณฑ์และปฏิบัติตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำกับกองทุนกำหนด กองทุน BSF จึงน่าจะเป็นช่องทางสุดท้ายที่บริษัทจะเลือก
บริษัทจัดการคาดว่าวงเงินของกองทุน BSF มูลค่า 4 แสนล้านบาทนั้นเป็นเม็ดเงินที่เพียงพอต่อการ Roll Over สำหรับหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในช่วงที่เหลือของปี 2563 ซึ่งมีมูลค่ารวมประมาณ 6 แสนล้านบาท โดยคาดว่าความต้องการใช้เงินกองทุนอาจจะไม่ได้สูงมาก ภายหลังมูลค่าการออกตราสารหนี้เอกชนในตลาดแรกช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมานั้นที่เริ่มมีสัญญาณดีขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ของหลายบริษัท นอกจากนี้ การจัดตั้งกองทุน BSF จะช่วยทำให้กลไกการทำงานของตลาดตราสารหนี้ไทยโดยเฉพาะตราสารหนี้เอกชนเป็นปกติมากขึ้น และสามารถฟื้นฟูความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดตราสารหนี้ได้ อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่า ตลาดยังคงมีความกังวลถึงอันดับเครดิตตราสารหนี้ภาคเอกชน ตลอดจนความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออกตราสารหนี้หลายราย จึงทำให้อัตราผลตอบแทนและ credit spread ของหุ้นกู้ภาคเอกชนในตลาดรองจะยังคงอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ หากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ดีขึ้น ธุรกิจต่างๆ กลับมาดำเนินการได้ตามปกติ เราคาดว่าสถานการณ์การลงทุนในตราสารหนี้เอกชนจะปรับดีขึ้นตามลำดับ