‘Policy Lab’ การสร้างนโยบายในศตวรรษที่ 21

‘Policy Lab’ การสร้างนโยบายในศตวรรษที่ 21

โลกปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีความท้าทายที่เกิดจากด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี ภูมิรัฐศาสตร์โลก

ตลอดจนโรคระบาดโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศและประชาชนในทุกประเทศเป็นวงกว้าง

การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและความคาดหวังที่มากขึ้นของประชาชนนำมาสู่กระบวนการจัดทำนโยบายแบบใหม่เพื่อให้เหมาะกับศตวรรษที่ 21 เราจึงได้ยินคำว่าห้องปฏิบัติการนโยบาย หรือ Policy Lab และห้องปฏิบัติการนวัตกรรมภาครัฐ หรือ Government Innovation Lab เกิดขึ้นจำนวนมากทั้งในต่างประเทศและในประเทศไทย

การจัดทำนโยบายในรูปแบบใหม่ๆ     ผ่าน Policy Lab มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อเปิดพื้นที่การทดลองและสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างนวัตกรรมนโยบายใหม่ๆ กระบวนการทำงานแบบนี้เป็นที่นิยมใช้ในระดับนานาชาติในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเชิงนโยบายในช่วงที่ผ่านมาอย่างมาก ตัวอย่างที่โดดเด่นเช่น Policy Lab ของสหราชอาณาจักร  ข้อดีของการทำงานแบบห้องปฏิบัติเหล่านี้คือ การส่งเสริมความคล่องตัวและความคิดริเริ่มร่วมรังสรรค์ไอเดียใหม่ๆ จากจุดแข็งของผู้เชี่ยวชาญที่หลากหลาย บนการทำงานแบบเครือข่ายร่วมกับประชาชน ภาคธุรกิจและภาคประชาสังคม

สำหรับในประเทศไทยนั้น มูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation) ได้มีโอกาสร่วมขับเคลื่อนห้องปฏิบัติการนโยบาย หรือ Policy Lab กับหลายองค์กรชั้นนำของประเทศไทยในขณะนี้ เช่น แพลตฟอร์มเพื่อสร้างนวัตกรรมทางนโยบายที่มีชื่อว่า “Thailand Innovation Policy Accelerator” หรือ (TIPA) ของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)  ห้องปฏิบัติการนโยบายของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ Policy Lab of GISTDA  และ DES Policy Lab ของ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมถึงโครงการห้องปฏิบัติการนวัตกรรมภาครัฐ (Government Innovation
 Lab) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) 

ในอดีตที่ผ่านมา ปัญหาสำคัญของการจัดทำนโยบายอย่างหนึ่งคือการกำหนดนโยบายแบบเหมารวมและอาจไม่ได้ออกแบบนโยบายให้ตอบโจทย์ประชาชนที่มีความหลากหลายทั้งในเชิงกลุ่มประชาชนและในเชิงพื้นที่  จุดเด่นของการจัดทำ Policy Lab คือ การนำเอาหลักการมนุษย์เป็นศูนย์กลาง (Human Centric Approach) เป็นหัวใจในการออกแบบนโยบาย นอกจากนี้ การวิเคราะห์ความหวังและความหวาดกลัวของประชาชน การทำความเข้าใจความต้องการของกลุ่มเป้าหมายและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตลอดจนหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง ผ่านกระบวนการการทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งโดยใช้เครื่องมือต่างๆ ทั้งการวิเคราะห์ข้อมูล การสัมภาษณ์เชิงลึก การฟังอย่างลึกซึ้ง การวิจัย การใช้หลักฐานเชิงประจักษ์อย่างข้อมูลภูมิสารสนเทศและการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่จะนำไปสู่การสร้างนโยบายบนฐานความเข้าอกเข้าใจ (Empathy-based Policies) ประชาชน

การออกแบบนโยบายผ่าน Policy Lab ไม่เพียงยึดการออกแบบโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง แต่ยังมีหลักการออกแบบที่ต้องให้ความสำคัญอย่างน้อย 3 เรื่องใหญ่ๆ ได้แก่

ประการแรก ต้องคิดและมองภาพใหญ่เชิงระบบ (System Design)

บ่อยครั้งเราจะเห็นการพยายามออกแบบนโยบายเพื่อตอบโจทย์กลุ่มประชาชน โดยเลือกเอาประชาชนมาเป็นตัวอย่าง ศึกษา Persona หรือ User Profile ของประชาชน ซึ่งหลายครั้งพบว่าผู้ศึกษาได้ลงลึกไประดับรายบุคคลมากจนเกินไป ท้ายที่สุด นโยบายที่ออกมาจึงกลายเป็นตอบโจทย์กลุ่มคนกลุ่มเล็กๆ ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาเชิงระบบ หรือมีผลกระทบในวงกว้างได้  ดังนั้น การมองภาพใหญ่ ภาพเชิงระบบและภาพกว้าง โดยการวิเคราะห์ระบบและภูมิทัศน์ทางนโยบายของประเด็นศึกษา การเรียนรู้เกี่ยวกับการออกแบบนโยบายสาธารณะ (Policy Design) การมองภาพเชิงระบบ การจัดทำแผนผังของระบบ (System Map)  ตลอดจนการวิเคราะห์แผนผังผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder Mapping) เหล่านี้จึงมีความสำคัญมาก เพื่อป้องกันไม่ให้ผลลัพธ์สุดท้ายของการทำ Policy Lab เป็นเพียงบริการภาครัฐหรือเครื่องมือบางอย่าง แต่ควรมีผลลัพธ์เป็นนวัตกรรมทางนโยบายที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้างและช่วยแก้ไขปัญหาในเชิงระบบของประเด็นนโยบายที่ต้องการแก้ไข

ประการที่สอง คิดและเห็นอนาคต (Foresight)

การคิดเชิงอนาคตจะช่วยให้การวางนโยบายมองไปได้ไกล เห็นสภาพแวดล้อมในอนาคต เห็นถึงความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นและส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อนโยบาย ช่วยให้สามารถวางแผนให้ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลง การทำนโยบายจึงต้องคำนึงถึงฉากทัศน์ภาพอนาคตควบคู่ไปด้วย   โดยเฉพาะอย่างยิ่งโจทย์การคิดฉากทัศน์ภาพอนาคตประเทศไทยในบริบทหลังโควิด-19  การออกแบบนโยบายต้องคิดและปรับข้อเสนอนโยบาย มาตรการ โครงการต่างๆ ให้ทันกับความจริงใหม่ และรองรับกับฉากทัศน์อนาคตต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้     

ประการที่สาม ออกแบบนโยบายมาให้ปฏิบัติได้จริง

การคิดออกแบบ “นวัตกรรมเชิงนโยบาย” (Policy Innovation)  ต้องเป็นนโยบายที่จับต้องได้ และปฏิบัติได้จริง จึงจำเป็นต้องมีหน่วยงานเจ้าภาพหลักมาเข้าร่วมกระบวนการเพื่อสร้างนวัตกรรมเชิงนโยบายร่วมกัน ตลอดจนนำประชาชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เข้ามาร่วมสร้างไอเดีย (Co-Creation) เพื่อให้ทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของนโยบายร่วมกัน 

การพัฒนานโยบายใหม่เป็นเรื่องที่ท้าทายและสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้สถานการณ์โควิดปัจจุบันที่มีความไม่แน่นอนสูง การออกแบบนโยบายจึงต้องเข้าใจระบบและประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายเพื่อแปลงความเข้าใจเหล่านั้นมาเป็นนโยบายใหม่ๆ ที่สอดรับกับโลกอนาคตและโดนใจประชาชน

เพื่อให้เกิดนโยบายที่ดี หน่วยงานภาครัฐชั้นนำต่างๆของประเทศไทยควรริเริ่มจัดทำ Policy Lab และเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายกับ Policy Lab ของหน่วยงานอื่นๆ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และร่วมกันทำงานให้ตอบโจทย์อนาคตของประเทศไทยท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

โดย...

ประกาย ธีระวัฒนากุล

ธราธร รัตนนฤมิตศร

สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation)

https://www.facebook.com/thailandfuturefoundation/