อย่าให้การ์ดตก VS Animal Spirits
“Even apart from the instability due to speculation, there is the instability due to the characteristic of human nature that
a large proportion of our positive activities depend on spontaneous optimism rather than mathematical expectations, whether moral or hedonistic or economic. Most, probably, of our decisions to do something positive, the full consequences of which will be drawn out over many days to come, can only be taken as the result of animal spirits-a spontaneous urge to action rather than inaction, and not as the outcome of a weighted average of quantitative benefits multiplied by quantitative probabilities.” From “The General Theory of Employment, Interest and Money” (1936) John Maynard Keynes
ผมขอนำเอาข้อเขียนของ John Maynard Keynes เกี่ยวกับ “animal spirits” มาให้อ่านแบบค่อนข้างจะเต็มฉบับ แม้ว่าจะดูยืดเยื้อและอ่านเข้าใจยาก แต่ผมเห็นว่าการทำความเข้าใจเกี่ยวกับ “animal spirits” หรือความ “กล้าได้-กล้าเสีย” ของมนุษย์ในความคิดของ Keynes นั้นมีประโยชน์อย่างมากในช่วงนี้ที่เราคาดหวังว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถฟื้นตัวจากวิกฤติ COVID-19 ได้
หลายคนจะทราบว่าทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ของ Keynes นั้นทำให้เกิดแขนงวิชาขึ้นมาใหม่อีกแขนงหนึ่งคือเศรษฐศาสตร์มหภาค กล่าวคือก่อนหน้าที่ Keynes จะเขียนหนังสือ (ที่ต่อมาเป็นต้นตำราทางเศรษฐศาสตร์มหภาค) ที่ชื่อว่า “The General Theory of Employment, Interest and Money” นั้น ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์สอนเอาไว้ว่าเศรษฐกิจจะปรับตัวเข้าสู่ดุลยภาพและดุลยภาพดังกล่าวจะเป็นดุลยภาพที่มีเสถียรภาพและใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ของระบบเศรษฐกิจ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงาน) อย่างเต็มศักยภาพอีกด้วย
แต่ Keynes ชี้ให้เห็นว่าในช่วงระยะสั้นนั้นมีความเป็นไปได้มากว่าเศรษฐกิจอาจติดกับดักของความถดถอย ส่วนหนึ่งเพราะราคาสินค้าและโดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าจ้างแรงงานไม่สามารถปรับตัวลงได้ (price rigidity) และประชาชนอยู่ในภาวะขาดความมั่นใจซึ่งภาวะดังกล่าวอาจยืดเยื้อได้เป็นเวลานาน รัฐบาลจึงจะต้องเข้ามาแทรกแซงโดยการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้น
แต่เมื่อกล่าวถึง “ความมั่นใจ” นั้นก็มักจะพูดกันลอยๆ ว่ารัฐบาลควรจะวาดภาพในแง่ดีและสนับสนุนการลงทุนและการใช้จ่ายของนักธุรกิจและของประชาชน แต่อันที่จริงแล้ว Keynes มีความคิดที่ลึกซึ้ง (insight) อย่างมากเกี่ยวกับจิตวิทยาของมนุษย์ว่า “a large proportion of our positive activities depend on spontaneous optimism rather than mathematical expectations” หรือที่ผมแปลว่า การกระทำส่วนใหญ่ของมนุษย์นั้นทำไปเพราะการมองอนาคตในแง่ดีมากกว่าการตัดสินใจจากข้อมูล และตัวเลขคาดการณ์เกี่ยวกับข้อเสนอโครงการลงทุนที่มีอยู่ในมือ ในหลายครั้งนักวิเคราะห์และนักธุรกิจจะพูดเหมือนกันว่าแบบจำลองตัวเลขและการคำนวณผลกำไรที่เราทำกันขึ้นมาประเมินความน่าลงทุนของโครงการนั้น ก็เป็นผลมาจากสมมุติฐานเกี่ยวกับตัวแปรที่สำคัญๆ ที่สามารถผิดพลาดได้อย่างมาก
ดังนั้นการตัดสินใจจะลงทุนหรือไม่ลงทุนนั้น Keynes จึงกล่าวว่า “can only be taken as the result of animal spirits-a spontaneous urge to action rather than inaction” หรือที่ผมแปลว่านักธุรกิจและนายทุนจะตัดสินใจว่าจะเดินหน้าทำโครงการหรือนั่งเฉยๆ ไม่ทำอะไรเลยก็จะเป็นเพราะมีความรู้สึกกล้าได้-กล้าเสียมากน้อยเพียงใด ไม่ใช่เพราะตัวเลขที่ได้มาจากการคาดการณ์
ในระยะหลังนี้เราทราบกันดีว่านักเศรษฐศาสตร์ละนักจิตวิทยาก็ทำการวิจัยร่วมกันและพบว่ามนุษย์นั้นมิได้ใช้เหตุผลในการตัดสินใจเสมอไปและในบางกรณีการตัดสินใจก็กระทำอย่างไร้เหตุผล (irrational)
ในภาวะปัจจุบันเราถูกตักเตือนอย่างต่อเนื่องว่าอย่าให้การ์ดตกและให้เตรียมตัวรับการระบาดรอบที่ 2 นอกจากนั้นเราก็ยังได้อ่านข่าวว่ามีการระบาดของ COVID-19 เพิ่มขึ้นในประเทศนั้นประเทศนี้ และยังมีการตีข่าวอีกด้วยว่าบางคน (หลายคน?) ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการของโรค
ในประเทศไทยเราเห็นการประกาศของแบงก์ชาติให้สถาบันการเงินช่วยดูแลและผ่อนปรนให้กับลูกหนี้ 15 ล้านรายและห้ามไม่ให้ธนาคารจ่ายเงินปันผลหรือซื้อหุ้นของตัวเอง การส่งสัญญาณดังกล่าวตีความได้ว่าลูกหนี้ปัจจุบันของสถาบันการเงินคงจะต้องมีปัญหาอย่างมากแน่ๆ จึงต้องมารีบดูแลและธนาคารก็ต้องกักตุนเงินกองทุนของตนเอาไว้ให้มากๆ เพื่อรักษาเสถียรภาพ
ภายใต้บรรยากาศดังกล่าว Animal Spirits น่าจะตกต่ำอย่างเปรียบเทียบได้ยากและความ “กล้าได้-กล้าเสีย” ของนักธุรกิจและนักลงทุนน่าจะไม่มีหลงเหลืออยู่มากและหากยังมีหลงเหลืออยู่ กล่าวคือมีนักธุรกิจที่คิดทำธุรกิจใหม่หรือลงทุนในผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ก็คงจะต้องเผชิญกับความยากลำบากอย่างมากในการโน้มน้าวให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อให้ เพราะธนาคารคงจะมุ่งเน้นการดูแลและเยียวยาสินเชื่อเดิมที่กำลังด้อยคุณภาพลง
แต่ดังที่ทราบกันดีว่าตัวแปรที่ขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะสั้นที่ดีที่สุดคือ “การลงทุน”เพราะมักจะเป็นการลงทุนที่นำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้และเป็นการผลิตสินค้าและบริการใหม่ๆ และจ้างงานกับใช้ทรัพยากรต่างๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งเราก็ทราบดีว่าความกล้าหรือไม่กล้าลงทุนนั้นขึ้นอยู่กับ animal spirits ของผู้ประกอบการว่า ณ วันนี้เขาจะมี “spontaneous urge to action rather than inaction” ในบรรยากาศที่รัฐบาลสร้างเอาไว้ในขณะนี้หรือไม่
สรุปสั้นๆ เศรษฐกิจไทยจะฟื้นจาก COVID-19 หรือไม่นั้น น่าจะต้องเป็นผลมาจากการสร้างบรรยากาศให้ประชาชนและผู้ประกอบการมีความมั่นใจและมีความกล้าได้-กล้าเสีย แต่หากให้ตั้งการ์ดอย่างไม่มีที่สิ้นสุดก็ดูเหมือนว่าจะให้เน้นการ “กลัวเสีย” มากกว่า “กล้าได้” และเมื่อยึดติดกับการกลัวเสียก็จะไม่มีใครกล้าทำอะไรและเศรษฐกิจก็จะตกหล่มของความตกต่ำต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด กล่าวคือจะมีแต่ “inaction” หรือ “no action”
นอกจากนั้นเมื่อประเทศไทยปลอดเชื้อไปนานแล้วแต่ก็ยังบังคับให้ทุกคนต้องใส่หน้ากากตลอดเวลา ก็จะทำให้ “จุดขาย” และ “จุดแข็ง” ของประเทศไทยที่เป็น The Land of Smiles” ก็จะเจือจางลงไปด้วยครับ