เมื่ออปท. “ไม่ยอมรับ” สาธารณูปโภคจัดสรร
พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การจัดสรรที่ดิน 2543 มาตรา 44 "ผู้จัดสรรที่ดินจะพ้นจากหน้าที่บำรุงรักษาสาธารณูปโภค ตามมาตรา 43
เมื่อได้ดำเนินการอย่างใด อย่างหนึ่ง ภายหลังจากครบกำหนดระยะเวลาที่ผู้จัดสรรที่ดินรับผิดชอบการบำรุงรักษาสาธารณูปโภค ตามมาตรา 23 (5) แล้ว “ตามลำดับ” ดังต่อไปนี้ (1) ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร หรือนิติบุคคลตามกฎหมายอื่นเพื่อรับโอนทรัพย์สินดังกล่าวไปจัดการ และดูแลบำรุงรักษาภายในระยะเวลาที่ผู้จัดสรรที่ดินกำหนด ซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 180 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากผู้จัดสรรที่ดิน (2) ผู้จัดสรรที่ดินได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ(คกก.)ให้ดำเนินการอย่างหนึ่ง อย่างใด เพื่อการบำรุงรักษาสาธารณูปโภค และ (3) ผู้จัดสรรที่ดินจดทะเบียนโอนทรัพย์สินดังกล่าวให้เป็นสาธารณประโยชน์ การดำเนินการตาม (1) และ (2) ให้เป็นไปตามระเบียบ คกก.จัดสรรที่ดินกลางกำหนด ทั้งนี้ ผู้จัดสรรที่ดินต้องรับผิดชอบจำนวนเงินค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภคส่วนหนึ่งด้วย"
แปลความ มาตรา 44 ข้างต้น หมายความว่า เมื่อผู้จัดสรรที่ดินประสงค์ขอพ้นหน้าที่การบำรุงรักษาสาธารณูปโภค โดยผู้ซื้อที่ดินจัดสรรไม่สามารถจัดตั้ง “นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร” หรือนิติบุคคลตามกฎหมายอื่น ภายในระยะเวลา 180 วัน ให้ผู้จัดสรรที่ดินจัดทำแผนงานบำรุงรักษาสาธารณูปโภคเสนอ คกก. ซึ่งหากผู้ซื้อที่ดินจัดสรรปฏิเสธแผนงานบำรุงรักษาสาธารณูปโภคดังกล่าว ให้ผู้จัดสรรที่ดินจดทะเบียนโอนสาธารณูปโภคให้เป็นสาธารณประโยชน์
บรรดาผู้ที่คลุกคลีระบบการจัดสรรที่ดิน ต่างเข้าใจดีกับแนวทางการขอพ้นหน้าที่ตามมาตรา 44 โดยเฉพาะการจดทะเบียนโอนสาธารณูปโภคให้เป็น “สาธารณประโยชน์” ตามระเบียบ คกก.จัดสรรที่ดินกลาง ปี 2545
ทั้งนี้ เมื่อผู้จัดสรรที่ดินดำเนินการครบทั้ง 2 แนวทางแล้ว ผู้จัดสรรที่ดินสามารถนำโฉนดที่ดิน มอบให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด หรือจังหวัดสาขา จดทะเบียนโอนให้เป็นสาธารณประโยชน์แก่องค์กรปกครองท้องถิ่น(อปท.)ได้ทันที
เมื่อพ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน (ฉบับที่ 2) 2558 บังคับใช้ตั้งแต่ พ.ย.2558 และระเบียบ คกก.จัดสรรที่ดินกลางว่าด้วยการโอนสาธารณูปโภคให้แก่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร หรือนิติบุคคลตามกฎหมายอื่น และการขออนุมัติดำเนินการเพื่อการบำรุงรักษาสาธารณูปโภค หรือดำเนินการจดทะเบียนโอนทรัพย์สินให้เป็นสาธารณประโยชน์ 2559 ตั้งแต่ 1 ก.ค.2559 จะพบ “ข้อแตกต่าง” จากพ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน 2543 มาตรา 44 (2) - (3) และระเบียบ คกก.จัดสรรที่ดินกลางว่าด้วยการจัดทำแผนงานบำรุงรักษาสาธารณูปโภค และการจดทะเบียนโอนสาธารณูปโภคให้เป็นสาธารณประโยชน์ 2545 ยังคงความตามมาตรา 44 (1) และ (2) และ (3) ให้รวมเป็นอนุมาตราเดียว
ระเบียบ คกก.จัดสรรที่ดินกลางว่าด้วยการโอนสาธารณูปโภคให้แก่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรหรือนิติบุคคล ตามกฎหมายอื่นและการขออนุมัติดำเนินการเพื่อกาบำรุงรักษาสาธารณูปโภค หรือจดทะเบียนโอนทรัพย์สินให้เป็นสาธารณประโยชน์ 2559 หมวด 3 ข้อ 18. และข้อ 19. (4) “หลักฐานการรับทราบจากหน่วยงานที่จะรับโอนทรัพย์สินอันเป็นสาธารณูปโภคให้เป็นสาธารณประโยชน์”
ข้อกำหนดดังกล่าว หมายถึง หนังสือตอบรับ หรือแสดงความประสงค์ หรือยินยอมรับโอนทรัพย์สินอันเป็นสาธารณูปโภคจากอปท. ผู้จัดสรรที่ดิน มีหน้าที่ต้องแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินฯ พร้อมเอกสารหลักฐานอื่น เจ้าพนักงานที่ดินฯ จึงจะจดทะเบียนโอนทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่ผู้จัดสรรที่ดิน หากไม่มีหนังสือ “รับทราบ” จากอปท. เจ้าพนักงานที่ดินฯ ก็มิอาจจดทะเบียนโอนทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่ อปท.ได้
อย่างไรก็ตาม ผู้จัดสรรที่ดิน “จำนวนไม่น้อย” ประสบปัญหาที่ อปท. “หลายแห่ง” ไม่ยินยอมรับโอนทรัพย์สินอันเป็นสาธารณูปโภค และค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภคจากผู้จัดสรรที่ดิน อาจเกิดจากหลายสาเหตุ กรณี ทั้งงบประมาณส่วนกลางจัดสรรสู่ท้องถิ่น มีไม่เพียงพอ พนักงานเจ้าหน้าที่ฯ อาจมีจำนวนจำกัด หรือเหตุอื่นๆ เป็นต้น จึงเกิดคำถามว่า ความผิดอยู่ที่ผู้ใด ผู้ซื้อที่ดินจัดสรร หรือกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน ฉบับแก้ไขฯ หรือระเบียบ คกก.จัดสรรที่ดินกลาง ปี 2559 หรือ อปท. แม้ผู้จัดสรรที่ดินได้แสดงสำเนารายงานการประชุมผู้ซื้อที่ดินจัดสรรที่มีมติเห็นชอบให้ “กรมที่ดิน” ได้รับทราบแล้วว่า จะมีการโอนทรัพย์สินอันเป็นสาธารณูปโภคให้เป็นสาธารณประโยชน์แก่อปท.
คำตอบที่ได้จาก “กรมที่ดิน” เมื่อ อปท. ไม่ยินยอมรับโอนทรัพย์สิน ผู้จัดสรรที่ดินก็ยังคงมีหน้าที่การบำรุงรักษาทรัพย์สินอันเป็นสาธารณูปโภค ตามมาตรา 43 ของพ.ร.บ.การจัดสรรที่ดินฯ ต่อไป