การศึกษาขั้นพื้นฐานคือรากฐานที่แท้จริง
ร.ร.เปิดเทอมมาได้เกือบ 2 อาทิตย์แล้ว หลายคนคงโล่งใจที่ยอดผู้ติดเชื้อในประเทศไม่พุ่ง และคงโล่งใจด้วยที่ นร.จะได้กลับมาเรียนหนังสือกันเสียที
งานวิจัยของอาร์เธอร์ เอฟ โฟเชย์ ในปี 2505 ถือเป็นวิจัยชิ้นแรกๆ ที่มีการประเมินผลสัมฤทธิ์จากการเรียนรู้ของนักเรียนในระดับนานาชาติ กลายเป็นต้นแบบของงานวิจัยหัวข้อนี้อีกเป็นจำนวนมากในช่วงกว่า 60 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้งานของอาร์เธอร์ยังส่งผลให้มีการสำรวจผลการเรียนรู้ในระดับนานาชาติเพื่อเปรียบเทียบว่าการศึกษาขั้นพื้นฐานของแต่ละประเทศมีความก้าวหน้าแค่ไหน
ทางด้านเศรษฐศาสตร์ มีการนำข้อมูลผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานมาใช้ประโยชน์หลายด้านด้วยกัน เช่นระดับความสำเร็จของการเรียนระดับมหาวิทยาลัย ค่าแรงที่ได้รับความสามารถในการเรียนของลูก และการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เป็นต้น
งานวิจัยของฮานูเช็คและวอสแมนในปี 2553 ได้ข้อสรุปอันหนึ่งที่มีผลในเชิงนโยบายสูงมาก แล้วควรนำมาใช้เพื่อประเมินว่านโยบายที่จะเพิ่มจำนวนใบปริญญาในประเทศแบบไร้การควบคุมเป็นหนทางที่ถูกต้องในการพัฒนาประเทศหรือไม่
ก่อนหน้านี้ งานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์มักให้ความสนใจกับบทบาทของการศึกษาว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้มากน้อยแค่ไหน โดยใช้จำนวนปีเฉลี่ยของการเรียนของประชากรมาเป็นตัวแทนของระดับทุนมนุษย์ในประเทศ การวัดแบบนี้เข้าทางประเทศที่พัฒนาแล้ว เพราะมีคนจบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยมาก เลยมีระดับการศึกษาเฉลี่ยสูงตามไปด้วย
ผลการศึกษาที่ใช้การศึกษาเฉลี่ยมาแทนระดับทุนมนุษย์ในประเทศนำไปสู่ข้อสรุปเชิงนโยบายว่า ถ้าอยากจะให้ประเทศก้าวหน้าก็ควรเพิ่มจำนวนคนที่จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยประเทศไทยเอง ก็เอาข้อสรุปนี้มาเป็นต้นแบบเพื่อร่างนโยบายเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม การสรุปรวบยอดแบบนี้มองข้ามข้อเท็จจริง 2 เรื่อง เรื่องแรก จำนวนปีการศึกษาเป็นเพียงดัชนีหยาบๆ เท่านั้น ลองนึกดูว่าถ้าคนไทยทุกคนเรียนจบปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ ทำให้ประเทศไทยมีระดับการศึกษาเฉลี่ยสูงที่สุดในโลก ประเทศไทยจะกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกหรือไม่
แต่ละประเทศมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจแตกต่างกัน มีจุดเด่นไม่เหมือนกัน ต้องการทักษะแต่ละด้านมากน้อยแตกต่างกันไป การส่งเสริมให้คนเรียนสูง โดยไม่ใส่ใจความต้องการที่แท้จริงของตลาดแรงงานในประเทศ ไม่มีทางจะทำให้ประเทศก้าวหน้าได้
เรื่องที่ 2 ซึ่งเป็นข้อสรุปจากงานของฮานูเช็คและวอสแมน คือหากปรับแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ที่ใช้ในการวิเคราะห์ โดยเพิ่มตัวแปรทักษะในการเรียนรู้และผลการศึกษาขั้นพื้นฐานเข้าไป ความสำคัญของระดับการศึกษาเฉลี่ยของประเทศจะลดลงเป็นอย่างมาก และทักษะในการเรียนรู้และผลการศึกษาขั้นพื้นฐานกลายเป็นตัวแปรที่มีความสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากกว่าเสียอีก
ผลที่ได้นี้สอดคล้องกับแนวคิดการวิเคราะห์โครงสร้างทางเศรษฐกิจเชิงลึกที่มองว่ารายได้ประชาชาติของประเทศเกิดจากกระบวนการผลิตเป็นลำดับขั้น ตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบ แปรรูปวัตถุดิบจนกลายเป็นสินค้าและบริการ
การผลิตแต่ละขั้นต้องการทุนมนุษย์ที่แตกต่างกันไปตามลักษณะของงาน คนงานเหมืองแร่ต้องการทักษะแบบหนึ่ง คนงานในโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ก็ใช้ทักษะอีกแบบหนึ่ง ซึ่งทักษะเหล่านี้ย่อมแตกต่างกับทักษะที่ผู้จัดการฝ่ายการตลาดของบริษัทขายรถยนต์ต้องใช้
อย่างไรก็ตาม ทักษะเหล่านี้เป็นถูกสร้างขึ้นมาบนทักษะพื้นฐานชุดเดียวกัน ซึ่งเรียกว่า “การศึกษาขั้นพื้นฐาน” ที่เป็นตัวหล่อหลอมกระบวนการคิด วิธีการมองโลก กำหนดทัศนคติ วัฒนธรรม และรูปแบบในการทำงานของคนในประเทศ
ด้วยเหตุนี้ประเทศที่มีระดับการโดยเฉลี่ยสูงแต่มีคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่ดีพอ จึงมักจะประสบกับปัญหาด้านการแข่งขันและการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว ถูกประเทศที่มาทีหลังแซงหน้าไปได้ง่ายๆ
ผลกระทบทางการคลังที่ตามมาจากคุณภาพการศึกษาที่ตกต่ำ คือรัฐบาลจะเก็บภาษีได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น เพราะภาษีมาจากรายได้ของประชาชน หากประชาชนมีคุณภาพรายได้ต่อหัวก็จะสูงทำให้เก็บภาษีได้มากขึ้น ทำให้รัฐมีเงินไปลงทุนในการพัฒนาประเทศและพัฒนาคนได้อย่างต่อเนื่อง
รัฐบาลที่เห็นความสำคัญของการพัฒนาประเทศและคุณภาพชีวิตของประชาชน ต้องยอมรับความจริงให้ได้ว่าการเพิ่มจำนวนปริญญาโดยไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดเป็นการผลาญทรัพยากรของส่วนรวมโดยใช่เหตุ มายาคติผิดๆ ที่คิดว่าต้องเรียนจบปริญญา ควรจะถูกแทนที่ด้วยทัศนคติที่ส่งเสริมให้นักเรียนได้ค้นหาความถนัดและความชอบที่แท้จริงของเขา แล้วส่งเสริมเขาให้พัฒนาทักษะเหล่านั้นให้ถึงขีดสุด
การศึกษาขั้นพื้นฐานที่ดีคือสิ่งที่คนไทยทุกคนควรจะได้ เพราะสิ่งที่ติดตัวพวกเขาจากการศึกษาระดับนี้จะเป็นรากฐานให้เขาไปต่อยอดในสิ่งที่เขาถนัดได้ ไม่ว่าเขาจะเลือกเดินในเส้นทางใดในอนาคต