กฎหมายการแข่งขันทางการค้า ไม่ติด COVID-19
ในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วจะให้ความสำคัญกับ “กฎหมายการแข่งขันทางการค้า” ของประเทศตนเป็นอย่างยิ่ง
เพราะพวกเขาเชื่อว่า กฎหมายการแข่งขันฯ จะสร้างประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการพัฒนากระบวนการผลิตและคุณภาพของสินค้าและบริการกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรม และการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ที่สุดแล้วจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้บริโภคซึ่งก็คือประชาชนทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศนั้นๆ จึงกล่าวได้ว่า กฎหมายการแข่งขันฯ ถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือหลักที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
ไม่เพียงแต่ให้ความสำคัญกับกฎหมายของประเทศตน หากแต่ยังให้ความสำคัญกับกฎหมายการแข่งขันฯ ของประเทศอื่นด้วย ทั้งนี้ด้วยเหตุผลหลักคือ ต้องการคุ้มครองนักธุรกิจของประเทศตนที่ไปลงทุนยังประเทศอื่น ให้ได้รับการปฏิบัติทางการค้าอย่างเป็นธรรม รวมไปถึงป้องกันไม่ให้นักธุรกิจของประเทศตนมีพฤติกรรมทางการค้าที่ขัดต่อกฎหมายการแข่งขันฯ ของประเทศนั้น หรือป้องกันธุรกิจที่มีสาขาอยู่ในประเทศอื่นจะได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมทางการค้าของธุรกิจที่อยู่ในประเทศตน เช่น บริษัท เทสโก้ สโตร์ อิงค์ (Tesco PLC) ประกาศขาย เทสโก้ โลตัส ในไทย และมาเลเซีย โดยหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญที่ทางบริษัทเสนอต่อผู้สนใจประมูลซื้อ คือ การซื้อขายกิจการจะเสร็จสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อ การดำเนินการต่างๆ ไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560
การให้ความสำคัญข้างต้นคือ การแสวงหาความร่วมมือระหว่างประเทศในหลากหลายมิติที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าของประเทศญี่ปุ่น (Japan Fair Trade Commission; JFTC) ได้ทำข้อตกลงร่วมกันกับหลายประเทศ เพื่อลดอุปสรรคต่อการแข่งขันทางการค้า ไม่ว่าจะเป็น แคนาดา อินเดีย มองโกล ฯลฯ สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าของประเทศออสเตรเลีย (Australian Competition and Consumer Commission; ACCC) ถือเป็นหน่วยงานที่เป็นต้นแบบให้กับสำนักงานด้านการแข่งขันทางการค้าของหลายประเทศ ไทยเองก็ได้รับความช่วยเหลือจาก ACCC บ่อยครั้ง ด้วยการรับผู้เชี่ยวชาญมาประจำประเทศไทยเพื่อเป็นที่ปรึกษาและถ่ายทอดความรู้ ทั้งเรื่องการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมและการควบรวมธุรกิจ
ตั้งแต่สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) ภายใต้กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ แยกตัวออกมาเป็นหน่ายงานอิสระตาม พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ได้เร่งสร้างความร่วมมือกับต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับ ACCC ในโครงการความร่วมมือทางวิชาการ (Competition Law Implementation Programme) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและช่วยเหลือทางเทคนิคด้านการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าแก่องค์กรที่เกี่ยวข้องของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยมีเนื้อหาหลักสูตรด้านการสืบสวนสอบสวน การตกลงร่วมกันอันเป็นการผูกขาด จำกัด หรือลดการแข่งขันในตลาด (Cartel Investigation) การเป็นเจ้าภาพร่วมกับองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development; OECD) และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน ในการจัดสัมมนาเพื่อสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องของการแข่งขันทางการค้า และ พ.ร.บ. แข่งขันการค้าฯ ให้กับภาครัฐและเอกชนของไทย การดำเนินโครงการแลกเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ (Staff Exchange Programme) เพื่อฝึกปฏิบัติงานระหว่าง สขค. ไทย และ อินโดนีเซีย ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนการรวมตัวญี่ปุ่น-อาเซียน (Japan-ASEAN Integration Fund; JAIF) เป็นต้น
เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา มีการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการแข่งขันทางการค้า ของอาเซียน (ASEAN Experts Group on Competition; AEGC) ด้วยวิธีออนไลน์ (Online Meeting) เนื่องจากสถานการณ์การระบาดไวรัส COVID-19 ถือเป็นการประชุมทางออนไลน์ครั้งแรกของ AEGC ที่ประชุมมีแถลงการณ์ร่วมกันโดยมีใจความสรุปว่า แม้การระบาดของ COVID-19 จะส่งผลกระทบทางลบต่อระบบเศรษฐกิจ ทั้งในระดับภูมิภาคอาเซียนและระดับโลก แต่กฎหมายการแข่งขันฯของแต่ละประเทศยังคงต้องทรงประสิทธิภาพในการบังคับใช้ และยิ่งจะมีบทบาทเพิ่มขึ้นเพื่อแก้วิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้องค์กรกำกับดูแลด้านการแข่งขันทางการค้าต้องส่งเสริมให้ภาคธุรกิจดำเนินการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม ไม่เกิดการบิดเบือนกลไกตลาด (Market Distortion) และต้องดำเนินการขั้นเด็ดขาดกับธุรกิจที่แสวงหาประโยชน์จากวิกฤต COVID-19 นี้ โดยการเข้าไปมีส่วนร่วมกับพฤติกรรมทางการค้าใดๆ ที่เป็นการใช้อำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบ
ทั้งนี้องค์กรกำกับดูแลด้านการแข่งขันฯ ของแต่ละประเทศสมาชิก ควรเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจของประเทศตน ติดต่อสอบถามหรือขอคำแนะนำต่างๆ เพื่อมิให้พฤติกรรมเหล่านั้นขัดต่อกฎหมายการแข่งขันฯ อย่างไรก็ตาม การขอคำแนะนำนั้นต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายการแข่งขันฯ ของแต่ละประเทศ นอกจากนี้ ยังต้องยกระดับความร่วมมือระหว่างองค์กรทั้งในและนอกภูมิภาค ด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best Practice) เพื่อกำกับกิจกรรมที่จำกัดการแข่งขันทางการค้า เพื่อรักษาสภาพการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมในภูมิภาค และเพื่อผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจจาก COVID-19 ไปด้วยกัน
จะเห็นได้ว่าแม้ COVID-19 จะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงในวงกว้าง แต่การบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันฯ ยังคงต้องดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้น และจะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นก็ต่อเมื่อได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งต้องรู้ เข้าใจ และใช้ประโยชน์จากกฎหมายนี้อย่างเต็มที่