วุฒิภาวะทางการเมืองของคนในชาติเป็นเรื่องใหญ่
ภาวะเดินหน้า 2 ก้าว ถอยหลัง 3 ก้าวของการเมืองบ้านเราไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะเราขาดแคลนนักการเมืองคุณภาพเท่านั้น
ข้อจำกัดอีกอย่างคือคนไทยยังไม่ได้รับการบ่มเพาะวุฒิภาวะด้านการเมืองอย่างเพียงพอ จึงได้เกิดภาวะการเมืองแยกขั้วสุดโต่งเหมือนที่เป็นอยู่ในตอนนี้
โดยหลักแล้ว คนที่มีวุฒิภาวะทางการเมืองสูงจะเป็นคนที่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นเห็นคุณค่าของความหลากหลายทางความคิด พร้อมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น แม้ว่าจะเป็นความเห็นที่แตกต่างจากตนเองอย่างสุดขั้ว รู้จักยืดหยุ่นไม่ยึดเอาจุดยืนและข้อเรียกร้องของตนเองเป็นใหญ่ โดยไม่ใส่ใจผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสังคม ยอมรับกติกาทางการเมือง เคารพกฎหมาย รู้เท่าทันนักการเมือง สามารถแยกแยะระหว่างผลประโยชน์ระยะสั้นและระยะยาว ประเมินการทำงานของนักการเมืองอย่างเป็นกลาง และตัดสินใจเลือกตัวแทนของตัวเองจากผลงานมากกว่าความชอบส่วนตัว
สังคมไหนที่ประกอบไปด้วยประชาชนซึ่งมีวุฒิภาวะทางการเมืองเป็นจำนวนมาก การเมืองของประเทศนั้นก็จะพัฒนาอย่างราบรื่นต่อเนื่อง เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อสังคมขึ้น คนในสังคมนั้นจะสามารถหาทางออกร่วมกันได้ และคนเหล่านี้จะตีกรอบไม่ให้นักการเมืองออกนอกลู่นอกทาง ไม่เทิดทูนบูชานักการเมือง แต่เลือกใช้นักการเมืองเป็นเครื่องมือในการพาประเทศไปข้างหน้าตามที่สังคมต้องการ เมื่อนักการเมืองอยู่กับร่องกับรอยแบบนี้ การก้าวไปข้างหน้าก็ไม่สะเปะสะปะ
ในทางตรงกันข้าม หากคนกลุ่มนี้มีอยู่เป็นจำนวนน้อย ย่อมทำให้สังคมแตกแยกออกเป็นขั้วเป็นฝ่าย ถูกนักการเมืองและผู้ไม่หวังดีแทรกแซงได้ง่าย ต่อให้พยายามอย่างไรก็ไม่มีอำนาจพอจะไปคัดง้างกับนักการเมืองได้ เมื่อไม่มีอำนาจพอจะให้คุณให้โทษ ใครจะไปสนใจเสียงเรียกร้องและความเห็นของพวกเขา
ลองนึกภาพความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ก็พอจะเห็นภาพรางๆ ว่าสิบกว่าปีมานี้จำนวนประชาชนที่มีวุฒิภาวะทางการเมืองในบ้านเมืองเราเพิ่มขึ้นมากแค่ไหน?
ถึงขาดตัวเลขมายืนยันกันชัดเจนก็คงจะพอบอกได้ว่ายังเพิ่มขึ้นไม่มากพอ มิหนำซ้ำในบางกลุ่มในบางพื้นที่อาจมีจำนวนลดลงเสียด้วยซ้ำ จึงส่งผลให้การเมืองไทยยังไปไม่ถึงไหน ประเทศไทยขาดทิศทางการพัฒนาที่ชัดเจนไม่สะท้อนความต้องการที่แท้จริงของประชาชน เราเลยยังวนเวียนติดหล่มไม่สามารถหลุดจากวังวนระยะสั้นเพื่อก้าวไปสู่การพัฒนาระยะยาวได้
นี่ไม่ได้หมายความว่าเราควรหมดหวังกับการเมืองแล้วปล่อยไปตามยถากรรม ถึงแม้ที่ผ่านมาพัฒนาการทางการเมืองของไทยจะลุ่มๆ ดอนๆ ขึ้นบ้างลงบ้างแต่ถ้าดูแนวโน้มหลายสิบปีที่ผ่านมาเราก็พัฒนาไปได้ในระดับหนึ่ง
พัฒนาการนี้ส่วนหนี่งเกิดจากการเสียสละของคนที่ต้องการเห็นบ้านเมืองของเราก้าวหน้า อีกส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพราะพลวัตทางเศรษฐกิจและสังคมซึ่งเป็นแรงผลักดันที่มองไม่เห็นชัดเจนแต่ค่อยๆ ทำหน้าที่ของมันในการผลักดันประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าทีละน้อย หากมองโลกในแง่ดี เป็นคนใจเย็นก็น่าจะสบายใจได้ว่าในอนาคตข้างหน้าบ้านเมืองเราคงจะดีกว่านี้แน่นอน เพียงแต่ไม่รู้ว่าจะต้องใช้เวลานานกันแน่
ถ้าใจร้อนสักนิดอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในช่วงชีวิตของเราก็ต้องออกแรงผลักกันหน่อย เริ่มด้วยเรื่องที่พอทำได้โดยเร็วสัก 3 เรื่อง
เรื่องแรก เลิกใช้คำพูดยั่วยุ เสียดสี ประชดประชัน ข่มขู่ คุกคาม หากมีคนเห็นต่างแล้วไม่ชอบใจก็เก็บความไม่ชอบใจนั้นไว้กับตัว ไม่ต้องตอบโต้แสดงความเห็น ปรากฏการณ์ “ทัวร์ลง” ในโซเชียลมีเดียคือหนึ่งในตัวอย่างที่ไม่ดีของการขาดวุฒิภาวะทางการเมืองในประเด็นนี้ การสื่อสารด้วยความเคารพกันและกันย่อมช่วยให้บทสนทนาที่เกิดขึ้นสามารถไปไกลกว่าแค่การด่าทอว่าร้ายเพื่อลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของกันและกัน
เรื่องที่ 2 เคารพบรรทัดฐานเดิมของสังคมในบางเรื่องที่เห็นว่าเป็นคุณค่าหลักร่วมกันของสังคมเพราะการจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนไม่ได้เกิดขึ้นจากอัศวินม้าขาว ทุกการเปลี่ยนแปลงต้องอาศัยพันธมิตรจากหลายภาคส่วนในสังคม การรักษาจุดร่วมบางอย่างเอาไว้ จะทำให้เราสามารถขับเคลื่อนประเด็นที่ต้องการเปลี่ยนแปลงได้ง่ายกว่า
เรื่องที่ 3 บอกตัวเองเสมอว่าประเทศไทยไม่ใช่ของพวกเราเพียงกลุ่มเดียว ถ้าอยากจะให้คนอื่นให้คุณค่ากับความเห็นของเรา เราควรเริ่มต้นด้วยการเคารพคุณค่าของผู้อื่นด้วยเช่นกัน การยึดเอาความเห็นของคนเองเป็นสรณะขาดความยืดหยุ่น ขาดความเข้าใจเห็นอกเห็นใจผู้อื่น จะทำให้รอยแยกในสังคมมีแต่จะฉีกกว้างมากขึ้น
จะรักใครชอบใครอยู่ฝ่ายไหนก็ไม่ว่า เพราะความหลากหลายเช่นนี้แหละคือความงดงามที่แท้จริงของประชาธิปไตย แค่ช่วยกันแสดงบทบาทของตัวเองอย่างผู้เปี่ยมไปด้วยวุฒิภาวะทางการเมือง เดี๋ยวเราก็หาทางออกร่วมกันในที่สุด