ถึงโลกจะเจอวัคซีนโควิด-19แต่เราก็จะไม่กลับไปเหมือนเดิมอยู่ดี
ในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เราได้เห็นข่าวการพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 มากขึ้นเรื่อยๆ
อย่างกรณี เมื่อวันจันทร์ (23 ส.ค. ที่ผ่านมา) บริษัทไชน่า เนชันนัล ไบโอเทค กรุ๊ป (CNBG) ในเครือบริษัทซิโนฟาร์ม ประกาศว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิดเชื้อตายของจีนเริ่มต้นการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ในเปรูแล้ว หรือ อย่างกรณี ประเทศรัสเซียกลายเป็นประเทศแรกในโลก ที่ได้ออกมาประกาศใช้วัคซีนต้านโควิด-19 อย่างเป็นทางการ (เมื่อวันที่ 11 ส.ค. ที่ผ่านมา) โดยใช้ชื่อว่าวัคซีน Sputnik-V ซึ่งทางประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ได้แถลงผ่านสื่อว่า วัคซีนดังกล่าวได้ผ่านการตรวจสอบที่จำเป็นทั้งหมดแล้ว พร้อมเน้นย้ำว่ามันได้รับการอนุมัติรับรองตามกฎข้อบังคับทั้งหมดอย่างถูกต้อง
สิ่งที่ตามมาคือ เราเห็นการเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์ในตลาดเงิน และตลาดทุน ตอบรับในเชิงบวก สาเหตุเพราะ ส่วนหนึ่งของนักลงทุนเชื่อว่า หากโลกเราผลิตวัคซีนได้แล้ว วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดจากการ Lockdown และการทำ Social Distancing ในครั้งนี้ จะค่อยๆบรรเทาลง และกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะค่อยๆกลับมาเป็นปกติ
แต่มันจะเป็นปกติจริงๆหรือ? ผมขอให้มุมมองอีกด้านเพื่อประกอบการพิจารณาเพิ่มเติมนะครับ
เจ้าโควิด-19 เรารู้ว่า มันทำอันตรายแก่มนุษย์ถึงขั้นมีความเสี่ยงเสียชีวิต โดยผู้สูงอายุ จะมีความเสี่ยงเสียชีวิตในอัตราที่สูงกว่า นี่คือ สิ่งที่เรารู้กัน และเมื่อมันเป็นเช่นนั้น เราจึงเห็นผู้สูงอายุทั้งหลาย มีความระมัดระวังในการใช้ชีวิตในวิกฤติครั้งนี้ค่อนข้างมากกว่าคนรุ่นอื่นๆ ซึ่งมันค่อนข้างทำลาย Mindset ที่มีมาก่อนหน้าที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19
อธิบายเพิ่มเติมก็คือ ก่อนโลกจะรู้จักกับโควิด-19 คนในยุค Baby Boomer (เกิดหลังปี 2488 แต่ก่อนปี 2508) จะมีความรู้สึกมั่นใจในพัฒนาการทางการแพทย์แผนปัจจุบัน ทำให้พวกเขาเชื่อว่าจะสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานหลายปี ซึ่งก็เป็นจริง ดังที่ The Economist เคยเผยแพร่บทวิจัยว่า อายุขัยของประชากรโลก จะเพิ่มสูงขึ้น 1 ปี ในทุกๆ 4 ปีที่ผ่านไป
แต่สิ่งที่ไม่เคยอยู่ในสมการการใช้ชีวิตในวัยเกษียณเลย ก็เกิดขึ้นมาให้เห็นแล้ว โควิด-19 ทำให้ชาวโลกตระหนักมากขึ้นว่า ความตายเป็นเรื่องใกล้ตัวมากกว่าที่เราคิด และเมื่อคิดถึงจุดนี้ ผมก็เชื่อว่า คนจำนวนไม่น้อย เริ่มคิดถึงวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปจากเดิม โดยเริ่มตรวจสอบตัวเองว่า ที่ผ่านมาเราใช้ชีวิตประมาทเกินไปหรือเปล่า? เราได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขอย่างแท้จริงหรือไม่? และอะไรที่เราจะต้องทำก่อนจากโลกนี้ไป? นี่คือ คำถามที่ผมเริ่มเห็นว่า เราตั้งคำถามกับตัวเองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
และไม่น่าเชื่อนะครับ ว่าด้วยคำถามเหล่านี้ เราก็เริ่มจะมองชีวิตเราหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่แตกต่างไป
มิติไหนในชีวิตของประชากรโลกบ้างที่จะแตกต่างออกไป โดยเฉพาะประชากรสูงวัย?
- ในแง่สุขภาพ - คนจะให้ความสำคัญกับการทำประกันสุขภาพมากขึ้น และ จะคิดถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เป็นแบบ IOT (Internet of Things) ที่สามารถตรวจสอบสุขภาพ หรือ โรคภัยไข้เจ็บ ให้เราได้ตั้งแต่อยู่ที่บ้าน เพื่อให้การตรวจหาโรคมีความรวดเร็วมากขึ้น
- ในแง่การท่องเที่ยว – คนจะเลี่ยงการเดินทางโดยสายการบินที่เป็นไฟลท์บินระยะเวลานานๆ และถ้าเดินทางไม่ไกลมาก จะเลือกใช้รถยนต์ส่วนบุคคล มากกว่าขนส่งสาธารณะ เพื่อหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้คนแล้วทำให้เกิดความเสี่ยงติดเชื้อ ซึ่งอาจจะไม่ใช่แค่โควิด-19 ถึงแม้ในอนาคตเราจะเจอวัคซีนรักษาแล้ว แต่ใครจะรู้ว่า โรคอะไรประหลาดๆ อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคตก็เป็นไปได้
- ในแง่การรับประทานอาหารนอกบ้าน – จุดขายที่เหล่าร้านอาหารจะพยายามโฆษณาเชิญชวนเข้าร้านมากขึ้นก็คือ มาตรการความปลอดภัย ซึ่งยิ่งผู้สูงวัย ก็จะยิ่งให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ เจ้าของร้านอาหารจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการจ้างพนักงานโดยเฉพาะ เพื่อทำหน้าที่เช็ดโต๊ะ เช็ดเก้าอี้ และจุดสัมผัส ทั้งหมด เพื่อให้ลูกค้าโดยเฉพาะลูกค้าสูงวัยมีความสบายใจ
- ในแง่เทรนด์การทำงานหลังเกษียณ - ก่อนหน้านี้ มีแนวคิดในหลายๆประเทศ ที่สนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจจ้างผู้สูงวัยเข้าทำงานที่เกี่ยวข้องกับการบริการ แต่หลังจากโควิด-19 ทั้งนายจ้างเอง และผู้สูงอายุเอง จะมีความต้องการที่น้อยลง โดยผู้สูงอายุ จะมีแนวโน้มรับทำงานที่ไม่ต้องออกจากบ้าน ซึ่งจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีให้ได้มากขึ้นไปอีก
ผู้สูงอายุจะเริ่มตระหนักถึงความเสี่ยงต่อโรคภัยมากขึ้นจากการระบาดครั้งนี้ เมื่อเขาเหล่านี้ มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป โลกก็ย่อมเปลี่ยนไปไม่มากก็น้อย เพราะต้องอย่าลืมว่า ความมั่งคั่งส่วนใหญ่ของประชากรโลก ก็อยู่ที่คนในยุค Baby Boomer นะครับ