เหตุใดเรื่อง'แบงก์ล้ม' จึงไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในวิกฤติโควิด
ไม่กี่วันนี้ มีความเห็นและวิวาทะอันร้อนแรงยิ่งบนโลกโซเชียล ว่าด้วยเรื่องอาจจะมี “แบงก์ล้ม” ผมจึงขออนุญาตให้ความเห็นโดยประกอบด้วยมุ
1) วิกฤติโควิดไม่ใช่วิกฤติสถาบันการเงิน
ทุกครั้งที่มีวิกฤติเศรษฐกิจ ผู้คนจำนวนมากจะนึกย้อนไปถึงวิกฤติ 2540 ที่มักจะเรียกกันว่าเป็นวิกฤติสถาบันการเงิน คือสินเชื่อรายใหญ่ล้มละลาย และลากเอาสถาบันการเงินซวนเซกันไปทั้งระบบ
ส่วนโควิดนั้น แม้สงครามยังไม่จบ แต่หากดูสัญญาณในตลาดทุน เราพอจะกล่าวได้ว่า โควิดเป็นวิกฤติ SMEs และการจ้างงาน คนกระทบหนักคือคนที่มีเงินออมน้อย ส่วนคนตัวใหญ่ที่มีเงินออมมาก รวมทั้งบริษัทขนาดใหญ่ถือว่าได้รับผลกระทบน้อย
2) แบงก์อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์สากล
กฎเกณฑ์การควบคุมดูแลธนาคารพาณิชย์ที่แบงก์ชาติใช้อยู่เป็นมาตรฐานที่ใช้ทั่วโลก ที่เรียกกันว่า Basel กฎเกณฑ์นี้แบงก์ชาติไทยไม่ได้เป็นเจ้าของ แต่เป็นเพียงผู้นำมาใช้ดูแลแบงก์พาณิชย์ในประเทศ เจ้าของเกณฑ์ที่ว่าคือ Bank of International Settlement หรือ BIS ซึ่งเป็นเหมือนธนาคารกลางของแบงก์ชาติทั่วโลกอีกที เกณฑ์ที่ว่านี้ยิ่งเข้มข้นทวีคูณหลังวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008-2009 และมีส่วนสำคัญทำให้เสถียรภาพของธนาคารพาณิชย์ทั่วโลกแข็งแรงขึ้นในช่วงสิบปีที่ผ่านมา
3) รอบนี้แบงก์เป็นจุดแข็งเหนือทุกวิกฤติ
แบงก์พาณิชย์ถือเป็นจุดที่ได้รับแรงกระแทกน้อย เป็นเช่นนี้ทั้งแบงก์พาณิชย์ไทยและทั่วโลก เราจึงเห็นเงินไหลออกจากทรัพย์สินเสี่ยงต่าง ๆ เข้าสู่จุดที่ปลอดภัยคือเงินฝากแบงก์พาณิชย์ แบงก์พาณิชย์ยังถูกมอบหมายให้รับบทหนักเป็นแกนหลักในการส่งผ่านมาตรการความช่วยเหลือจากภาครัฐไปยังเซลล์ต่าง ๆ ในเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการผ่อนผันการชำระหนี้ ซอฟต์โลน ไปจนถึงการเข้าพยุงตลาดตราสารหนี้
นับจากต้นปี เงินฝากในระบบแบงก์พาณิชย์ไทยขยายตัว 10% อัตราส่วนเงินกองทุนที่เรียกกันว่า BIS ratio อยู่ที่ 19% กว่า ๆ ซึ่งถือว่าสูงกว่าแบงก์ขนาดใหญ่ในสิงคโปร์ และยังมีอัตราส่วนสภาพคล่องที่เรียกว่า Liquidity Coverage Ratio หรือ LCR ซึ่งคงไม่เกินจริงนักหากจะบอกว่าแบงก์พาณิชย์ไทยมีตัวเลข LCR อยู่ใน ‘ระดับโลก’ กล่าวคือ แบงก์ขนาดใหญ่ ๆ ในยุโรป รวมทั้งแบงก์ของสิงคโปร์อยู่ในช่วง 150-160% แต่ของระบบแบงก์พาณิชย์บ้านเรา ณ สิ้นเดือนมิถุนายนอยู่ที่ คือ 183% (ยิ่งมากยิ่งดี)
4) พลังของ QE และการเข้าแทรกแซงของธนาคารกลาง
สิ่งที่แตกต่างอย่างยิ่งระหว่างวิกฤติในปี 2540 และ 2563 นั้น คือปี 2540 แบงก์ชาติอยู่ในสภาพช่วยเหลือตนเองและเศรษฐกิจไม่ได้ แต่กลับมาความพร้อมและแข็งแรงอย่างยิ่งในครั้งนี้ ธนาคารกลางหลายๆประเทศประกาศมาตรการเข้าซื้อสินทรัพย์ในตลาดการเงินโดยตรง ที่เราอาจคุ้นเคยกันในชื่อเหมารวมว่า Quantitative Easing หรือ QE ที่หลายๆประเทศนำมาใช้ในปริมาณที่เรียกว่าใหญ่โตที่สุดในประวัติศาสตร์ ระดับ 10% ของ GDP
ของแบงก์ชาติเราเอง แม้จะไม่ได้ประกาศโครงการ QE อย่างเป็นทางการ แต่ก็ได้ดำเนินนโยบายแทรกแซงตลาดอย่างพัลวันในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน สิ่งที่เรียกว่า Mutual Fund Liquidity Facility ที่เป็นปราการรองรับแรงกระแทกการเทขายหุ้นกู้และหน่วยลงทุนกองทุนรวม มียอดคงค้างลดลงจาก 56 พันล้านบาทเมื่อ 24 เมษายน เหลือ 27 พันล้านบาทในปลายเดือนสิงหาคม แรงเทขายพันธบัตรจากนักลงทุนต่างชาติมโหฬารเกือบหนึ่งแสนล้านบาทในเดือนมีนาคมเดือนเดียว ถูกดูดซับได้อย่างรวดเร็วจากการเข้าพยุงตลาดของแบงก์ชาติ
การประกาศใช้ QE แบงก์ชาติทั่วโลกมีส่วนทำให้ความหวาดกลัวว่าระบบตลาดการเงินจะพังทลายบรรเทาลงในเวลาอันสั้น และมีส่วนทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว หรือตกน้อยกว่าที่หลาย ๆ ฝ่ายประเมินไว้ และต้องบอกว่า การฟื้นตัวเร็วในตลาดทุนย่อมจะส่งผลดีไม่ทางตรงก็ทางอ้อมต่อบริษัทผู้ก่อหนี้ทั้งหลายและต่อตัวแบงก์พาณิชย์เอง
5) หน้าตาของ NPL ไม่เหมือนปี 2540
จุดเปราะของแบงก์พาณิชย์ไทยและทั่วโลกในวิกฤตินี้คือ NPL ของเราเองนั้นหากจะแบ่งออกเป็นสินเชื่อรายใหญ่กับรายย่อย สามารถสรุปได้เลยว่า รายใหญ่ไม่ได้มีปัญหามากอย่างเป็นระบบ รายที่ทำท่าว่าจะมีปัญหา แบงก์พาณิชย์ก็เข้าไปโอบอุ้ม สัญญาณในตลาดตลาดหุ้นกู้ซึ่งเป็นตลาดระดมเงินทุนของบริษัทขนาดใหญ่กลับมาปกติมากแล้ว (แม้จะยังไม่แข็งแรงเท่ากับก่อนโควิด)
ที่ยังน่าเป็นห่วงคือ SMEs และรายย่อย แต่อย่างน้อย สัดส่วนใหญ่คือลูกค้าบริษัทขนาดใหญ่น่าจะถือได้ว่าแข็งแรงพอและไม่น่าจะลากเอาสถาบันการเงินซวนเซไปด้วย อันเป็นฉากสำคัญของวิกฤติปี 2540
สุดท้ายนี้ ผู้เขียนเห็นว่า แม้สงครามโควิดยังไม่จบ แต่ก็น่าจะเลยมาเกินครึ่งทางแล้ว จริงอยู่ว่าเราไม่ควรด่วนสรุปว่าแบงก์พาณิชย์ไทยจะคลาดแคล้วเสียทีเดียว เพียงแต่ว่า ข้อมูลเชิงประจักษ์เท่าที่มีอยู่ผ่านการมองลงไปในตัวคุณภาพของแบงก์พาณิชย์ และการมองไปที่ปัจจัยแวดล้อม ก็ต้องบอกว่า ยังไม่เห็นสัญญาณ “แบงก์ล้ม” ด้วยปัจจัยต่างๆที่เรียนไปทั้งหมดครับ