การโฆษณาชวนเชื่อยุคใหม่ผ่าน 'โซเชียลมีเดีย' (1)
สิ่งหนึ่งที่พรรคนาซีทำได้ประสบความสำเร็จอย่างมากในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองคือ การโฆษณาชวนเชื่อ
สิ่งหนึ่งที่พรรคนาซีทำได้ประสบความสำเร็จอย่างมากในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองคือ การโฆษณาชวนเชื่อ ทำให้คนเยอรมันจำนวนมากในเวลานั้นหลงเชื่อฮิตเลอร์ เห็นด้วยกับความรุนแรง และการนำประเทศไปสู่สงครามโลก ฮิตเลอร์ได้ใช้วิธีการจัดตั้งกระทรวงประชาบาลและโฆษณาชวนเชื่อขึ้น โดยมี โยเซ็ฟ เกิบเบิลส์ (Joseph Goebbels) ผู้เปรียบเสมือนมือซ้ายของฮิตเลอร์เป็นรัฐมนตรี (มือขวาของฮิตเลอร์คือ ไฮน์ริช ฮิมเลอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้นำของหน่วยเอ็สเอ็ส)
เกิบเบิลส์ จบการศึกษาระดับปริญญาเอก ในสาขาประวัติศาสตร์วรรณคดีจากมหาวิทยาลัยไฮเดิลแบร์ค ประเทศเยอรมนีและเป็นผู้ที่มีความศรัทธาในตัวของฮิตเลอร์อย่างมาก จนทำให้เขาตกลงใจสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคนาซีตั้งแต่ในช่วงก่อตั้งพรรค และฮิตเลอร์ได้ให้ความไว้วางใจเขาในการทำการโฆษณาประชาสัมพันธ์ภายในพรรค ด้วยความสามารถอันอัจฉริยะของเขาทำให้ผลงานด้านต่าง ๆ ช่วยให้พรรคนาซีได้รับการเลือกตั้งเป็นรัฐบาล และเขาคือคนที่ฮิตเลอร์ไว้วางใจจนกระทั่งได้มอบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเยอรมนีก่อนที่ฮิตเลอร์จะฆ่าตัวตาย แต่ภายหลังจากที่รับตำแหน่ง ต่อมาหนึ่งวันเขาและครอบครัวก็ตัดสินใจฆ่าตัวตายตามฮิตเลอร์
เกิบเบิลส์คือเจ้าของทฤษฎีที่เรียกว่า “โกหกคำโต” (Big Lie) ซึ่งก็เป็นวลีที่เคยได้ยินฮิตเลอร์บอกไว้ว่า “หากท่านโกหกเรื่องใหญ่มากพอ, โกหกบ่อยครั้งเพียงพอ, เรื่องนั้นจะถูกเชื่อ” ซึ่งหลักการโฆษณาชวนเชื่อ อาจสรุปง่ายๆ 7 ข้อ ได้แก่
1. การโจมตีตัวบุคคล สร้างศัตรูบุคคลขึ้นมาเป็นหุ่นรับการโจมตี แล้วจับผิด โจมตี ด่าทอ ต่อว่า ทั้งเรื่องส่วนตัวและคำพูดทุกคำพูดของคนๆ นั้น
2. พูดซ้ำแล้วซ้ำอีก คนจะเริ่มหลงเชื่อถ้าได้ยินเรื่องเดิมซ้ำเป็นประจำ
3. โกหกคำโต การโกหกเรื่องใหญ่ๆ เพื่อหลอกให้เชื่อ ย่อมครอบคลุมเรื่องต่างๆ หลากหลาย อย่างน้อยต้องมีข้อใดข้อหนึ่งที่ถูกจริตผู้ฟัง และเมื่อคนพูดพูดในสิ่งที่คนฟังอยากจะเชื่ออยู่แล้ว เขาก็พร้อมจะยอมเชื่อโดยดี แม้ว่าคำโกหกเรื่องใหญ่นั้น จะเท็จครึ่ง จริงครึ่ง หรือไม่มีความจริงใดๆ อยู่เลย
4.สร้างสมญานาม การสร้างชื่อแทนใช้เรียกย่อๆ ง่ายๆ จะได้จดจำง่าย
5. ตรรกะแบบขาว-ดำ ต้องสร้างภาพการแบ่งแยกฝ่ายถูกผิดชัดเจนเป็นสีขาว-ดำ ใครเข้าข้างจะเป็นฝ่ายถูก ส่วนใครไม่เห็นด้วยก็จะถูกผลักไปเป็นฝ่ายผิดทันที
6. ชูธงสูงส่ง ต้องอ้างแนวคิดของตนให้ดูยิ่งใหญ่ สูงส่ง อลังการ มีคุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรม ด้วยคำพูดและป้ายประกาศ ใช้ข้อความที่ดูดี
7. ควบคุมข้อมูลที่จะผ่านสื่อ ต้องบอกข้อมูลไม่ครบ บอกความจริงไม่หมด เลือกแต่เฉพาะข้อมูลหรือข่าวที่ส่งผลดีต่อฝ่ายตนเอง เมื่อสื่อเข้าถึงคนหมู่มาก ยิ่งบอกผ่านกันไปปากต่อปาก และยิ่งดูน่าเชื่อถือ
แน่นอนครับในยุคนั้นช่องทางการสื่อสารมีไม่มากเท่าในยุคปัจจุบัน การควบคุมสื่อต่างๆ เป็นเรื่องง่าย เกิบเบิลส์ใช้วิธีการควบคุมสื่อโดยกลั่นกรองข่าวสารที่จะออกมาทางหนังสือพิมพ์หรือสื่อต่างๆ รวมถึงมีการสร้างภาพยนตร์เพื่อปลูกฝังความคิดและความเชื่อต่างๆ ให้ประชาชน นอกจากนี้ยังอาศัยการโฆษณาชวนเชื่อผ่านวิทยุ ซึ่งคนเยอรมันส่วนใหญ่จะมีวิทยุ รวมถึงการปราศรัยตามที่ต่างๆ เขาได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากฮิตเลอร์เป็นอย่างมากที่สุดในบรรดาสมาชิกพรรคนาซี จึงไม่แปลกเลยที่หากว่าฮิตเลอร์ไป ณ ที่ใด มักจะเห็นเกิบเบิลส์เคียงข้างไปทุกหนทุกแห่ง
หลายท่านอาจคิดว่าทฤษฎีโฆษณาชวนเชื่อไม่น่าจะสามารถทำได้แล้วในยุคปัจจุบัน ในยุคที่มีอินเทอร์เน็ต ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารมีให้เลือกบริโภคอย่างมากมาย แต่น่าแปลกใจที่มีการศึกษาและวิจัยพบว่า โซเชียลมีเดียกลายเป็นสื่อที่ทางการเมืองสามารถนำมาใช้โฆษณาชวนเชื่อได้ดีและรวดเร็วกว่าสื่อในยุคเดิม จากปรากฏการณ์ที่เรียกว่า การควบคุมจัดการสื่อโซเชียลมีเดีย หรือ Social Media Manipulation
ด้วยความที่โซเชียลมีเดียสามารถสื่อสารได้รวดเร็วกว่าเดิม ผู้คนบริโภคข้อมูลสั้นๆ ดูรูปภาพ ข้อความสั้นๆ อ่านน้อยลง และสามารถแชร์ต่อไปได้วงกว้างจึงทำให้ การโฆษณาชวนเชื่อทำได้ง่ายกว่ายุคเดิม โดยเฉพาะการใช้โซเชียลมีเดียบางตัว เช่น Twitter ที่ผู้ใช้จำนวนมากเป็นอวตาร ซึ่งไม่มีการระบุตัวตนอย่างชัดเจน ทำให้สามารถสร้างข้อความที่เป็นเท็จได้ง่ายโดยไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ และสร้างกระแสต่างๆ ได้โดยใช้ Hashtag และทำให้เกิด Trends ที่ผู้คนในโลกโซเชียลจะได้โน้มเอียงไปตามกระแส เมื่อได้รับข้อมูลในความเชื่อแบบเดิมซ้ำไปเรื่อยๆ สุดท้ายคนในโซเชียลมีเดียกลุ่มนั้นก็จะคิดว่าเป็นเรื่องจริงและคล้อยตามไปในที่สุด
การโฆษณาชวนเชื่อในโลกโซเชียลจะเริ่มต้นจากมีกลุ่มคนที่เรียกว่า Troll ที่จะคอยปั่นกระแสและสร้างข้อความโฆษณาชวนเชื่อออกมา และที่น่ากลัวไปกว่านั้นคือมีการใช้ Bot ซึ่งย่อมาจากคำว่า Robot มาช่วยปั่นข้อความของ Troll ให้ได้รับการแชร์มากชึ้น เช่น การ Retweet ใน Twitter รวมถึงใช้ Bot ในการสร้างข้อความสั้นๆ หรือปั่น Hashtag ข้อความต่อๆ ไปเป็นจำนวนมากเพื่อสร้างให้เกิด Trend ของข้อความหรือ Hashtag เพื่อจะได้เป็นข่าว ซึ่งเมื่อข้อความของ Troll ได้รับการแชร์ไปจำนวนมาก บางครั้งก็จะมีผู้คนติดตาม Troll เพิ่มขึ้นจำนวนมาก จนอาจกลายเป็นเน็ตไอดอลที่ผู้ติดตามจำนวนมากพร้อมจะยอมเชื่อข้อความต่างๆ ของ Troll โดยไม่ต้องกลั่นกรองใดๆ
มีการเปิดเผยออกมาว่า ในแต่ละสัปดาห์โซเชียลมีเดียอย่าง Twitter มี Bot อยู่ในระบบถึง 10 ล้านบัญชีและทางบริษัทเองต้องพยายามที่จะลบออกแต่ก็ไม่สามารถลบได้ทั้งหมด รวมถึงมีบัญชี Bot ใหม่ๆ ที่สร้างเพิ่มขึ้นมาทุกวัน และการใช้โซเชียลมีเดียในการโฆษณาชวนเชื่อเหล่านี้เริ่มก่อให้เกิดกระแสทางการเมือง สังคม และความเกลียดชังกันเองของประชาชนในหลายกรณี จนบางประเทศต้องมีการแบนการใช้โซเชียลมีเดียบางตัว โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุการณ์สร้างความจราจลหรือสถานการณ์การเมืองในประเทศ นอกจากนี้ยังมีการกล่าวหาว่ารัสเซียได้ใช้ Troll และ Bot ในโซเชียลมีเดียอย่าง Twitter ในการแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในปี 2016 เพื่อให้ได้ผลเป็นไปตามที่ตัวเองต้องการ
ในตอนต่อไปจะมาเล่าให้ฟังต่อถึงวิธีการในการบริหารจัดการโซเชียลมีเดียโดยใช้ Bot และผลกระทบที่เกิดขึ้นในหลายๆ เหตุการณ์