พลิกวิกฤติเป็นโอกาส?
แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะได้ผ่านพ้นช่วงของการล็อกดาวน์ในไตรมาสที่ 2 แล้ว ซึ่งทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ได้กลับมาดำเนินการใหม่อีกครั้ง
แต่ธุรกิจการผลิตและบริการจำนวนมากก็ยังได้รับผลกระทบในเชิงลบจากปัญหาความไม่แน่นอนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องสภาพคล่อง มูลค่ายอดการส่งออกโดยรวมที่หดตัว ปัญหาการแข็งค่าของเงินบาท ปัญหาเรื่องจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป โดยไม่รู้ว่าจะกลับมาได้อีกเมื่อไร ความเสี่ยงที่โควิด-19 จะกลับมาระบาดอีกเป็นรอบที่ 2 และปัญหาทางการเมืองในประเทศ
ล่าสุด ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ได้เคาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ใน 3 เรื่องหลักคือ
(ก) มาตรการกระตุ้นการจ้างงานสำหรับบัณฑิตจบใหม่จำนวน 2.6 แสนคนเป็นเวลา 12 เดือน โดยรัฐบาลจะช่วยจ่ายสมทบให้กับนายจ้างไม่เกิน 20% ของค่าจ้าง คิดเป็นกรอบวงเงินงบประมาณ 23,276 ล้านบาท และมีเงื่อนไขว่านายจ้างจะต้องไม่ลดพนักงานเกิน 15%
(ข) มาตรการชิมช้อปใช้รอบใหม่ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและลดค่าครองชีพของประชาชน โดยภาครัฐจะจ่ายให้คนละ 3,000 บาทเพื่อใช้จ่ายในร้านค้าทั่วไป โดยคาดว่าภาครัฐจะใช้งบประมาณรวม 45,000 ล้านบาท และ
(ค) มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศภายใต้โครงการเราเที่ยวด้วยกัน โดยแบ่งเป็น 2 แนวทางคือ แนวทางที่หนึ่งได้แก่ (1) เพิ่มส่วนลดค่าที่พัก 40% จำนวน 10 คืนต่อคน (2) เพิ่มคูปองอาหารต่อการท่องเที่ยว (3) ให้เงินคืนค่าตั๋วเครื่องบินจำนวน 2,000 บาทต่อที่นั่ง และแนวทางที่ 2 คือการอนุญาตให้ข้าราชการลาพักร้อนวันธรรมดาได้เพิ่ม 2 วัน
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเหล่านี้เป็นเพียงมาตรการบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจเร่งด่วนในระยะสั้นเท่านั้น เช่น การแก้ปัญหาบัณฑิตจบใหม่ที่จะตกงานจำนวนมากในปีนี้ให้มีงานทำกันมากขึ้น ส่วนมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวก็เป็นการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจให้มากกว่าเดิม เนื่องจากมาตรการก่อนหน้านี้ยังคงมีสิทธิที่เหลือใช้อีกจำนวนมาก ในขณะที่มาตรการ ‘ชิมช้อบใช้’ ในรอบใหม่นี้ก็เป็นการปรับการแจกเงินเพื่อให้ประชาชนได้นำไปใช้จ่ายลดค่าครองชีพได้เป็นหลัก
ซึ่งจะแตกต่างไปจากมาตรการชิมช้อปใช้ในครั้งก่อนหน้านี้ที่เน้นในเรื่องการกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรองที่ปรากฏว่าไม่ได้ผลนัก เพราะในภาวะเศรษฐกิจที่ไม่สู้ดีนัก ประชาชนส่วนใหญ่จะเพิ่มความระมัดระวังการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ดังนั้น การใช้จ่ายอาจจะไม่เพิ่มขึ้น แม้จะได้รับการแจกเงินฟรีเพื่อให้ไปเที่ยวเมืองรองก็ตาม เพราะเงินที่ได้รับแจกเป็นรายได้เพียงครั้งเดียว จึงไม่ได้ทำให้รายได้ของประชาชนเพิ่มขึ้นมาก ภาครัฐคงได้เรียนรู้จากบทเรียนเหล่านี้ จึงมีการปรับมาตรการชิมช้อปใช้ในรอบใหม่นี้ให้เน้นเรื่องการลดค่าครองชีพที่ประชาชนทั่วไปจำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวันแทน
จะเห็นได้ว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศล่าสุดนี้แม้จะเป็นผลดีบ้าง แต่ก็คงมีผลที่ค่อนข้างจำกัดสำหรับเศรษฐกิจไทยโดยรวม เพราะการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมาต้องพึ่งพาภาคส่งออกและภาคบริการท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจำนวนมากเป็นหลัก
ศบศ.เองก็ยังไม่พร้อมที่จะฟันธงเรื่องการนำร่องเพื่อเปิดให้รับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบจำกัดเพื่อฟื้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในเร็วๆ นี้ เพราะยังกังวลเรื่องการกลับมาระบาดของโรคโควิด-19 อีก แม้ที่ผ่านมาระบบสาธารณสุขและมาตรการล็อกดาวน์ของไทยจะสามารถรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ตาม
มีทางเลือกหนึ่งที่ ศบศ.น่าจะได้รีบพิจารณากันอย่างจริงจัง ก็คือการใช้จุดแข็งของประเทศไทยในการเป็น Medical Hub ของภูมิภาคนี้ เพื่อพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสโดยส่งเสริมให้มีการเปิดรับชาวต่างชาติที่มีกำลังซื้อที่ต้องการเข้ามาใช้บริการทางการแพทย์เพื่อรักษาโควิด-19 และโรคอื่นๆ ในลักษณะเช่าเครื่องบินเหมาลำเพื่อมาใช้บริการของโรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทย
โดยรัฐต้องจัดให้มีระบบตรวจเช็คป้องกันโรคที่รัดกุมปลอดภัยพร้อมทั้งมาตรการกักตัวชาวต่างชาติเหล่านี้ในระหว่างการรักษาตัวโดยไม่มีข้อยกเว้น จนแน่ใจว่าปลอดเชื้อแล้วจึงจะอนุญาตให้เดินทางท่องเที่ยวต่อในประเทศได้ ซึ่งวิธีนี้ก็จะช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยได้ประโยชน์และมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการรับมือกับโควิด-19 ที่อาจระบาดยืดเยื้อยาวนานได้
ความเสี่ยงในเรื่องปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่จะมีต่อเศรษฐกิจไทยอีกประการหนึ่ง ก็คือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลก ล่าสุดประธานธนาคารกลางสหรัฐก็ได้ประกาศว่าจะเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินจากเดิมที่อิงอยู่กับเรื่องการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อไว้ที่ 2% นั้นไปเป็นการพิจารณาเรื่องระดับเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยเป็นสำคัญแทน ซึ่งมีนัยว่าต่อจากนี้ไปนโยบายการเงินของสหรัฐจะมุ่งไปที่การแก้ปัญหาการว่างงานมากกว่าเรื่องการสกัดกั้นเงินเฟ้อ และเป็นสัญญาณว่าอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐจะอยู่ในระดับต่ำต่อไปอีกเป็นเวลานาน ซึ่งก็จะเป็นผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ
และหากว่าประธานาธิบดีทรัมป์และพรรครีพับลิกันสามารถได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งในเดือน พ.ย.นี้ โดยที่การสรุปผลการเลือกตั้งทำได้โดยไม่ขัดแย้งจนกลายเป็นปัญหายืดเยื้อแล้ว เราก็อาจจะได้เห็นการผลักดันเรื่องการลดภาษีเงินได้และภาษีอื่นๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐกันอีกรอบ ซึ่งก็จะไปเสริมกับนโยบายการเงินที่คงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำของธนาคารกลางสหรัฐตามที่กล่าวไปแล้ว
ทั้งหมดนี้ก็น่าจะส่งผลบวกต่อทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยไปพร้อมกันในช่วงครึ่งปีหลังต่อไปถึงต้นปีหน้านี้ได้บ้างไม่มากก็น้อย
โดย...
ศ.ดร.อารยะ ปรีชาเมตตา
กนิษฐา หลิน