จาก Abenomics สู่ Suganomics
พรรค LDP ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของญี่ปุ่น จะทำการสรรหาหัวหน้าพรรคท่านใหม่
ซึ่งก็หมายถึงจะเป็นการสรรหานายกรัฐมนตรีท่านใหม่ของญี่ปุ่น ต่อจากนายชินโซะ อาเบ้ ที่ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปก่อนหน้า ในวันจันทร์ที่จะถึงนี้
ผมขอฟันธงล่วงหน้า (คาดว่าไม่น่าจะพลาด) ว่านายโยซึฮิเดะ ซูกา ผู้อยู่เบื้องหลังหรือป๋าดันที่ทำให้นายอาเบ้สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยก่อนที่จะไปเข้าใจถึงแนวคิด Suganomics ผมขออนุญาตพาท่านผู้อ่านไปรู้จักเส้นทางการมาถึงดวงดาวของนายซูกากันก่อน
นายซูกา หรือฉายาล่าสุด คุณลุง ‘เรวา’ ที่ได้มาจากการออกทีวีทุกช่องของญี่ปุ่นเพื่อประกาศการเข้าสู่ยุคราชวงศ์ ‘เรวา’ หลังการขึ้นครองพระราชสมบัติของกษัตริย์ญี่ปุ่นองค์ปัจจุบัน เมื่อเดือนเมษายน ปีที่แล้ว โดยนายซูกาประกาศพร้อมถือกระดาษที่วาดแสดงสัญลักษณ์ตัวอักษรคำว่า ‘เรวา’ ออกทีวีทั่วประเทศญี่ปุ่นในวันนั้น
ว่าที่นายกฯ ญี่ปุ่น ท่านใหม่ นายซูกา มีเส้นทางการเมืองที่ต่างจากผู้นำญี่ปุ่นในอดีตเกือบทุกท่าน โดยเขามาจากครอบครัวชาวนาในพื้นที่ชนบทของญี่ปุ่น ซึ่งพ่อแม่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับวงการการเมืองเลย การเข้ามาสู่เส้นทางการเมืองมาจากการเป็นเลขานุการให้กับนักการเมืองที่มีตำแหน่งรัฐมนตรีด้านการขนส่งในเมืองโยโกฮามาที่ดูแลการแปรรูปรัฐวิสาหกิจการรถไฟ ในช่วงต้นทศวรรษ 1980 จึงทำให้เขามีแนวคิดออกมาทางสไตล์แธทเชอร์/ เรแกน ที่เน้นเศรษฐกิจแนวตลาดเสรีนิยม แม้เขาจะเป็นนักการเมืองที่ออกจะอนุรักษ์นิยมก็ตามที
นายซูกาเข้าสู่การเป็นสมาชิกสภาของเมืองโยโกฮามาในปี 1987 และเข้าสู่สภา Diet ในปี 1996 ทว่าเส้นทางไปสู่ดวงดาวในตำแหน่งผู้นำประเทศแทบจะเป็นไปไม่ได้สำหรับเขา หากมองจาก ณ ช่วงนั้น เนื่องจากผู้นำญี่ปุ่นทุกท่านที่ผ่านมา ต้องมีพ่อแม่เป็นนักการเมืองกรุยทางไว้ก่อน เนื่องจากกว่าจะขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯนั้น ด้วยวัฒนธรรมการเมืองญี่ปุ่นต้องเป็นนักการเมืองที่ผ่านการเลือกตั้งมาหลายสมัย ซึ่งการก้าวเป็นสส. ต้องเริ่มตั้งแต่วัยหนุ่มถึงจะเป็นเช่นนั้นได้
ทว่านายซูกาก็เลือกจะเป็นผู้อยู่เบื้องหลังช่วยผลักดันนายชินโซะ อาเบ้ ขึ้นเป็นผู้นำในสมัยแรกในปี 2006-2007 และตัดสินใจภักดีกับนายอาเบ้จนได้ขึ้นเป็นผู้นำญี่ปุ่นอีกครั้งในปี 2012 โดยเขาได้เลื่อนจากรัฐมนตรีด้านการสื่อสารในรัฐบาลอาเบ้สมัยแรก มาเป็นหัวหน้าทีมของรัฐบาลในปี 2012 ซึ่งหน้าที่คล้ายกับเบอร์สองของรัฐบาลญี่ปุ่นเลยทีเดียว
และด้วยความทุ่มเทในการพบปะผู้คนในทุกวงการ จึงเป็นที่มาของเสถียรภาพของรัฐบาลของนายอาเบ้ตลอดระยะเวลาเกือบ 8 ปีที่ผ่านมา
คราวนี้หันมาทำความเข้าใจกับแนวทางเศรษฐกิจ Suganomics ว่ามีหน้าตาเป็นอย่างไร
ก่อนอื่น ขอย้อนรอยแนวทาง Abenomics ว่าประกอบด้วยลูกศร 3 ดอก ได้แก่ นโยบายการเงิน นโยบายการคลัง และ มาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจ ซึ่งตลอดช่วงเวลาที่นายอาเบ้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น ค่อนข้างเน้นไปที่ลูกศรดอกแรกเป็นหลัก นั่นคือ เน้นให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นออกมาตรการกระตุ้นทางนโยบายการเงิน และไม่ยอมให้ค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นมาซึ่งเป็นตัวช่วยหนึ่งให้กับเสถียรภาพทางราคาของธนาคารกลางญี่ปุ่น โดยที่ยังเน้นไปที่กำไรของบริษัทเอกชนซึ่งเป็นฐานเสียงของนายอาเบ้เป็นหลัก อีกทั้งค่อนข้างยังจะให้รัฐวิสาหกิจยังผูกติดอยู่กับรัฐบาล
แล้วก็มาถึงว่าที่ Suganomics ในช่วงนี้ ว่าจะมีแนวทางที่เปลี่ยนไปจาก Abenomics ดังนี้
1.ลูกศรที่ 3 หรือลูกศรที่ว่าด้วยมาตรการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจในยุคของนายซูกา ถือว่าจะมีความเข้มข้นกว่ายุคของนายอาเบ้ค่อนข้างมาก โดยนายซูกาได้พูดคุยกับภาคเอกชนและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจว่ามีความต้องการที่จะยกระดับผลิตภาพในญี่ปุ่นให้สูงขึ้น ด้วยมาตรการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเพื่อให้เกิดการแข่งขันจากแรงงานต่างชาติที่จะเปิดเสรีมากยิ่งขึ้น นั่นคือการเพิ่มปริมาณแรงงานให้กับระบบเศรษฐกิจญี่ปุ่น
นอกจากนี้ ด้านวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จะทีการควบรวมหน่วยงานให้มีความเป็นเอกภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงเพิ่มทุนให้กับหน่วยงานในส่วนนี้ เพื่อให้การบริหารมีความคล่องตัวและสามารถแข่งขันกับบริษัทขนาดใหญ่ได้ ซึ่งตรงนี้เท่ากับเป็นการเพิ่มในส่วนของสินค้าทุนให้กับระบบเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังจะมีการเปิดตลาดส่งออกด้านเกษตรกรรมสู่ต่างประเทศ เพื่อที่จะลดมาตรการปกป้องทางการค้าต่อภาคเกษตรกรรมญี่ปุ่นให้น้อยลง ซึ่งทั้งหมด ล้วนแล้วแต่เป็นการเปิดเสรีให้กับเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้มีความยืดหยุ่นและคล่องตัวมากกว่าเดิม หรือเสมือนเป็นการเพิ่มระดับผลิตภาพให้กับเศรษฐกิจญี่ปุ่นนั่นเอง
2.นโยบายด้านนโยบายการเงิน หรือ ลูกศรแรก ก็ยังคงเป็นพระเอกเหมือนเดิม โดยธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคงเน้นไปที่นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบและมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ รวมถึงการซื้อตราสาร ETF ทั้งในตลาดตราสารหนี้และตลาดตราสารทุน ทว่าจุดที่แตกต่างคือมาตรการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของนายซูกา มีโอกาสที่จะเป็นตัวช่วยให้อัตราเงินเฟ้อและความคาดหวังอัตราเงินเฟ้อของเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีระดับที่สูงขึ้นกว่าในอดีต ด้วยค่าแรงที่สูงขึ้นจะเป็นตัวผลักให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นได้ ซึ่งตรงนี้ถือเป็นจุดเด่นของ Suganomics ที่เท่ากับว่าสามารถยิงลูกศรเพียงดอกเดียวได้นกถึงสองตัว
3.นโยบายการคลังในยุคของ Suganomics จะมีความรัดกุมมากกว่าเดิม โดยที่จะไม่เน้นการลดอัตราภาษี อาทิ ภาษีการขายหรือภาษีมูลค่าเพิ่ม ทว่าจะไปเน้นให้การเติบโตทางเศรษฐกิจจากอานิสงก์ของลูกศรที่ 3 มาช่วยให้การเก็บภาษีทำได้มากขึ้นกว่าในอดีตมากกว่า
4.นโยบายต่างประเทศ ญี่ปุ่นก็จะยังเอียงเข้าหาสหรัฐไม่ต่างจากยุคของนายอาเบ้ ทว่าน่าจะมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับจีนมากกว่าสมัยที่แล้ว เนื่องจากนายอาเบ้มีแนวคิดเกี่ยวกับจีนที่ปลูกฝังมาจากนักการเมืองยุคก่อนซึ่งก็คือคุณพ่อของเขา ที่ว่าญี่ปุ่นไม่ได้มีความผิดใดๆในช่วงก่อนและช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ในการรุกรานจีนเนื่องจากญี่ปุ่นมีความชอบธรรมตั้งแต่ในอดีต จึงทำให้ผู้นำของทั้งสองประเทศ แม้ว่าจะจับมือกันในการประชุมหรือเจรจารอบต่างๆ ทว่าทั้งญี่ปุ่นกับจีนก็ไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่ดีจากภายใน เนื่องจากต่างเข้าใจในความคิดดั้งเดิมของทั้งสองฝ่าย
ในขณะที่นายซูกาซึ่งเติบโตมาจากครอบครัวชาวนา จะมีความคิดเดิมที่ไม่ได้เหย่อหยิ่งว่าญี่ปุ่นเองมีความชอบธรรมในการรุกรานจีน จึงมีแนวโน้มว่าทั้งญี่ปุ่นและจีนน่าจะสามารถมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกว่าเดิม อย่างไรก็ดี พันธมิตรหลักของญี่ปุ่นก็ยังเป็นสหรัฐเป็นอันดับหนึ่ง
กระนั้นก็ดี เหนืออื่นใด สำหรับเศรษฐกิจญี่ปุ่น มาตรการทั้งด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจที่ต่อสู้กับโควิด-19 ยังเป็นความเร่งด่วนที่สุด ณ นาทีนี้ ของลุง ‘เรวา’ ว่าที่นายกรัฐมนตรีท่านใหม่ของญี่ปุ่น