อย่าให้สิ่งแวดล้อมตกเป็นเหยื่อการพัฒนา

อย่าให้สิ่งแวดล้อมตกเป็นเหยื่อการพัฒนา

ช่วงนี้มีข่าวปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจาก “การพัฒนา” ไม่ว่าจะเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่จะนะ ปัญหาควันไฟที่ภาคเหนือ ปัญหาภัยแล้ง ปัญหาน้ำท่วม

 หากมองย้อนกลับไปในช่วงสิบปีมานี้มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ บางครั้งก็เป็นข่าวเล็ก บางครั้งก็เป็นข่าวใหญ่ หรือไม่เคยได้เป็นข่าวเลยก็มี

ราวสองร้อยกว่าปีที่แล้ว ช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่ประเทศอังกฤษและประเทศอื่นๆ ในทวีปยุโรปกำลังเปลี่ยนตัวเองจากประเทศเกษตรกรรมมาเป็นประเทศอุตสาหกรรม สภาพแวดล้อมในประเทศเหล่านี้เสื่อมโทรมถึงขีดสุด ในบางพื้นที่ควันจากถ่านหินบดบังท้องฟ้าจนแทบไม่มีแสงแดดส่องลงมา ประชาชนต้องหายใจเอาอากาศเสียเข้าไปทุกวัน แม่น้ำหลายสายปนเปื้อนไปด้วยมลพิษ จนแทบจะไม่มีสิ่งมีชีวิตชนิดไหนอยู่ได้เลย

ตอนนี้ประเทศเหล่านั้นส่วนใหญ่ได้กลายเป็นประเทศแนวหน้าทางเศรษฐกิจของโลก บ้านเมืองมีการพัฒนา สภาพแวดล้อมดีน่าอยู่อาศัย ดูไปแล้วประหนึ่งว่าการเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม การตกระกำลำบากของหลายในรุ่นก่อนๆ ก็คือต้นทุนในการพัฒนาประเทศให้มาถึงจุดที่อยู่ ณ วันนี้

ในทางเศรษฐศาสตร์มีแนวคิดที่เรียกว่า “เส้นโค้งคุซเน็ทซ์” (Kuznets curve) แนวคิดนี้เสนอว่าความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งแวดล้อมกับการพัฒนาเป็นกราฟเส้นโค้งรูปโดม โดยแบ่งออกเป็นสองช่วง ช่วงแรกคือช่วงที่เปลี่ยนจากประเทศเกษตรกรรมมาสู่อุตสาหกรรม ช่วงนี้เป็นการไต่ขึ้นไปบนยอดโดม ความสูงของโดมคือระดับปัญหาสภาพแวดล้อมของประเทศ เวลาที่ใช้ในการปีนขึ้นไปให้ถึงยอด คือเวลาที่ใช้ในการพัฒนาประเทศ เมื่อเวลาผ่านไปประเทศพัฒนามากขึ้นรายได้ต่อหัวโดยจึงสูงขึ้นตามไปด้วย

ช่วงต้นของการพัฒนา ประเทศยังไม่มีเครื่องมือเครื่องจักร คนในประเทศมีคุณภาพไม่สูง ขาดทักษะที่จำเป็นสำหรับการผลิตโดยใช้เทคโนโลยี และประชาชนส่วนใหญ่ยังยากจนอยู่ การจะพัฒนาประเทศจึงต้องเริ่มจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ มีการตัดไม้ทำลายป่า ล่าสัตว์ ขุดเอาแร่ธาตุทรัพยากรในดินไปขาย เพื่อนำเงินที่ได้มาใช้ในการสะสมทุน โดยการซื้อเครื่องจักรเครื่องมือ ลงทุนในการศึกษา พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่ออุตสาหกรรม ด้วยเหตุนี้เองช่วงต้นของการพัฒนาเศรษฐกิจจึงมักเกิดขึ้นควบคู่กับปัญหาความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม สิ่งแวดล้อมเลยตกเป็นเหยื่อของการพัฒนา

อย่างไรก็ตาม เมื่อประเทศมีการพัฒนาถึงระดับหนึ่ง ปัญหาสภาพแวดล้อมก็จะค่อยๆ ลดลงไปเอง เนื่องจากเมื่อประชากรมีความกินดีอยู่ดี มีการศึกษา พวกเขาจะแสวงหาคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม ประกอบกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการผลิต เป็นอันตรายต่อสภาพแวดล้อมน้อยลง จะส่งผลให้ปัญหาสภาพแวดล้อมลดลงตามไปด้วย ช่วงนี้จึงเป็นการไต่ลงจากโดม

ลองสมมติกันว่ามีผู้นำประเทศประเทศหนึ่งบอกว่า ตอนนี้ประเทศพัฒนามาแล้วประมาณหกสิบกว่าปี เราก็น่าจะเกือบถึงจุดยอดของเส้นโค้งคุซเน็ทซ์แล้ว แค่ยอม อดทนกับปัญหาสิ่งแวดล้อมไปอีกสักสิบยี่สิบปี เดี๋ยวสภาพแวดล้อมในบ้านเมืองเราก็จะค่อยๆ ดีขึ้นเอง ถ้าตอนนี้ท่านอายุสักสามสิบปลายๆ พอเกษียณ ท่านก็จะได้อยู่บ้านที่ล้อมรอบไปด้วยพื้นที่สีเขียว รถไม่ติด หายใจหายคอได้คล่อง ปลูกผักทำสวนก็ไม่ต้องกังวลเรื่องน้ำท่า เพราะถึงตอนนั้นประเทศจะมีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล” 

ท่านจะยอมอดทนขนาดนั้นหรือไม่? คงมีไม่กี่คนที่จะใจเย็นได้นานขนาดนั้น ในความเป็นจริง ระบบนิเวศมีขีดจำกัดในการรับมือกับปัญหาสภาพแวดล้อม เมื่อใดที่ปัญหานี้เกินกว่าขีดจำกัดของระบบ ระบบจะล้มเหลวไม่สามารถกลับมาสู่สภาพเดิมได้อีก จนบัดนี้ยังไม่มีเครื่องมืออะไรมาวัดได้อย่างแม่นยำว่า ระบบนิเวศแต่ละแห่งมีขีดจำกัดอยู่ระดับไหน พอวัดไม่ได้ก็เลยไม่ใส่ใจเท่าที่ควร แกล้งปิดตาทำเป็นมองไม่เห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสภาพแวดล้อม

ปัญหานี้จะหวังพึ่งรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียวคงไม่สำเร็จ เพราะเป็นเรื่องสลับซับซ้อนมากกว่าการออกกฎระเบียบข้อบังคับ สิ่งที่ต้องสร้างอย่างเร่งด่วนคือจิตสำนึกร่วมกันด้านการรักษาสภาพแวดล้อม เปลี่ยนแปลงทัศนคติของประชาชน เพื่อให้พฤติกรรมในการใช้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปด้วย ซึ่งจะส่งผลให้เกิดแรงกดดันต่อตลาดและฝ่ายการเมืองให้ใส่ใจเรื่องนี้อย่างจริงจังในที่สุด

ที่ผ่านมา ทิศทางการพัฒนาของบ้านเรากำลังวิ่งไปตามครึ่งแรกของเส้นโค้งคุซเน็ทซ์ แต่ระบุได้ยากว่าเราอยู่ในช่วงไหนของเส้นโค้งแล้ว ไม่มีใครบอกได้ว่าอีกนานแค่ไหนจะถึงจุดยอดของเส้นโค้ง อย่าลืมว่ายิ่งไต่ขึ้น สภาพแวดล้อมก็เสื่อมโทรมมากขึ้น

ใครจะไปรู้ว่าเราจะถึงยอดโดมแล้วไต่ลงมาได้ก่อนหรือสภาพแวดล้อมจะถึงกาลวิบัติก่อน หากเป็นกรณีหลัง ถึงแม้วันนั้นเรามีเงินเต็มห้องทองเต็มบ้าน แต่ต้องนั่งป่วยกระเสาะกระแสะเพราะสารพัดโรค ลูกหลานเกิดมาพิกลพิการ จะออกจากบ้านสวมหน้ากากกรองอากาศ มันจะคุ้มกันหรือไม่?