'เกษตรกร'มีสิทธิมั๊ย? อยู่เหนือราคาประกัน
เพื่อช่วยเหลือด้านรายได้ของเกษตรกรรัฐบาลจึงทำโครงการประกันรายได้ใน 5 สินค้าเกษตร ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2
โดยมีพืชที่รัฐบาลประกันรายได้ 5 ชนิดได้แก่ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งในปีแรกเป็นความโชคดีของรัฐบาล หรือด้วยกลไกการตลาดทำให้รัฐบาลไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับ ข้าวมากนัก
แต่ในปีนี้ดูเหมือนทุกรายการสินค้า จำเป็นต้องใช้งบประมาณเพื่อประกันรายได้กันทั้งหมดเริ่มตั้งแต่ยางพาราที่ช่วงปลายเดือน ส.ค. ที่ผ่านมาราคาปรับสูงขึ้น แตะกิโลกรัม(กก.)ละ 60 บาท เท่ากับราคาที่รัฐประกันเอาไว้เนื่องจากความต้องการน้ำยางข้นเพื่อเป็นวัตถุดิบของโรงงานผลิตถุงมือยางทั้งในและต่างประเทศปรับเพิ่มขึ้นสูงมาก และคาดกันว่าจะส่งผลให้ราคายางพาราอยู่ในเกณฑ์ที่ดีต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า
ทั้งนี้เพราะกระแสด้านความปลอดภัยจากการระบาดของโรคโควิด 19 ยังไม่จบสิ้น หรือแม้จะจบสิ้นไปแล้วแต่มั่นใจว่า การใช้ถุงมือยาง ยังจะมีต่อเนื่อง ดึงให้ราคายางพาราสูงขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ แต่เพียงชั่วข้ามคืน ราคาปรับลดลงเหลือ56-58 บาทต่อกก. เท่านั้น และลากยาวมาจนถึงปัจจุบัน จำเป็นที่รัฐบาลต้องควักกระเป๋าจ่ายชดเชยส่วนต่าง 2-4 บาทต่อกก.
เช่นเดียวกันมันสำปะหลัง ในปีที่ผ่านมา ราคาหัวมันสดที่เกษตรกรขายได้ ต่ำสุดอยู่ที่ 1.20 บาท เนื่องจากลานมันไม่รับซื้อส่วนหนึ่งเพราะไทยไม่สามารถส่งออกมันเส้นในตลาดจีนได้ ทำให้ต้องขายหัวมันสดส่วนใหญ่ให้กับโรงงานแป้งมันอย่างไรก็ตาม ปัจจุบันจีนได้โล๊ะสต็อกมันเส้นออกสู่ตลาดเพื่อผลิตแก๊สโซฮอลล์ แทนการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ราคาปรับเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องสั่งซื้อมันเส้นจากไทยทดแทนสต็อกที่หายไป ประกอบกับมันสำปะหลังของไทยได้รับผลกระทบจากโรคใบด่าง รัฐบาลต้องเข้าทำลายทิ้งไปกว่า 5 แสนไร่
ทั้งหมดผลักดันให้ราคาหัวมันสำปะหลังสดปรับเพิ่มขึ้น ในทิศทางที่ควรจะสูงกว่าราคาประกันที่กก.ละ 2.50 บาท แต่จนถึงปัจจุบันรัฐบาลยังต้องจ่ายชดเชยส่วนต่างให้กับเกษตรกร กก.ละ 30-33 สตางค์
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งแต่ละปีไทยจะผลิตได้ประมาณ4.5 ล้านตัน ปกติผู้ประกอบการอาหารสัตว์จะถูกบังคับซื้ออยู่แล้ว ที่กก.ละ 8 บาท แต่รัฐบาล ยังประกาศให้อยู่ในโครงการประกันรายได้ที่ กก.ละ 8.50 บาท ซึ่งก็คงต้องเป็นไปตามนั้น ในขณะที่ข้าวที่กำลังจะออกสู่ตลาดในอีก 2เดือนข้างหน้า ซึ่งเป็นจังหวะที่พอดี พอเหมาะกับกระแสราคาข้าวตกต่ำในขณะนี้ตอบรับกับแผนประกันรายได้ของรัฐบาล ที่กำหนดราคาข้าวขาวไว้ที่ 1 หมื่นบาทต่อตันข้าวเปลือก ส่วนราคาข้าวชนิดอื่นๆก็ไต่ขึ้นตามลำดับ
โครงการประกันรายได้ ดังกล่าวดูจะจำเป็นต้องนำมาใช้จริงๆกับทุกรายสินค้าที่ แต่หากมองอย่างเป็นกลาง บางสินค้าที่กลไกการตลาดผลักดันให้ราคาสูงขึ้นอยู่แล้ว แต่มีกลไกบางอย่างหรือเปล่ามากดให้ราคาลดลง เพื่อวัตถุประสงค์อย่างใด อย่างหนึ่งของคนบางกลุ่มซึ่งไม่ส่งผลดีแน่กับเกษตรกรที่ควรมีรายได้เหนือกว่าราคาประกัน
สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวว่า การประกันรายได้เป็นวิธีการที่ง่ายสุดแล้วสำหรับการกำหนดนโยบายรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร แต่ไม่ควรใช้นาน เพราะจะทำให้เกษตรกรเคยชิน และไม่พัฒนาคุณภาพ รัฐบาลใช้งบประมาณมากอย่างเปล่าประโยชน์แข่งขันกับประเทศอื่นได้ยาก เพราะมีต้นทุนที่ไม่เป็นจริง
รัฐบาลต้องออกนโยบายควบคู่ เพื่อค่อยๆลดการประกันลง เช่นไม่รับประกันรายได้ข้าวในพื้นที่ชลประทาน เพราะมีความอุดมสมบูรณ์อยู่แล้ว พัฒนาคุณภาพมันสำปะหลังให้สะอาดขึ้นหรือหันไปปลูกพืชอื่นที่มีราคาดีกว่าเป็นต้น
...หากรัฐบาลยังต้องใช้นโยบายประกันราคาแบบไร้ทิศทางแบบนี้ต่อไป คาดว่าไม่เกิน 3 ปีภาคการเกษตรของไทยจะแย่แน่