‘บาทอ่อน’ ปัจจัยสู่ชัยชนะ ‘สงครามเศรษฐกิจ’
การส่งออก อัตราแลกเปลี่ยนก็เหมือนปืนใหญ่ในกองทัพ ผู้ว่า ธปท.ก็เปรียบเหมือนแม่ทัพ ที่ต้องทำงานสอดประสานกัน จึงจะรบชนะทางเศรษฐกิจ
สำหรับการส่งออก อัตราแลกเปลี่ยนก็เหมือนปืนใหญ่ในกองทัพ ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยก็เปรียบเหมือนแม่ทัพ ถ้ายังไม่เชื่อฟังคำสั่งของรัฐบาลให้รุกเพื่อเพิ่ม GDP ให้ได้ 3-6% แต่กลับตั้งเป้าถอย GDP ลงเหลือ -8% โดยปล่อยให้ค่าเงินบาทแข็งไปเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่รู้ว่าผู้ประกอบการเดือดร้อนอย่างหนัก ประชาชนตกยาก ไร้รายได้ เสถียรภาพเศรษฐกิจการเมืองไปต่อไม่ได้ คนตกงานไปค้ายา จนนักโทษมีมากถึง 400,000 คน
เหมือนหนึ่งรัฐบาลสั่งรุกเข้าไปยึดพื้นที่คืนจากข้าศึก ซึ่งกำลังทำความเดือดร้อนให้กับประชาชน แต่แม่ทัพกลับเพิกเฉยอ้างแต่สัญญาลดกำลังอาวุธซึ่งฝั่งตรงข้ามไม่ปฏิบัติตาม โดยสั่งให้ทหารใช้ปืนใหญ่ยิงได้ไม่เกิน 10 กิโลเมตรตามที่ตกลง แต่ฝ่ายตรงข้ามกลับใช้ปืนใหญ่วิถีทำการ 15 กิโลเมตร แล้วทหารไทยจะไปสู้ใครได้ แล้วไม่สงสารคนไทยในเขตยึดครองของข้าศึกที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส หรือว่าท่านไม่ใช่คนไทย
ในทางธุรกิจ การค้าขาย เงินเป็นเสมือนหนึ่งกองทัพของประเทศ การทำการค้าก็ต้องอาศัยเงินเหมือนกับการรบของประเทศก็ต้องอาศัยทหารหรือกองทัพ การรบกับอุปสรรคต่างๆ ของประเทศก็ต้องอาศัยเงิน นโยบายการเงินที่ถูกต้อง ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยคนคุมนโยบายการเงิน สำหรับประเทศไทยก็คือผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ถ้าต้องการรบชนะทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออก เราก็ต้องอาศัยเงินซึ่งมีศักยภาพสูง นั่นคือเงินที่มีอัตราแลกเปลี่ยนต่ำ เงินบาทต้องไม่แข็งเกินไป ถ้าเงินบาทแข็งเกินไปก็เหมือนกองทัพที่อ่อนแอ ไม่สามารถไปรบกับใครได้ทั้งสิ้น
สำหรับประเทศไทยผู้ดูแลนโยบายการเงินก็คือผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ถ้าท่านต้องการให้รบชนะคืออยากได้ GDP โต 5% หรือ 6% ท่านต้องมีกองทัพหรือการเงินที่แข็งแรง คือเงินบาทต้องอ่อนลงอีก 10% เพื่อเพิ่มศักยภาพกองทัพในการรบ ตามปกติวิสัยทฤษฎีการค้าเสรี เราไม่ควรไปยุ่งกับอัตราแลกเปลี่ยน แต่ในเมื่อธนาคารชาติของประเทศรอบข้างคู่แข่งของเรา เขามายุ่งกับการทำให้เงินของเขาอ่อน เราก็ต้องทำให้เงินบาทเราอ่อนมาใกล้เคียงกับเขาเพื่อที่จะสู้เขาได้ เหมือนหนึ่งกองทัพ ถ้าเขาเพิ่มจรวดเพิ่มเรือบินเรือรบรถถังแล้ว ถ้าเราไม่เพิ่มกองกำลังรบของเรา จะไปสู้กับศัตรูได้หรือ อาณาจักรของเราก็จะถูกหดหายไปเรื่อยๆ
ท้ายที่สุด อย่าหวังเลยว่า GDP จะได้แม้แต่ -8% ก็จะไม่ได้ แต่ถ้าเรายอมให้เงินบาทอ่อนลง 10% กล่าวคือ จาก 31 บาทต่อดอลลาร์เป็น 35 บาทต่อดอลลาร์ เราก็สามารถเพิ่มศักยภาพของกองทัพการเงินให้สู้กับต่างชาติได้ เราสามารถเพิ่ม GDP ให้โตขึ้นอย่างน้อย 5% ได้แน่นอน เมื่อ GDP โตขึ้นอีก 5% ก็จะทำให้โรงงานต่างๆ ในประเทศสามารถเพิ่มกำลังผลิต มีประสิทธิภาพและกำไรมากขึ้น การว่าจ้างแรงงานก็เต็ม 100% คนว่างงานซึ่งต้องไปประกอบอาชีพผิดกฎหมายก็จะน้อยลง (ขณะนี้คนติดคุกคดียาเสพติดมีอยู่ถึง 4 แสนคน แต่ตัวเลขของรัฐบาลกลับบอกว่ามีคนตกงานแค่ 0.5%) ก็จะเป็นการลดภาระของรัฐบาล ลดการสูญเสียเงินภาษี ซึ่งเก็บจากประชาชน
นอกจากนี้ ความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของคนงานก็จะมากขึ้น รัฐบาลไม่ต้องไปชดเชยอะไรทั้งสิ้น เมื่อโรงงานต่างๆ มีกำไรทุกคนก็สนใจที่จะลงทุนเพิ่มขึ้นจะเพิ่ม investments มากขึ้น นอกจากคนไทยจะลงทุนแล้วต่างชาติพอเห็นมีกำไรต่างชาติคนจะวิ่งมาลงทุนมากขึ้นอีก ค่าแรงของคนงานก็จะเพิ่มขึ้น ตามที่รัฐบาลต้องการให้เห็นความอยู่ดีกินดีของประชาชน
เมื่อทุกคนมีกำไร มีรายได้เพิ่มขึ้นรัฐบาลก็สามารถเก็บภาษีอากรได้มากขึ้น ทำให้งบการลงทุนของรัฐบาล งบค่าใช้จ่ายของรัฐบาลเพิ่มขึ้น ทำให้เสถียรภาพทางการคลังทางการเมืองของรัฐบาลดีขึ้น และเสถียรภาพทางการเงินของประเทศก็ดีขึ้นเช่นกัน และที่สำคัญประชาชนทั้งประเทศก็จะอยู่ดีกินดีด้วย
แต่ตรงนี้มีข้อเสียอยู่นิดเดียวคือ ขณะนี้เราได้เกินดุลการค้าอยู่ประมาณ 90,000 ล้านบาทต่อเดือน ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องออกมาประกันเงินดอลลาร์ในอัตรา 35 บาท ทำให้จะต้องออกพันธบัตรเพิ่มอีก 10% ก็คือ 9,000 ล้านบาทต่อเดือน หรือเท่ากับประมาณ 108,000 ล้านบาทต่อปี เทียบกับเงินหมุนเวียน M1 Money Supply ซึ่งมีอยู่ประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท ทำให้เงินหมุนเวียนมีมากขึ้นประมาณ 4% ต่อปี มีผลทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นประมาณ 4% ต่อปี (เมื่อหักค่า deflation 2% จากปัจจัยคนว่างงานและ COVID-19 จะทำให้เงินเฟ้อ 2%)
ทั้งนี้ จะมีผลทำให้ค่าแรงเพิ่มขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์ต่อการอยู่ดีกินดีของประชาชน เพราะฉะนั้น การที่รัฐบาลจะให้ได้ GDP โตขึ้นถึง 5% จำเป็นต้องให้แม่ทัพการเงินคือผู้ว่าการ ผู้ดูแลนโยบายการเงิน หรือผู้ว่าการธนาคารประเทศไทยต้องลดค่าเงินบาทลง 10% มิฉะนั้นรัฐบาลจะไม่มีหวังที่จะได้รบชนะ และรัฐบาลจะไม่สามารถที่จะทำ GDP ให้โตอีก 5% โดยอาศัยนโยบายการคลังจากกระทรวงการคลังอย่างเดียว
เพราะถ้าในการค้า รัฐมนตรีคลังเทียบเท่ากับรัฐมนตรีกลาโหมในการรบนั่นเอง ถ้าไม่สามารถให้แม่ทัพเสริมกองทัพให้แข็งแรงได้ก็ไม่มีวันที่จะรบชนะ โดยแม่ทัพที่คุมกองทัพหรือผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้คุมนโยบายการเงินไม่ให้ความร่วมมือเพิ่มศักยภาพของกองทหาร ก็อย่าหวังชนะการรบนี้เลย
นอกจากนี้ รัฐบาลควรผ่อนผันการเดินทางเข้ามาทำธุรกิจและการทัศนาจรของชาวต่างประเทศ ภายใต้การดูแลอย่างเข้มงวด โดยให้กินยาฆ่าเชื้อไวรัส Corona virus ที่ทาง TPI ใช้อยู่อย่างได้ผล (BIOKNOX) โดยพนักงานใช้ดื่มฆ่าเชื้อไวรัสและใช้เจลล้างมือพร้อมใส่ MASK ป้องกัน กระทั่งบัดนี้พนักงานและสมาชิกในครอบครัวเป็นแสนคนก็ไม่มีใครติดโรค COVID สำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ถนน รถไฟ สนามบิน คลองส่งน้ำ โรงไฟฟ้า ประปา โรงพยาบาล ไม่ควรชะลอการสร้าง เพราะจะเป็นการสร้างงานและกระจายเงินให้ประชาชน เพิ่ม GDPได้อย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์
นโยบายการเงินธนาคารแห่งประเทศไทยควรสั่งสถาบันการเงินผ่อนปรนการจัดลำดับหนี้ การเป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ออกไปจนกว่าเศรษฐกิจจะกลับมาเหมือนเดิม และพักการชำระดอกเบี้ยสำหรับผู้ประกอบการและคนยากจน ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้มาตรการฉุกเฉินระงับการประกอบธุรกิจและการเดินทางของรัฐบาล เพราะเป็นเหตุสุดวิสัย
ด้วยอำนาจรัฐและรัฐบาลอาจชดใช้ดอกเบี้ยให้ธนาคารพาณิชย์เท่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ประมาณ 0.1-0.4% ต่อปี เพื่อให้เกิดเสถียรภาพทางการเงินและการคลังของประเทศ ทำให้ทุกคนสามารถฟื้นกลับมาประกอบอาชีพได้ตามปกติ
*บทความโดย ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน)