รู้จักกุนซือของโดนัลด์ ทรัมป์

รู้จักกุนซือของโดนัลด์ ทรัมป์

ทำความรู้ผู้อยู่เบื้องหลังนโยบายด้านต่างๆของโดนัลด์ ทรัมป์ หรือ กุนซือ ข้างกายที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดท่าที ความคิดและความเชื่อต่างๆ

หลังจากที่โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับการเปิดเผยว่าหายจากโควิดแล้ว น่าจะเป็นจุดที่ทางโดนัลด์ ทรัมป์ จะพยายามสร้างความได้เปรียบทางการเมืองมากขึ้นผ่านการหาเสียงบนเวทีตามทางที่ถนัด บทความนี้จะพาท่านมารู้จักผู้อยู่เบื้องหลังนโยบายด้านต่างๆของโดนัลด์ ทรัมป์ ว่ามีใครและมีแนวคิดอย่างไรกันบ้าง ดังนี้ 

เริ่มจาก รอย คอห์น เขาคือ กุนซือคนแรกในชีวิตของโดนัลด์ ทรัมป์ โดยคอห์นเป็นอัยการให้กับนักการเมืองระดับบิ๊กๆมาตั้งแต่ยุคปี 1950 ในนิวยอร์ก คอห์นได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่มีความคิดที่เป็นขบถต่อหลักการทางกฎหมายหรือระบบของบ้านเมือง โดยเขาไม่เคยได้เสียภาษีให้กับรัฐบาล เนื่องจากเห็นว่าจะถูกนำไปใช้ในระบบราชการที่เป็นแบบเช้าชามเย็นชาม รวมถึงต้องต่อสู้คดีให้กับตนเองเกือบจะตลอดชีวิตในการทำงานด้วยคดีที่ค่อนข้างท้าทาย โดยหลายคนเชื่อว่าการที่ทรัมป์มักจะสามารถเลี่ยงการจ่ายภาษีอยู่จนล่าสุดเป็นข่าวดัง ก็ได้อิทธิพลมาจากแนวคิดของคอห์น ว่ากันว่าคอห์นเป็นผู้ที่ทำให้ทรัมป์มารู้จักกับรูเพิร์ต เมอร์ด็อค ผู้คร่ำหวอดด้านสื่อทีวีและธุรกิจสื่อสารทั่วโลก โดยคอห์นเสียชีวิตในวัยไม่ถึง 60 ปีเมื่อกว่า 30 ปีก่อน

 นอกจากนี้ การที่ทรัมป์เป็นนักการเมืองแนวดุเดือดแบบที่กล้าได้กล้าเสีย ส่วนหนึ่งก็ได้อิทธิพลมาจากแนวทางของคอห์นเช่นกัน

 กุนซือท่านที่สอง ได้แก่ โรเจอร์ สโตน นักกลยุทธ์การเมืองซึ่งเป็นที่ปรึกษาให้กับประธานาธิบดีของพรรครีพับลิกัน ไล่มาตั้งแต่ ริชาร์ด นิกสัน โรนัลด์ เรแกน จอร์จ บุช และ ล่าสุด โดนัลด์ ทรัมป์  เช่นเดียวกับคอห์น สโตนก็เป็นผู้ที่มีคดีความมาตลอดเส้นทางการเมือง ล่าสุด ได้แก่ประเด็นการแทรกแซงของรัสเซียต่อการเลือกตั้งสหรัฐเมื่อปี 2016 จนเมื่อต้นปีนี้ ศาลได้ตัดสินให้สโตนต้องโทษจำคุก ทว่าทรัมป์ได้ขอช่วยลดโทษให้

 จากสารคดีดังใน Netflix ว่ากันว่า สโตนเป็นผู้ชักชวนทรัมป์ให้เข้ามาสมัครเลือกตั้งในตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ โดยทรัมป์เคยคิดจะลงสมัครชิงชัยในตำแหน่งผู้นำสหรัฐมาก่อนหน้านี้ อย่างน้อย 2 ครั้ง ที่ค่อนข้างดังคือการตัดสินใจว่าจะลงชิงชัยแบบอิสระในปี 2000  ทว่าท้ายสุดก็ไม่ลงสมัคร อีกครั้งหนึ่งคือการลังเลที่จะสมัครลงชิงชัยตำแหน่งผู้นำสหรัฐในปี 2012 คราวนี้ กะว่าจะสมัครในนามพรรครีพับลิกัน โดยทุกครั้ง สโตนก็คอยเชียร์ให้ทรัมป์ลงสมัคร โดยเขาบอกว่าเห็นบางอย่างที่บ่งบอกถึงความเป็นประธานาธิบดีในตัวทรัมป์มานานแล้ว 

โดยสโตนมองว่า การที่ทรัมป์เป็นเจ้าของและพิธีกรรายการดัง The Apprentice ในทีวีอเมริกา ถึง 14 ปี ได้ทำให้ประชาชนสหรัฐเชื่อว่าทรัมป์เป็นผู้นำทั้งในรายการบันเทิงนี้ และสามารถเป็นผู้นำในโลกแห่งความจริงได้ด้วย

 

กุนซือท่านที่ 3 ได้แก่ จอห์น เทย์เลอร์ เจ้าของกฎที่ชื่อว่า Taylor Rule หรือกฎของเทย์เลอร์ ซึ่งต้องการให้ตั้งระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้นเมื่อจีดีพีเติบโตเร็วกว่าค่าเฉลี่ยและเมื่ออัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นแบบที่กำหนดขนาดเป็นสูตรคณิตศาสตร์ จะทำให้กำหนดระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้

 

ซึ่งการชื่นชมแบบตรงๆต่อการดำเนินการนโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์นั้น ถือว่าไม่ใช่สไตล์ของเทย์เลอร์ที่เคยเห็นมา หลายฝ่ายจึงมองว่า อาจเป็นไปได้ว่ารัฐบาลของโดนัลด์ ทรัมป์ จะส่งสัญญาณว่าจะให้เทย์เลอร์เข้ามาทำงานในเฟด เพื่อมาพิจารณาแนวทางดังกล่าวในการดำเนินนโยบายการเงินให้สอดคล้องกับแนวทางของทรัมป์ทั้งในมิติของเศรษฐกิจและการเมือง

 

กุนซือท่านที่ 4 ได้แก่ ปีเตอร์ นาวาโร่ ผู้ที่มาเป็นศูนย์กลางของทรัมป์สำหรับสงครามการค้า  จะว่าไปนาวาโร่จัดเป็นนักวิชาการที่คอยป้อนไอเดียว่าจีนจ้องเอาเปรียบสหรัฐด้านใดบ้างให้กับทีมของทรัมป์ มากกว่าจะลงรายละเอียดในการตั้งกำแพงภาษี ผมมองว่านาวาโร่ออกจะมีความคิดที่เป็นกลยุทธ์ของสงครามเศรษฐกิจมากว่าเชิงเศรษฐศาสตร์ ซึ่งนายทรัมป์เอามาใช้เพื่อเอาใจฐานเสียงของตัวเองในการเลือกตั้งครั้งนี้

 

นอกจากนี้ยังมี สตีฟ มนูชิน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐ ที่คอยสื่อสารและคุมจังหวะของ Trade war ไม่ให้เลยเถิดเกินไปในสายตานักธุรกิจและวอลล์สตรีท

 

มาดูฝ่ายบู๊ของทีมทรัมป์กันบ้าง ตัวหลักคือ นายโรเบิร์ต ไลต์ธิเซอร์ เป็นผู้ที่มีบทบาทมากที่สุดในทีมทรัมป์สำหรับการจัดเต็มสงครามการค้ากับจีนในรอบนี้ เขาเป็นผู้ที่คว่ำหวอดในวงการการค้าต่างประเทศ โดยเป็นบุคลากรด้านการค้าอาวุโสมาตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ในยุคทศวรรษ 1980 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นมาแรงจากการเติบโตของอุตสาหกรรมการผลิตในตอนนั้น มาในพ.ศ.นี้ ไลต์ธิเซอร์ได้ขึ้นมาเป็นหัวหน้าผู้แทนการค้าของสหรัฐ โดยการแต่งตั้งของประธานาธิบดีทรัมป์ เมื่อเห็นจีนเริ่มยิ่งใหญ่ทางด้านเทคโนโลยีชั้นสูง ก็เลยโชว์พลังด้วยการแบนสินค้าด้านไฮเทคที่สหรัฐกังวลว่าจีนจะเด่นแซงหน้า โดยกล่าวหาว่าจีนในอดีตใช้แท็คติคทางการค้าต่างๆ สืบทราบจนได้ความรู้ทางเทคโนโลยีจากบริษัทชั้นนำของสหรัฐ

 

ซึ่งแน่นอนว่าเราจะเห็นประเด็นสงครามทางเศรษฐกิจกับจีนและประเทศอื่นทั่วโลกมากขึ้นเรื่อยๆ ในยุคของทรัมป์สมัยที่ 2 หากเขาสามารถชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้