5 Climate Technology พลิกเกมอุตสาหกรรมไทย
"บีไอจี" เปิด 5 เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หนุนอุตสาหกรรมไทยเติบโตระยะยาว ชี้อนาคตอุตฯ แข่งขันที่คาร์บอนต่ำ ไม่ใช่ต้นทุนต่ำ
นายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บีไอจี กล่าวในงานสัมมนา "Generating a Cleaner Future" จัดโดยบีไอจี และกรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันที่ 19 พ.ย.2567 ว่า การเติบโตของภาคอุตสาหกรรมไทยถดถอยลงอย่างน่าใจหาย ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมไทยพยายามที่จะลดต้นทุนจนไม่สามารถลดอะไรได้อีกแล้ว และเพิ่มผลผลิต แต่ตัวเลขการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมกลับไม่ขยับเพิ่มขึ้น ในเดือนก.ย.2567 อัตราการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมไทยหดตัว 3%
ขณะที่ในวันนี้ และในอนาคตอุตสาหกรรมไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของโดนัลด์ ทรัมป์ สมัยที่ 2 ซึ่งนำไปสู่การกีดกันทางการค้าที่รุนแรงขึ้น นอกจากนี้ยังมีความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งต้นทุนพลังงานที่ผันผวน
นอกจากนี้ ในอนาคตอุตสาหกรรมไทยจะยังเผชิญกับความท้าทายหลัก 3 เรื่อง ได้แก่
1. ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ ที่นำไปสู่สงครามการค้า การตั้งกำแพงภาษี ซึ่งทำให้สินค้าจีนล้นทะลักเข้ามาในประเทศ
2. การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี อาทิ AI, Digital และ Data ซึ่งใครที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ก็จะได้เปรียบขณะที่คนที่เข้าถึงไม่ได้จะเสียเปรียบ
3.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะเพิ่มต้นทุนภาคการผลิตขึ้นอย่างมาก
“ในวันนี้มีเพียงธุรกิจน้อยรายที่ยังสามารถขยายตัวได้ ท่ามกลางปัจจัยกดดันข้างต้น ซึ่งบีไอจีเชื่อว่า Climate Technology จะช่วยเปลี่ยนแปลงความท้าทายให้เป็นโอกาสได้”
นายปิยบุตร กล่าวต่อว่า การเติบโตของธุรกิจที่มีความยั่งยืนอย่างแท้จริง จะต้องคำนึงถึงการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการสร้างโอกาสให้กับสังคมคนในชุมชน
ทั้งนี้ บีไอจีในฐานะบริษัทลูกของ แอร์โปรดักส์ (Air Products) ผู้ดำเนินธุรกิจก๊าซอุตสาหกรรมระดับโลก มีเป้าหมายที่จะเป็นพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจของภาค อุตสาหกรรมผ่านเทคโนโลยีเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพ (Climate Technology) 5 ด้าน ประกอบไปด้วย
1. Carbon Capture เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่บีไอจีกำลังพัฒนา
และจะนำเข้ามาใช้ในประเทศไทยเร็วๆ นี้
2. Hydrogen Economy ไฮโดรเจนจะเป็นเศรษฐกิจใหม่ที่ทำให้ภาคอุตสาหกรรมปลดปล่อยคาร์บอนต่ำลง
3. Low Carbon Applications เครื่องมือในการนำก๊าซอุตสาหกรรมไปใช้ซึ่งปลดปล่อยคาร์บอนต่ำ
4. Carbon Management Platform แพลตฟอร์มบริหารการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่มีเอไอช่วยคำนวณ ติดตาม และวิเคราะห์การปล่อยก๊าซคาร์บอนในการดำเนินการเพื่อวางแผนการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก
5. Bio, Circular, Green การพัฒนาพลังงานชีวมวลในประเทศ
“จากนี้ไปการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมจะไม่ใช่การแข่งขันที่ต้นทุนต่ำ (Low Cost) แต่จะเป็นการแข่งขันการปลดปล่อยคาร์บอนต่ำ (Low Carbon) ซึ่งใคร Climate Tech จะเป็นตัวเปลี่ยนเกม”
ทั้งนี้ บีไอจี พร้อมจะเป็นตัวช่วยในการวางแผนกลยุทธ์เทคโนโลยีที่เหมาะสมตามโรดแมปลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคอุตสาหกรรมเพื่อบรรลุเป้าหมายเน็ตซีโร่
โดยบริษัทแม่ของบีไอจีมีการลงทุนด้าน Blue Hydrogen รวมกว่า 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งในปี 2027-2028 ฐานการผลิตในหลุยส์เซียนา สหรัฐจะพร้อมใช้งาน รวมทั้งฐานการผลิตในซาอุดีอาระเบียที่เป็น Green Hydrogen ซึ่ง มีโอกาสที่ไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำเหล่านี้จะสามารถนำเข้ามาใช้ในประเทศไทย ในราคาที่ไม่แพง
“วันนี้เทคโนโลยีพร้อมแล้วรวมทั้งมีการวางโรดแมปพร้อมแล้ว สิ่งที่เหลือคือ ภาคอุตสาหกรรมต้องลงมือทำ การเปลี่ยนแปลงกำลังเกิดขึ้นแล้วเพราะฉะนั้นตอนนี้เราเหลือเวลาอีกไม่มากในการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์