อันเนื่องมาจากเรื่องของ 'มหาเศรษฐี'
คอลัมน์นี้นำเรื่องราวของบรรดา มหาเศรษฐีโลก ที่ประกาศว่าจะบริจาคทรัพย์สินจำนวนมหาศาลเพื่อการกุศล
คอลัมน์นี้นำเรื่องราวของบรรดามหาเศรษฐีมาเล่าหลายครั้งรวมทั้งเรื่องของสองคู่หูต่างวัย วอร์เรน บัฟเฟตต์ และ บิล เกตส์ คู่นี้เป็นมหาเศรษฐีมานานและในช่วงเวลาหลายปี สลับกันเป็นมหาเศรษฐีลำดับ 1 และลำดับ 2 ของโลก อย่างไรก็ดี ในระยะหลังนี้ ตำแหน่งมหาเศรษฐีลำดับ 1 ของโลกถูก เจฟฟ์ เบซอส ยึดไปครอง
คงเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า เจฟฟ์ เบซอส เป็นมหาเศรษฐีจากการทำกิจการ “อี-คอมเมอร์ส” อันเป็นการค้าขายผ่านการสั่งซื้อทางสื่ออีเล็กทรอนิกส์และจัดส่งถึงบ้านแทนการไปเดินซื้อหาตามร้านค้าต่าง ๆ เขาเป็นวิศวกรผู้มองการณ์ไกลและได้บุกเบิกธุรกิจด้านนี้เมื่อปี 2537 เริ่มด้วยการให้บริการสั่งและส่งหนังสือ หลังเวลาเพียง 26 ปี เขามีทรัพย์สินถึงเกือบ 2 แสนล้านดอลลาร์ หรือใกล้ 6 ล้านล้านบาท ทรัพย์สินส่วนใหญ่อยู่ในรูปมูลค่าของหุ้นในบริษัทแอเมซอนซึ่งพุ่งขึ้นแบบก้าวกระโดดเมื่อเกิดโรคระบาดจากไวรัสโควิด-19 ทำให้คนส่วนใหญ่ในอเมริกาออกไปซื้อหาสิ่งของตามร้านค้าตามปกติไม่ได้ส่งผลให้จำเป็นต้องใช้บริการอี-คอมเมอร์ส
หลังก้าวขึ้นมาเป็นมหาเศรษฐีในลำดับต้น ๆ ของโลก เจฟฟ์ เบซอส ประกาศว่าจะบริจาคทรัพย์สินจำนวนมหาศาลเพื่อการกุศล อย่างไรก็ดี เขามิได้เข้าร่วมโครงการของวอร์เรน บัฟเฟตต์ และ บิล เกตส์ ชื่อ The Giving Pledge ซึ่งเป็นเสมือนกระดานสื่อสารกลางตั้งขึ้นเมื่อปี 2553 สำหรับให้บรรดามหาเศรษฐีที่มีใจกุศลเขียนคำมั่นสัญญาว่าจะบริจาคอย่างน้อยกึ่งหนึ่งของทรัพย์สินเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ณ วันนี้ มีมหาเศรษฐีจาก 24 ประเทศให้คำมั่นสัญญาแล้ว 211 คน หรือครอบครัว วอร์เรน บัฟเฟตต์สัญญาว่าจะบริจาค 99% ของทรัพย์สิน และ บิล เกตส์ จะบริจาค 95% ทั้งคู่บริจาคไปแล้วคนละหลักหมื่นล้านดอลลาร์ ด้าน เจฟฟ์ เบซอส ตั้งกองทุนขึ้นมาชื่อ The Earth Fund ชื่อนี้ชี้ชัดว่า เขาจะเน้นด้านการปกปักรักษาโลกของเรา เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา กองทุนนี้แถลงว่าจะมอบทุนจำนวน 791 ล้านดอลลาร์ให้แก่องค์กรขนาดต่าง ๆ 16 แห่งที่ทำงานด้านการลดภาวะโลกร้อน
เจฟฟ์ เบซอส ประกาศด้วยว่าจะบริจาคทรัพย์สิน เพื่อสนับสนุนกิจการด้านการลดภาวะโลกร้อนและการปกปักรักษาสิ่งแวดล้อมต่อไปจนครบ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ จุดยืนของเขาทางด้านนี้จึงต่างกับของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แบบอยู่คนละสุดขั้ว อาจเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า ในช่วงเวลาเกือบ 4 ปีที่รั้งเก้าอี้ประธานาธิบดีของสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมป์ พยายามทุกวิถีทางที่จะทำลายมาตรการของรัฐบาลในด้านปกปักรักษาสิ่งแวดล้อมและลดภาวะโลกร้อน หลังพ่ายแพ้การเลือกตั้งเมื่อต้นเดือนนี้ (ที่เขายังไม่ยอมรับ) และจะต้องลงจากเก้าอี้ในอีก 8 สัปดาห์ข้างหน้า มีรายงานว่า เขาจะเร่งออกใบอนุญาตให้บริษัทพลังงานต่าง ๆ เข้าไปขุดเจาะหาน้ำมันได้ในย่านที่มีความเปราะบางทางสิ่งแวดล้อมสูงโดยเฉพาะในรัฐอะแลสกา
จุดยืนและพฤติกรรมของโดนัลด์ ทรัมป์มักถูกประณามโดย นสพ. วอชิงตันโพสต์ซึ่ง เจฟฟ์ เบซอส เป็นเจ้าของ จริงอยู่ เจฟฟ์ เบซอส ประกาศว่าจะไม่เข้าไปก้าวก่ายในเรื่องมุมมองของหน้าบรรณาธิการในวอชิงตันโพสต์ แต่ถ้าบรรณาธิการยืนอยู่คนละขั้วกับเขาแบบพูดกันไม่ได้ยิน เขาคงไม่จ้างมาทำงาน เป็นที่น่าสังเกตว่า ตามธรรมดาโดนัลด์ ทรัมป์จะใช้สื่อสังคมโจมตีใครต่อใครที่ไม่เห็นด้วยกับเขาแบบแทบไม่เว้นวัน บางทีเขาโจมตีอย่างเผ็ดร้อนแบบกัดไม่ปล่อย แต่ ณ วันนี้ ยังไม่มีรายงานว่าเขาโจมตี เจฟฟ์ เบซอส
ในกรณีของ บิล เกตส์ ก็เช่นกัน ตั้งแต่วันไวรัสโควิด-19 เริ่มระบาดในอเมริกา บิล เกตส์ ออกมาต่อต้านพฤติกรรมและนโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ อย่างต่อเนื่องเพราะโนดัลด์ ทรัมป์ ไม่ให้ความสำคัญต่อคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาด ชาวอเมริกันจึงล้มป่วยและตายในระดับสูงกว่าประชาชนของประเทศอื่นรวมทั้งประเทศที่ล้าหลังและยากจนกว่าสหรัฐมาก
ปรากฏการณ์ที่เล่ามานี้น่าจะชี้ให้เห็นแบบเป็นที่ประจักษ์ว่า แม้จะมีเงินและกำอำนาจล้นฟ้า แต่โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่กล้าแสดงความก้าวร้าวและโจมตีบรรดามหาเศรษฐีเพราะตนมีเงินน้อยกว่าเขา หรืออาจสรุปได้ในอีกนัยหนึ่งว่า โดนัลด์ ทรัมป์ กลัวเงิน