เลือกตั้งเมียนมาตื่นเต้น
ในเดือนพฤศจิกายน 2020 นอกจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่คนจำนวนมากจับตามองแล้วยังมีการเลือกตั้งในเมียนมาอีกด้วย
ผลของการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกาเป็นไปตามที่พยากรณ์กัน ถึงแม้จะหวาดเสียวอยู่มากในตอนแรกก็ตาม ส่วนผลของการเลือกตั้งในเมียนมานั้นเรียกได้ว่าน่าหวาดเสียวและผิดโผไปพอควรทีเดียว
เมียนมาเป็นเพื่อนบ้านสำคัญของเรา โดยมีพรมแดนติดกับเรายาวถึง 2,400 กิโลเมตร หากเมียนมาก้าวหน้าไปด้วยดี ไม่มีปัญหาหนักหนาเป็นอุปสรรคก็จะเป็นผลดีร่วมกันของทั้งสองประเทศและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค
พม่าเป็นประเทศที่มีลักษณะพิเศษด้านพรมแดน เพราะมีพื้นที่ติดกับประเทศอื่นถึง 5 ประเทศอันได้แก่ จีน อินเดีย บังคลาเทศ ลาว และไทย มีพื้นที่มากกว่าไทยประมาณ 30% (ไทยมีพื้นที่ 500,000 ตารางกิโลเมตร) มีพลเมือง 54 ล้านคน เป็นเชื้อชาติเบอร์มัน (พม่า) ประมาณ 2 ใน 3 (68%) นอกจากนั้นก็ประกอบด้วย 7 รัฐของกลุ่มชาติพันธุ์ รัฐใหญ่สุด คือชาน (ไทยใหญ่) มีประชากร 9% ไล่เรียงลงไปคะฉิ่น กะเหรี่ยง มอญ ฯลฯ
ประชากรของเมียนมา นับถือพุทธศาสนา 87.9 คริสเตียน 6.2% อิสลาม 4.3% ในขณะที่ไทยมีคนพุทธ 95% อิสลาม 4% คริสต์ 1% ไทยมีปัญหาในเรื่องความมั่นคงอันเนื่องมาจากการขาดความเป็นเอกภาพน้อยกว่ามาก
ทหารพม่าครองอำนาจมาตั้งแต่ปี 1962 เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ ในวันที่ 8 ของเดือน 8 (สิงหาคม) ปี 1988 จนมีการเลือกตั้งในปี 1990 นางออง ซานซูจี (ลูกสาวของผู้ก่อตั้งกองทัพบกพม่าถือกันว่าเป็นบิดาของเมียนมาสมัยใหม่จากการเป็นผู้นำต่อสู้อังกฤษ ผู้เป็นเจ้าอาณานิคมจนได้รับเอกราชหลังสงครามโลกครั้งที่สอง) ลงเลือกตั้งและได้รับคะแนนท่ามท้นกว่า 60% และได้คะแนนจากที่นั่งในรัฐสภา 80% แต่ไม่ได้เป็นประธานาธิบดี รัฐบาลทหารคุมขังเธอไว้ในบ้านเป็นเวลาถึง 15 ปี
ในปี 2010 พรรค NLD (National League for Democracy) ของเธอ บอยคอตการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่ ในปี 2012 ในการเลือกตั้งซ่อมพรรค NLD ก็ส่งคนลงเลือกตั้งเพื่อทดสอบความนิยมก็ปรากฎว่าใน45 ที่นั่งที่มีการเลือกตั้ง พรรค NLD กวาดไป 43 ที่นั่ง
เมื่อการเมืองพม่าเปิดกว้างขึ้นอันเป็นผลจากแรงกดดันให้เป็นประชาธิปไตยจากสังคมโลกในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหญ่เลือกประธานาธิบดีและผู้แทนราษฎร ในปี 2015 พรรค NLD ของออง ซาน ซูจี หรือที่คนเมียนมาเรียกเธออย่างรักใคร่ว่า “คุณแม่ SUU” ก็พร้อมลงเลือกตั้ง ถึงแม้ว่าบทบัญญัติรัฐธรรมนูญระบุว่า ผู้มีสามีหรือภริยา หรือมีลูกเป็นคนสัญชาติอื่นไม่สามารถเป็นประธานาธิบดีได้ก็ตาม พรรคคู่แข่งคือพรรค USDP (Union Solidarity and Development Party) ซึ่งเป็นตัวแทนทหาร นอกจากนี้ก็มีพรรคเล็ก ๆ อีกมากจนรวมกันแล้วกว่า 90 พรรค
รัฐธรรมนูญเมียนมาระบุให้ประธานาธิบดีมีวาระ 5 ปี ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีแต่ละครั้งจะมีสองขั้นตอน คือ ครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน และสองในเดือนมีนาคมของปีถัดมา ขั้นตอนแรกมีการเลือกตั้งสภาบน จำนวน 224 คน สภาล่างคือสภาผู้แทนราษฎร 440 คน รวมกันทั้งหมด 664 คน
อย่างไรก็ดี ไม่ได้เลือกตั้งที่นั่งทั้งหมดเพราะที่นั่งจำนวน 25% ของทั้งสองสภาจะเป็นของทหารโดยไม่ต้องลงเลือกตั้ง กล่าวคือ 56 คนในสภาบน และ 110 คน ในสภาล่างรวมเป็นของทหาร 166 คน จึงมีการเลือกตั้งเพียง 498 ที่นั่ง (664-166 = 498 )
ในเดือนมีนาคมของปีถัดมา ทั้งสามกลุ่มคือพรรคที่ได้คะแนนสูงสุดของสภาบน สภาล่างและทหาร รวม 3 คนก็จะมาประชุมกัน แต่ละฝ่ายส่งชื่อ 1 คนสมัครเป็นประธานาธิบดี ถ้า 2 ใน 3 เลือกใคร ก็จะได้เป็นประธานาธิบดี อีก 2 คนก็เป็นรองประธานาธิบดี ดูตัวเลขนี้แล้วจะเห็นได้ว่าทหารชนะได้เป็นประธานาธิบดีนั้นไม่ยากเลยเพราะมี 166 คนอยู่แล้วในกระเป๋า หากได้อีกเพียง 167 ก็จะเป็น 333 ซึ่งเกินกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวน 664 ซึ่งเป็นจำนวนที่นั่งของทั้งสองสภา (ครึ่งหนึ่งของ 664คือ 332)
อย่างไรก็ดีในการเลือกตั้งในปี 2015 ครั้งที่แล้ว “คุณแม่ SUU” อาละวาด พรรค NLD กวาดที่นั่งทั้งหมด 390 (135 จากสภาบน และ 255 จากสภาล่าง)อย่างถล่มทลาย NLD ลอยลำเป็นแชมป์ลงคะแนนให้ Htin Kyaw (ตินจ่อ) เป็นประธานาธิบดี แต่ก็เป็นในนาม เมื่อรัฐธรรมนูญไม่ให้ “คุณแม่ SUU” เป็น ก็เลยมีตำแหน่ง State Counsellor of Myanmar เป็นประธานาธิบดีตัวจริงไป
5 ปีผ่านไป ไวเหมือนโกหก รัฐบาล “คุณแม่ SUU” ถูกตำหนิและชื่อเสียงตกต่ำในสายตาชาวโลกมากเพราะกรณีฆ่าโหดโรฮิงยา ซึ่งเป็นคนมุสลิมที่เกิดในพม่าแต่เป็นเชื้อสายบังคลาเทศ (อยู่ในรัฐอาระกัน ตะวันตกเฉียงเหนือของพม่า ซึ่งคนในบริเวณนี้เหมือนถูกตัดออกจากประเทศเพราะต้องเดินทางผ่านภูเขาลำธารและมีช่องทางเป็นพิเศษ)
“คุณแม่ SUU” ทำงานด้วยความยากลำบากเพราะแท้จริงแล้วอำนาจอยู่ในมือทหารเป็นส่วนใหญ่ (3 รัฐมนตรี คือ กลาโหม มหาดไทย ป้องกันชายแดนเป็นของทหารตามรัฐธรรมนูญ) ทีมงานของเธอก็มีประสบการณ์น้อยในการบริหารประเทศ มีผู้ใหญ่อายุมากและจำนวนหนึ่งติดคุกมาหลายปี เธอต้องจำยอมประสานประโยชน์กับทหารเป็นอย่างมากเพราะทั้งสองต่างต้องพึ่งกันเพื่อให้ประเทศพม่าอยู่รอดได้
รัฐบาลมีข้อจำกัดในการสร้างผลงาน ถึงแม้ว่าจะพยายามอย่างมากก็ตาม ประชาชนทั่วไปก็ดูจะไม่ประทับใจมากนัก ผลงานการสร้างความเป็นเอกภาพกับ 7 รัฐของกลุ่มชาติพันธุ์ ก็ไม่ไปไกลเพราะทหารไม่เห็นด้วยกับการให้สิทธิพิเศษในการปกครองตนเองตามที่เคยสัญญากันมานาน ดังนั้นในการเลือกตั้ง 2020นี้ ผู้สังเกตการณ์เรื่องพม่าก็หวาดเกรงมากว่า NLD จะไม่ชนะได้ที่นั่งอย่างมากเพียงพอที่จะเอาชนะทหารที่มีแต้มต่ออยู่แล้ว 166 ที่นั่ง ถ้าไม่ชนะแบบคราวที่แล้วก็ตกจากอำนาจแน่นอน และพม่าก็อาจจะกลับมารอบใหม่ วนไปวนมาเลือกตั้งบ้างปฏิรูปบ้างเหมือนเพื่อนบ้าน “สาระขัณฑ์” ที่อยู่ติดกัน
การคาดการณ์ผิดครับ คนเมียนมาโดยเฉพาะเชื้อสายพม่า (เบอร์มัน) แห่กันมาลงคะแนนเป็นพิเศษ จนชนะแบบถล่มทลายยิ่งกว่าเก่าอีก คือชนะสภาบน 138 และชนะสภาล่าง258 รวมเป็น 396 มากกว่าครั้งที่แล้วถึง 6 ที่นั่ง (USDPได้เพียง13)อีกทั้งที่นั่งสภาบนก็เกินครึ่งหนึ่งคือ 112 และที่นั่งสภาล่างก็เกินครึ่งหนึ่งคือ 220 ดังนั้น ในเดือนมีนาคมปีหน้าจะส่งชื่อไปได้หนึ่งชื่อซ้ำกัน เมื่อ 2 สภากับฝ่ายทหารลงคะแนน NLD ก็ต้องชนะแน่นอน (นอกจากจะเปลี่ยนกติกาใหม่!) เพราะมีเสียง 2 ใน 3
ถึงแม้โควิด-19 จะระบาดหนัก (ป่วย 71,730 และตาย 1,625 คน) แต่ผู้รักประชาธิปไตยของเมียนมาก็ไม่กลัว พากันลงคะแนน จน “คุณแม่ SUU” ชนะสมใจเพื่อจะได้ทำงานให้คน เมียนมาต่อไป