ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีน อีก4 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร?
เมื่อช่วงคืนวันเสาร์ที่ผ่านมา สื่อดังฝั่งสหรัฐอย่าง Washington Post เปิดเผยว่า คุณโดนัลด์ ทรัมป์ ตั้งใจจะกลับมาสู้กับนายโจ ไบเดนอีกครั้ง
ก่อนอื่น เราน่าจะเห็นภาพเดียวกันนะครับ ว่า หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนกลายเป็นวิกฤติการเงินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกทุนนิยมสมัยใหม่ครั้งนี้ ได้เปลี่ยนโฉมหน้าของห่วงโซ่อุปทานโลก (Global Supply Chain) ที่ทั้งโลกมีความเชื่อมโยงกัน ให้ลดขนาดของความเชื่อมโยง จาก Globalization เป็น Regionalization ที่ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ
ส่วนหนึ่งก็เพราะนโยบาย American First ภายใต้ทำเนียบขาวในสมัยของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จ้องโจมตีคู่แข่งทางเศรษฐกิจแบบตรงไปตรงมา ทำให้ประเทศที่มีเศรษฐกิจยึดโยงหรือผูกกันกับสหรัฐมากกว่า ก็กลับมาเอียงข้างความสัมพันธ์ทางการค้า และอ่อนข้อให้สหรัฐมากขึ้น และดูเหมือนจีนเอง ก็ไม่ได้เดินหมากกดดันประเทศคู่ค้าของตัวเองตรงๆเลย เพราะนั่นไม่ใช่วิถีของจีนแต่ไหนแต่ไรมาอยู่แล้ว
แต่นายโจ ไบเดน เองได้ให้คำมั่นสัญญาถึงการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายที่ชัดเจน โดยการแสดงเจตนาที่จะนำสหรัฐกลับเข้าร่วมความตกลงปารีส (Paris Agreement) เพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ในวันแรกที่เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐ รวมถึงการกลับไปร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก (WHO) สวมบทบาทผู้นำโลกในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เรียกความเชื่อมั่นในฐานะของมหาอำนาจกลับมาอีกครั้ง
การจะแก้ปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก หรือ Climate Change นั่น จะมีเพียงแค่สหรัฐเพียงประเทศเดียวไม่ได้เลย และต้องการจีนในการร่วมสนับสนุนด้วยเป็นอย่างมาก เพราะสหรัฐและจีน นำเข้าพลังงานรวมกันเป็นปริมาณมากกว่า 50% ของโลก ตลอดจนเป็นผู้ปล่อยไอเสียก๊าซเรือนกระจกกว่า 30% ของโลก
ดังนั้นการที่คุณโจ ไบเดน แสดงเจตนาที่จะนำสหรัฐกลับเข้าร่วมความตกลงปารีส ก็แปลว่า จำเป็นต้องแสวงหาความร่วมมือกับจีนในหลายทางทีเดียว และสิ่งนี้เอง ทำให้นับจากนี้ไปอีก 4 ปี สหรัฐจะไม่ใช่คนเดิมเหมือน 4 ปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน
ซึ่งจีนเองก็คงรู้ครับว่า เกมส์กระดานนี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว และการเคลื่อนไหวในช่วงนับตั้งแต่เราทราบผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการว่าคุณโจ ไบเดน จะได้เป็นประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐ จีนก็เดินเกมส์รุกมากขึ้นทันทีด้วยการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภูมิภาค (Regional Comprehensive Partnership Agreement - RCEP) ซึ่งประกอบไปด้วย 10 ชาติอาเซียน บวกกับจีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยมีประชากรรวมกันราว 2,200 ล้านคน และคิดเป็น GDP รวมกันถึง 30% ของโลก และจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆหลังจากนี้
RCEP จะช่วยลดทอนผลกระทบของวิกฤติการเงินจากโควิด-19 และทำให้ประเทศในอาเซียนฟื้นตัวเร็วได้ขึ้น เนื่องจากข้อตกลงนี้เปิดโอกาสให้บริษัทต่างๆ สามารถกระจายห่วงโซ่อุปทานและช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้เศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ (Regionalization)
พอ RCEP ออกมาปั๊บ บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าโลก ก็ออกมาให้ความเห็นหลากหลาย แต่ส่วนหนึ่งที่เห็นชัดก็ยกตัวอย่างเช่น การที่หอการค้าสหรัฐแสดงความกังวลว่าสหรัฐกำลังจะถูกทิ้ง และโอกาสเข้าถึงตลาดเอเชียอาจจะน้อยลงไปทุกทีๆ
สหรัฐอาจจำเป็นต้องกลับมามองความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership - TPP) ที่ริเริ่มในสมัยนายบารัค โอบาม่า กลับมาอีกครั้ง ซึ่งปัจจุบันใช้ชื่อว่า CPTPP มีชื่อเต็มว่า Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership เพราะจะยอมให้จีนมีบทบาทในภูมิภาคนี้ แล้วเพิ่มอำนาจต่อรองให้ตัวเอง ทำให้สหรัฐอยู่ในเกมส์ที่ยากกว่านี้ คงจะเป็นไปไม่ได้
ซึ่งจีนเอง ก็รู้เรื่องนี้อีกเหมือนกัน (เหมือนฉลามได้กลิ่นคาวเลือด) สื่อในจีนได้มีการเปิดเผยเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาว่า ประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง แสดงสนใจที่จะเข้าร่วมข้อตกลงการค้า CPTPP อีกอัน
CPTPP ตอนนี้ประกอบไปด้วยชาติสมาชิก 11 ชาติ ได้แก่ ออสเตรเลีย, บรูไน, แคนาดา, ชิลี, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, เม็กซิโก, นิวซีแลนด์, เปรู, สิงคโปร์ และเวียดนาม ไม่ว่า ชาติที่ 12 จะเป็นสหรัฐ หรือจีน จะทำให้ นี่จะกลายเป็นข้อตกลงการค้าที่ใหญ่ที่สุด แซงหน้า RCEP ทันทีคำถามคือ ทั้ง 11 ชาติ อยากได้ใครมาอยู่ในดีลมากกว่า สหรัฐ หรือ จีน?
ถ้ากลยุทธ์บนนโยบายการค้าต่างประเทศของนายโจ ไบเดน ไม่เวิร์ค โดนจีนแซงและทิ้งไว้ข้างหลังแบบนี้อีกซักพัก เชื่อว่า ทำเนียบขาวที่มีนายโจ ไบเดนเป็นผู้นำ ก็คงไม่มีทางเลือก นอกจากเปิดศึก Trade War และ Tech War ต่อเนื่องกับจีนต่อ เพราะท่าไม่ทำ คุณโดนัลด์ ทรัมป์ จะกลับมาบอกกับชาวอเมริกันในอีก 4 ปีช้างหน้าแน่นอนว่า พวกคุณถูกทิ้งไว้ข้างหลังเพราะอะไร และทำไมเขาถึงต้องกลับมาในปี 2024
ชยนนท์ รักกาญจนันท์ Co-Founder FINNOMENA