ความผิดพลาดครั้งยิ่งใหญ่ของ Intel
17 พ.ย.63 Apple ได้เปิดตัวเครื่องโน๊ตบุ๊ครุ่นล่าสุด MacBook Air M1 และ MacBook Pro13 นิ้ว ออกสู่ตลาดเป็นครั้งแรก ซึ่งสื่อต่างๆ จับตาอย่างมาก
เพราะเป็นครั้งแรกที่บริษัท Apple เลิกใช้ชิพของ Intel (อินเทล) ครั้งแรกในรอบ 15 ปีในผลิตภัณฑ์ MacBook และหันไปร่วมมือกับทางบริษัทผลิตชิพของ iPhone อย่าง ARM (อาร์ม) แทน นับเป็นก้าวสำคัญของวงการคอมพิวเตอร์ เพราะก่อนหน้านี้ชิพที่ใช้ในมือถือ กับชิพที่ใช้ในคอมพิวเตอร์ เป็นชิพคนละประเภทกัน ชิพส่วนใหญ่ที่ใช้ในมือถือจะเป็นชิพของ ARM ทั้งในมือถือของ Samsung และในแท็บเล็ตอย่าง iPad ส่วนในคอมพิวเตอร์กลับใช้ชิพอย่าง x86 ซึ่งแบรนด์อันดับหนึ่งที่ผลิตชิพๆนี้คือ Intel เพราะอะไร Apple ถึงเลือกที่จะมาใช้ชิพของ ARM แทน
Intel ก่อตั้งบริษัทตอนปี 1968 โดยโรเบิร์ต นอยส์ (Robert Noyce) และ กอร์ดอน มอร์ (Gordon Moore) พวกเขาตั้งชื่อชิพของพวกเขาว่า x86 หลังจากชิพที่ลงท้ายด้วยเลข 86 ที่ประสบความสำเร็จของพวกเขาในช่วงปลายทศวรรษที่ 70 หลังจากนั้นเป็นต้นมาชิพ x86 กลายเป็นชิพที่ครองตลาดส่วนใหญ่ของเครื่องคอมพิวเตอร์ ในขณะเดียวกันช่วงปี 1983 ที่ประเทศอังกฤษบริษัทคอมพิวเตอร์ที่มีชื่อว่า Acorns Computers (เอคอร์น คอมพิวเตอร์) ตัดสินใจที่จะทำชิพออกมาอีกแบบหนึ่ง แทนที่จะทำให้ชิพออกมาให้มันดูยุ่งยากซับซ้อนแบบ Intel เขากลับทำให้มันง่ายขึ้น โดยชิพของ Intel เขาเรียกว่า CISC หรือย่อมาจาก Complex Instruction Set Computing แต่ส่วนของ Acorns เขาประกอบชิพที่เรียกว่า RISC หรือ Reduced Instruction Set Computing ซึ่ง Acorns ตั้งชื่อโปรเจคชิพนี้ว่า “Acorns Risc Machine” หรือเรียกสั้นๆว่า ARM
ARM สร้างชิพตัวแรกของตัวเองตอนปี 1985 ก่อนที่จะถูกใช้ในคอมพิวเตอร์ครั้งแรกและมาจดสิทธิบัตรตอนปี 1987 ในสมัยนั้นชิพของ ARM ไม่นิยมใช้ในคอมพิวเตอร์ เพราะไม่สามารถทำคำสั่งที่ซับซ้อนได้ แต่หลังจากนั้นไม่นานการเข้ามาของโทรศัพท์มือถือ พ็อกเกต พีซี จนไปถึง iPod ก็ล้วนแล้วแต่ใช้ชิพของอาร์มกันทั้งนั้น ตอนปี 2002 ชิพของ ARM ถูกขายไปทั่วโลกถึง 1 พันล้านชิพด้วยกัน ถึงแม้ว่า Apple จะใช้ชิพของ ARM ใน iPod ของตัวเอง แต่พอมาถึง Mac ทาง Apple เลือกที่จะไปจับมือกับทาง Intel ต่อมา Apple ได้คิดการใหญ่ว่าจะใช้ชิพของ Intel ในผลิตภัณฑ์ใหม่ของพวกเขาอย่าง iPhone แต่ซีอีโอของ Intel กลับเลือกที่จะปฏิเสธข้อเสนอนั้น
ซีอีโอของ Intel ในสมัยนั้นคือ พอล ออตเตลินี่ (Paul Otellini) เขามองว่า Intel มีความชำนาญที่ต่างออกไปจากสิ่งที่ Apple ต้องการ เขายังมองอีกว่าเครื่อง iPhone ไม่น่าจะขายดี ทำให้ Intel มีโอกาสที่จะได้กำไรน้อยจากการผลิตชิพให้ Apple นั่นกลายเป็นการพลาดโอกาสครั้งใหญ่ของทาง Intel
เครื่อง iPhone ออกมาวางขายในปี 2007 โดยใช้ชิพของ ARM ปีถัดมา Apple ได้เซ็นสัญญากับ ARM ในการจดสิทธิบัตรทางสถาปัตยกรรมการออกแบบชิพทำให้ Apple สามารถออกแบบชิพตั้งแต่แม่พิมพ์เลยทีเดียว ปี 2012 Apple ออก iPhone 5 ซึ่งในรุ่นนั้นทาง Apple ได้ออกชิพสำหรับเครื่อง iPhone โดยเฉพาะเป็นรุ่นแรกชื่อว่าชิพ A6 ซึ่งเร็วกว่า iPhone 4 ถึงสองเท่า สิ่งที่น่าตกใจกว่าคือปีถัดมาที่ Apple เปิดตัว iPhone 5S ในรุ่นนี้เป็นครั้งแรกที่ Apple ใช้ชิพ 64-bit ใน iPhone ภายใต้ชื่อชิพว่า A7 ซึ่ง Apple บอกคุณสมบัติของชิพตัวนี้ว่า สามารถทำงานคล้ายๆเครื่องคอมพิวเตอร์จิ๋วๆเครื่องหนึ่งเลย เพราะการที่คุณสามารถใช้ชิพ 64-bit ก็หมายความว่าคุณสามารถใช้ RAM 4 GB ขึ้นไปได้ด้วย
ในปี 2014 มีชิพของ ARM อยู่ทั่วโลกถึง 50 ล้านชิพ ซึ่ง Apple ก็ยังสามารถขาย iPhone ได้อย่างถล่มทลาย และนั่นหมายความว่าบริษัทก็ยิ่งมีเงินมากขึ้นในการพัฒนาสินค้า ในปี 2018 Apple ออก iPhone XS ชิพใน iPhone เครื่องนั้นเป็นชิพที่เรียกว่า A12 BIONIC ซึ่งในชิพนี้เองที่ Apple เริ่มตาม Intel ทันแล้ว เครื่อง iPhone XS มีประสิทธิภาพพอๆกับเครื่องคอมพิวเตอร์ iMac เลยทีเดียว หรือเผลอๆดีกว่าด้วยซ้ำ ทาง Apple จึงตัดสินใจแยกทางกับทาง Intel หลังใช้ชิพ Intel มาตลอด 15 ปี Apple มองว่า Intel ค่อนข้างช้าในการพัฒนาสินค้า และ ล้าหลังในเรื่องของเทคโนโลยี ในปี 2019 Apple เปิดตัว iPad Pro ชิพของ iPad Pro รวดเร็วกว่าชิพของ Intel ในเครื่อง MacBook Pro ของปี 2018 เสียอีก และในเดือนที่แล้ว Apple ก็เปิดตัวชิพที่ดีไซน์กับ ARM เป็นชิพแรกที่จะใช้ในเครื่อง MacBook Air และ MacBook Pro 13 นิ้ว เรียกกันว่าชิพ M1 หรือ Apple Silicon
หลังจากที่ Apple ได้เปิดตัวไปภายในไม่กี่วัน ตอนแรกมีนักวิจารณ์ออกมาให้ข้อกังขาว่า แล้วการที่ Apple มาใช้ชิพของ ARM ประสิทธิภาพจะดีเท่า Intel หรือเปล่า และ การที่ Apple ตัดสินใจไม่ใส่พัดลมระบายอากาศใดๆเลยหลังจากที่ใช้ชิพของ ARM จะส่งผลมากน้อยเพียงใด ปรากฏว่าหลังจากที่เครื่องนี้ออกมา บรรดารีวิวต่างๆออกมาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า สุดยอด เพราะว่า MacBook Air ของอาร์มนั้นทรงประสิทธิภาพมากกว่า MacBook Pro 16 นิ้ว รุ่นท็อปอีก จากการรายงานของเว็บไซต์ Geekbench มิหนำซ้ำ ตัวชิพนี้ยังกินแบตเตอรี่น้อยกว่าทาง Intel เป็นอย่างมาก นักรีวิวบางท่านถึงขนาดว่าสามารถใช้ MacBook Air ตลอด 4 วันโดยไม่ได้ชาร์จไฟแม้แต่ครั้งเดียว และการที่ Apple ใช้ชิพของ ARM นั้นสามารถมาแก้ปัญหาที่มีมาอย่างยาวนานของเครื่อง MacBook นั่นคือความร้อนของ CPU และเสียงที่ดังออกมาจากพัดลมในเครื่อง MacBook ถือว่าเป็นการเดินหมากสำคัญของ ARM และ Apple
บริษัท ARM เข้ามา disrupt บริษัทที่เคยเป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยีเรื่องชิพอย่าง Intel ทั้งๆที่ Intel มีเงินมากกว่า และมีทีมงานมากกว่า ARM ในทุกขุมกำลัง แต่สิ่งที่ ARM ทำที่ทำให้สามารถมาคว่ำเจ้าตลาดอย่าง Intel ได้ คือการนำเอาเทคโนโลยีที่ถูกพิสูจน์แล้ว มาออกแบบให้มันง่ายขึ้น และ ประหยัดพลังงานมากขึ้น ล่าสุด Intel ประกาศผลดำเนินงานในไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมา พบว่ายอดขายลดลง 3% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แต่ที่น่ากลัวกว่าคือ EPS ติดลบถึง 22% สมัยก่อนมันอาจจะเป็นยุคของ ปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่ทุกวันนี้มันคือยุคของ ปลาเร็วกินปลาช้า อย่างแท้จริง