ใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้า...ให้เป็นอาวุธ!
กรณีการควบรวมธุรกิจระหว่างซีพีและเทสโก้ ส่งผลให้คนไทยจำนวนไม่น้อยหันมาให้ความสนใจต่อ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560
ยังคงวิพากษ์กันอย่างต่อเนื่อง สำหรับกรณีการควบรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ซี.พี.รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (ซีพี) และ บริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด (เทสโก้) ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) รวมถึงคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ถือเป็นเรื่องน่ายินดี และเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง
ทั้งนี้เป็นเพราะความรู้ความเข้าใจต่อพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 ในสังคมไทยยังมีอยู่ในวงจำกัดมาก การควบรวมธุรกิจระหว่างซีพีและเทสโก้ในครั้งนี้ ส่งผลให้คนไทยจำนวนไม่น้อยหันมาให้ความสนใจต่อ พ.ร.บ.ฉบับนี้ รวมไปถึงรู้จักและเข้าใจในบทบาทของ สขค.และ กขค.มากยิ่งขึ้น
คำวินิจฉัยของ กขค.แบ่งเป็น 2 ฝ่ายอย่างชัดเจน กล่าวคือกรรมการเสียงข้างน้อยไม่อนุญาตให้เกิดการควบรวมธุรกิจในครั้งนี้ และได้ให้เหตุผลประกอบการไม่อนุญาต ในขณะที่กรรมการเสียงข้างมากอนุญาตให้การควบรวมธุรกิจในครั้งนี้เกิดขึ้นได้ และเป็นการอนุญาตอย่างมีเงื่อนไข ซึ่งกรรมการเสียงข้างมากก็ได้ให้เหตุผลประกอบการอนุญาต และเหตุผลประกอบการกำหนดแต่ละเงื่อนไขอย่างชัดเจนเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เป็นไปตามข้อบังคับที่ระบุไว้ในมาตรา 52 วรรค 3 และวรรค 4 แห่ง พ.ร.บ.การแข่งขันฯ พ.ศ.2560
ประเด็นหนึ่งในหลากหลายประเด็นที่ได้รับการวิพากษ์ คือเงื่อนไขต่างๆ ที่ กขค.เสียงข้างมากกำหนดขึ้นควบคู่ไปกับการอนุญาตให้เกิดการควบรวมธุรกิจในครั้งนี้ เพียงพอและครอบคลุมผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการควบรวมธุรกิจในครั้งนี้แล้วหรือไม่? รวมไปถึงหากผู้ขออนุญาตควบรวมธุรกิจไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ถูกกำหนดขึ้นแล้วผลจะเป็นอย่างไร?
จึงเป็นหน้าที่สำคัญที่ทาง สขค.จำต้องเร่งประชาสัมพันธ์เพื่อให้สังคมเข้าใจได้ว่าเงื่อนไขต่างๆ ที่ กขค.เสียงข้างมากกำหนดขึ้นนั้น ผู้ขออนุญาตควบรวมธุรกิจจำต้องปฏิบัติตาม หากต้องการให้การควบรวมธุรกิจเป็นผลสำเร็จ ในขณะเดียวกันการบังคับใช้ พ.ร.บ.การแข่งขันฯ พ.ศ.2560 ก็ยังมีผลบังคับใช้อยู่ไม่เปลี่ยนแปลง
กล่าวอีกนัยหนึ่งคือหลังการควบรวมธุรกิจเสร็จสิ้น ผู้ขออนุญาตควบรวมธุรกิจจำต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การแข่งขันฯ พ.ศ.2560 และยังต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ถูกกำหนดเพิ่มเติม หากผู้ขออนุญาตควบรวมธุรกิจไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ถูกกำหนดในข้อใดข้อหนึ่ง จะเข้าข่ายมาตรา 53 วรรค 2 แห่ง พ.ร.บ.การแข่งขันฯ พ.ศ.2560 ซึ่งมีใจความโดยรวมว่า ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตควบรวมธุรกิจฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ กขค.กำหนดให้ กขค.มีอำนาจเพิกถอนคำสั่งอนุญาตทั้งหมดหรือบางส่วน โดยจะกำหนดระยะเวลาให้ปฏิบัติไว้ด้วยก็ได้
ส่วนในประเด็นที่ว่าเงื่อนไขต่างๆ ที่ กขค.เสียงข้างมากกำหนดให้ผู้ขออนุญาตควบรวมธุรกิจปฏิบัตินั้น ครอบคลุมผลกระทบหรือมีเหตุผลในการกำหนดแต่ละเงื่อนไขอย่างไร ผู้ที่สนใจเพื่อต้องการศึกษาในทางวิชาการสามารถขอคำวินิจฉัย (ฉบับเต็ม) ได้จาก สขค. ซึ่งทาง สขค.ต้องขอสงวนสิทธิ์ที่จะไม่เปิดเผยข้อมูลใดๆ ที่เป็นความลับทางธุรกิจในคำวินิจฉัย อย่างไรก็ตาม สขค.ได้เปิดเผยผลคำวินิจฉัย (ฉบับย่อ) สู่สาธารณะเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับที่กำหนดไว้ในมาตรา 29 (12) แห่ง พ.ร.บ.การแข่งขันฯ พ.ศ.2560 กล่าวคือให้ สขค.มีหน้าที่ในการเผยแพร่ผลคำวินิจฉัยของ กขค.ต่อสาธารณชน
กล่าวได้ว่าการควบรวมธุรกิจระหว่างซีพีและเทสโก้ ถือเป็นกรณีศึกษาที่สำคัญสำหรับประเทศไทย ในการสร้างความรู้และความเข้าใจต่อ พ.ร.บ.การแข่งขันฯ พ.ศ.2560 ได้เป็นอย่างดีในหลากหลายมิติ เช่น ผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นผู้ผูกขาดหรือมีอำนาจเหนือตลาด ไม่ถือว่าเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การแข่งขันฯ พ.ศ.2560 หากแต่จะมีความผิดก็ต่อเมื่อมีพฤติกรรมทางการค้าที่เป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม หรือการอนุญาตให้เกิดการควบรวมธุรกิจอย่างมีเงื่อนไข มิได้หมายความว่า ผู้ขออนุญาตควบรวมธุรกิจจะปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ทาง กขค.กำหนดควบคู่ไปกับการอนุญาตเท่านั้น หากแต่ยังคงต้องปฏิบัติพฤติกรรมทางการค้าที่ไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.การแข่งขันฯ พ.ศ.2560 อีกด้วย
เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว จึงเป็นความสำคัญอย่างยิ่งต่อผู้ประกอบธุรกิจที่ปัจจุบันเป็นคู่ค้าหรือผู้ประกอบธุรกิจ ที่อาจจะเป็นคู่ค้าในอนาคตกับผู้ขออนุญาตควบรวมธุรกิจ ในกรณีนี้จำต้องรู้และเข้าใจใน พ.ร.บ.การแข่งขันฯ พ.ศ.2560 รวมไปถึงเงื่อนไขต่างๆ ที่ทาง กขค.กำหนด เพื่อใช้เป็นอาวุธในการต่อสู้หากได้รับความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันทางการค้าจากผู้ขออนุญาตควบรวมธุรกิจ
เพราะหากหลังจากนี้มีข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้ว่าผู้ขออนุญาตควบรวมธุรกิจในครั้งนี้มีพฤติกรรมทางการค้าที่ขัดต่อ พ.ร.บ.การแข่งขันฯ พ.ศ.2560 ก็จะมีความผิดตามมาตรา 50 แห่ง พ.ร.บ.การแข่งขันฯ พ.ศ.2560 ซึ่งเป็นโทษอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ในปีที่กระทำความผิด หรือทั้งจำทั้งปรับ!