ห้องน้ำสาธารณะสำหรับเพศทางเลือก
ปัจจุบัน ประเทศไทยได้หันมาให้ความใส่ใจกับสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้น ดังจะเห็นได้ทั้งจากกฎหมายคำนำหน้านามและนามสกุลของหญิงที่สมรสแล้ว
หรือล่าสุดในเรื่องร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. ... และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบตามที่กระทรวงยุติธรรมได้เสนอ โดยร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวมีขึ้นเพื่อให้กลุ่มบุคคลดังกล่าวได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นธรรม เท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ และสามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการหันมาให้ความสำคัญกับสิทธิของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศหรือที่เรามักเรียกกันว่าเพศทางเลือกมากขึ้นด้วย
อย่างไรก็ดี แม้ในทางปฏิบัติจะดูเหมือนประเทศไทยได้ให้การยอมรับเพศทางเลือก และเริ่มมีความพยายามในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิของกลุ่มบุคคลเหล่านี้ แต่ก็ยังไม่มีการจัดการหรือคำนึงในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพเพื่อรองรับกลุ่มบุคคลเหล่านี้ ดังเช่นในเรื่องห้องน้ำสาธารณะซึ่งโดยทั่วไปจะแบ่งแค่หญิง-ชายเท่านั้น อันส่งผลให้เพศทางเลือกไม่สามารถเลือกห้องน้ำที่เหมาะกับตนเองได้ และสุดท้าย ก็อาจสร้างความอึดอัดใจให้แก่ทั้งชาย-หญิงและเพศทางเลือก เมื่อต้องใช้พื้นที่ร่วมกัน ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพตามมาได้เมื่อมีการพยายามไม่ใช้ห้องน้ำสาธารณะเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าว
ในสหรัฐอเมริกาได้มีการออกกฎหมายห้องน้ำออกมา ซึ่งกฎหมายห้องน้ำดังกล่าวนี้บัญญัติเกี่ยวกับการเข้าถึงห้องน้ำของแต่ละเพศโดยมีผลใช้บังคับกับห้องน้ำในสถานที่สาธารณะต่าง ๆ บนพื้นฐานของเพศของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดเพศสภาพโดยกำเนิด หรือโดยอัตลักษณ์ทางเพศ (gender identity) โดยนัยความหมายเรื่องแนวคิดทางเพศของตนเองและการแสดงออกตามความคิดเช่นนั้น หรือก็คือความรับรู้เพศของตนเองว่ามีความเป็นเพศใดในกลุ่มทางเพศของสังคมนั้น
ความสำคัญและประเด็นปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายห้องน้ำนี้คือการบัญญัติให้ความคุ้มครองกลุ่มบุคคลเพศทางเลือก ไม่ว่าจะมีการแปลงเพศแล้วหรือไม่ก็ตาม
ก่อนหน้านี้ ในสหรัฐอเมริกายังมีความคิดเห็นที่แตกต่างเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ผลจากการสำรวจในปี 2559 พบว่า ประชาชนยังมีความเห็นแตกต่างกันว่าควรมีกฎหมายที่บังคับให้กลุ่มบุคคลข้ามเพศใช้ห้องน้ำตามเพศกำเนิดหรือไม่ อย่างไรก็ดี แม้ตัวเลขของกลุ่มบุคคลทั้งที่คัดค้านและสนับสนุนจะไม่ได้มีความแตกต่างกันมากนัก แต่หากมองเทียบเป็นจำนวนคนแล้ว ก็จะเห็นได้ว่ามีจำนวนประชาชนที่ไม่สนับสนุนให้กลุ่มบุคคลเพศทางเลือกใช้ห้องน้ำตามเพศกำเนิดเป็นจำนวนไม่น้อย
ในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน กระทรวงยุติธรรมและกระทรวงศึกษาธิการของสหรัฐอเมริกาได้ร่วมกันออกแนวทางเกี่ยวกับการบังคับใช้ Title IX (กฎหมายสหพันธ์เรื่องสิทธิบุคคล และเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขกฎหมายการศึกษา ปี 1972) ว่าด้วยเรื่องความคุ้มครองนักเรียนที่เป็นเพศทางเลือก โดยกำหนดว่ากระทรวงทั้งสองจะปฏิบัติต่อนักเรียนตามอัตลักษณ์ทางเพศของนักเรียน ซึ่งก็แสดงให้เห็นถึงความพยามในการคุ้มครองและรับรองสิทธิของเพศทางเลือกที่สำคัญครั้งหนึ่งของสหรัฐอเมริกา
นอกจากนี้ ในเดือนกรกฎาคม 2563 รัฐนอร์ธแคโรไลนาในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นหนึ่งในรัฐที่ประเด็นเรื่องของการเข้าถึงห้องน้ำของเพศทางเลือกมีการถกเถียงและการต่อสู้ทางแนวความคิดเป็นอย่างสูง ได้อนุญาตให้เพศทางเลือกสามารถเข้าห้องน้ำในอาคารสถานที่ที่อยู่ภายใต้การบริหารของภาครัฐตามอัตลักษณ์ทางเพศของตนได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงเพศโดยกำเนิด ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีสำหรับเพศทางเลือกที่จะได้สามารถเข้าใช้สิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะได้อย่างสบายใจ ถูกต้องตามกฎหมาย และสอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศของตนเอง ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงการให้ความเป็นธรรมกับทุกเพศโดยเท่าเทียมกัน และเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยของเพศทางเลือกด้วย
สำหรับในประเทศไทย กฎหมายควบคุมอาคารในปัจจุบันเกี่ยวกับเรื่องการจัดให้มีห้องน้ำห้องส้วม (กฎกระทรวง ฉบับที่ 63 (พ.ศ. 2551) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 (เรื่อง การจัดให้มีห้องน้ำและห้องส้วมในชนิดหรือประเภทของอาคารต่าง ๆ )) มีบทบัญญัติรับรองเพียงสิทธิของชาย-หญิงเท่านั้น ดังเช่นการกำหนดจำนวนห้องน้ำที่ต้องมีสำหรับห้องน้ำชาย-หญิงในสถานที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอาคารสำนักงาน โรงเรียน หรือร้านอาหารต่าง ๆ เป็นต้น แต่ยังไม่ได้พูดถึงกรณีเพศทางเลือก
นอกจากนี้ แม้โดยส่วนใหญ่จะมีการยอมรับกลุ่มบุคคลเพศทางเลือกแล้วก็ตาม แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามีเหตุการณ์ที่กลุ่มบุคคลเพศทางเลือกโดนรังแก โดนกลั่นแกล้ง หรือแม้กระทั่งโดนคุกคามทางเพศในห้องน้ำเนื่องจากประเด็นเรื่องเพศสภาพ อย่างเช่นในโรงเรียน หรือตามแหล่งสถานบันเทิงต่าง ๆ
ดังนั้นแล้ว เพื่อเป็นการให้ความคุ้มครองกลุ่มบุคคลทั้งหลายอย่างเท่าเทียมกันตามสิทธิที่ควรได้รับในรัฐธรรมนูญ การตรากฎหมายบังคับให้สถานที่บางแห่ง โดยเฉพาะสถานที่ที่มีความเสี่ยงสูงมีห้องน้ำแยกเฉพาะสำหรับกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศด้วยก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี ทั้งนี้ โดยเริ่มบังคับจากสถานที่ที่กำลังจะสร้างใหม่หรือมีการปรับปรุง สำหรับสถานที่ที่มีอาคารอยู่แล้วนั้น คงต้องให้เวลาในการปรับปรุงโดยอาจมีการต่อเติมตามความเหมาะสมโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้เป็นสำคัญ
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะมีกฎหมายบังคับใช้เกี่ยวกับเรื่องนี้หรือไม่ก็ตาม หากมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องความคิดเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศในห้องน้ำสาธารณะได้ และเริ่มมีการดำเนินการจัดให้มีห้องน้ำสำหรับเพศทางเลือก ก็น่าจะเป็นเรื่องหนึ่งที่จะนำไปสู่ความเท่าเทียมในสังคมของคนทุกเพศในการเลือกแสดงออกถึงอัตลักษณ์ทางเพศของตนได้
*บทความโดย ณิชนันท์ คุปตานนท์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์