วิธีรักเมตตาตัวเองสู้โควิด 19
ทุกเมื่อยามไม่เฉพาะในยามโรคระบาด บทแผ่เมตตาให้ตนเองเพื่อจะได้รับได้มีพลังคลื่นความปรารถนาดีให้ตนเองเป็นสุข มีอุปการะยิ่ง
บทแผ่เมตตาดังที่ขึ้นต้นว่า "อะหัง สุขิโต โหมิ... แปลว่า "ขอให้ข้าพเจ้ามีความสุข; " (ถ้าเป็นหญิง ให้เปลี่ยนคำขีดเส้นใต้เป็น สุขิตา) คำแปลวรรคต่อมาจนจบบทคือ " ปราศจากความทุกข์; ปราศจากเวร; ปราศจากอุปสรรคอันตรายและความเบียดเบียนทั้งปวง; ปราศจากความทุกข์กายทุกข์ใจ; มีความสุขกาย สุขใจ รักษาตนให้รอดพ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเถิด ฯ "
แผ่เมตตาบทนี้อาจไม่คุ้นหูเท่าไรนักในหมู่พุทธศาสนิกชนบ้านเรา ส่วนใหญ่รวมทั้งผู้เขียนคุ้นชินบทแผ่เมตตาอีกบทหนึ่งมากกว่า ที่ขึ้นต้นด้วยภาษาบาลีว่า "สัพเพ สัตตา อะเวรา โหนตุ..." แปลเป็นความภาษาไทยว่า " สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์, เกิด แก่ เจ็บ ตาย, ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย, " ซึ่งเนื้อความภาษาไทยของบทแผ่เมตตานี้จนจบมีว่า " อย่าได้พยาบาทเบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย อย่าได้มีความทุกข์กาย ทุกข์ใจเลย, จงมีความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัย, ทั้งสิ้น เทอญ."
แทบไม่ต้องฟังซ้ำ ก็รู้สึกทันทีว่าเนื้อความสองบทคล้ายกันมากซึ่งที่จริงก็เป็นเนื้อความเดียวกันนั่นเอง ข้อแตกต่างอยู่ตรงที่ว่าบทแรกแผ่เมตตาให้ตนเองเป็นหลัก บทหลังแผ่เมตตาให้สัตว์ทั้งหลายซึ่งก็รวมตัวเราเองและสัตว์อื่น ๆด้วย คำบาลีบทนี้จึงมีว่า "สัพเพ สัตตา อะเวรา โหนตุ " ลงท้ายว่า " สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ ."
ส่วนในแผ่เมตตาบทแรกที่มุ่งแผ่เมตตาให้ตนเองนั้น มีคำว่า "โหมิ " บอกถึงว่า "ให้บังเกิดแก่ข้าพเจ้า " ในตอนลงท้ายคำบาลีก็จึงเป็น " สุขี อัตตานัง ปะริหะรามิ. " (ลงท้าย "มิ" )
แผ่เมตตาบทแรกนำมากล่าวถึงเป็นพิเศษขณะนี้ก็เพราะเป็นโอกาสพิเศษมีโรคระบาดที่ต้องสู้เพื่อพ้นภัย ซึ่งโรคระบาดทั้งหลายรวมทั้งไวรัส โควิด 19 แพทย์ย้ำนักหนาให้ทุกคนรักษาตัวเองให้ปลอดจากภัยนี้ก่อนเป็นอันดับแรกด้วยวิธีต่าง ๆที่เราได้ยินได้ฟังข้อมูลมารวมทั้งได้รับแจกอุปกรณ์ เช่น หน้ากาก อัลกอฮอล์ล้างมือ ฯ เลี่ยงออกนอกบ้านหากไม่จำเป็นสุดๆ มีบริการต่าง ๆ เช่นสอบถามทางโทรศัพท์ สถานกักตัว ตลอดจนโอกาสเข้าถึงบริการสาธารณสุขหากถึงขั้นต้องรักษา โดยให้งดเด็ดขาดไปบางสถานที่ซึ่งมีการแพร่เชื้อแล้วในภาษาทางโลก(การแพทย์) และในภาษาทางธรรมว่า สถานอโคจร ทั้งหลาย เช่น แหล่งมั่วสุม บ่อน สถานบันเทิง ต่าง ๆ
ฉะนั้นไม่ว่าจะระบาดรอบแรกหรือรอบสองหรืออีกกี่รอบก็ตาม การดูแลรักษาตนเองให้พ้นภัยจากโรคระบาดสำคัญเป็นอันดับแรก
หมายความว่าตัวเราเองเมื่อปลอดจากภัยนี้แล้ว จึงจะสามารถให้ความปลอดภัยนี้แก่คนอื่นได้ เป็นตรรกะง่ายๆทั้งในทางธรรมและในทางโลก(การแพทย์) ที่ว่าเราจะให้คนอื่นได้ก็ในสิ่งที่เรามี ถ้าเราไม่มี เราจะให้สิ่งที่เราไม่มีแก่คนอื่นได้อย่างไร
เช่นเดียวกับแผ่เมตตามอบความรักความปรารถนาดีและกุศลใด ๆให้ผู้อื่น เราต้องสามารถสร้างเมตตาสร้างความรักความปรารถนาดีและกุศลนั้น ๆให้แก่ตัวเราให้มีในตัวเราได้เสียก่อน
อีกทั้งการเบียดเบียนอื่นใดทางกาย ทางวาจา ทางใจ ที่จะกระทำต่อตัวเองและผู้อื่นเนื่องจากโรคระบาด ก็ควรพยายามเลี่ยง
ที่จริงก็เพียงไม่นานมานี้นี่เองที่ผู้เขียนได้เข้าใจบทแผ่เมตตาให้ตนเอง รู้สึกซาบซึ้งคล้อยตาม เมื่อได้ศึกษาปฏิบัติมากขึ้นตามกำลังตามโอกาส ยิ่งเห็นความมีอุปการะ ซึ่งที่จริงธรรมข้อนี้มิได้ลึกลับหรือยากที่จะเข้าถึงด้วยตนเอง ตรงกันข้ามเสียอีก คำว่า เมตตา เรารู้จักกันดีอยู่แล้วในภาษาไทย ในทางธรรม เราก็รู้ว่า เมตตา อยู่ใน พรหมวิหาร ๔ พอท่องติดปากว่าได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ซึ่งถึงจะรู้คำแปลความหมายไม่แม่นยำนัก ก็ไม่เป็นไร เราได้ยินคำว่า เมตตา เป็นปรกติวิสัย
อย่างไรก็ดี ก็มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ผู้เขียนรู้สึกมืดแปดด้านเมื่อได้ยินคำถามในวงเสวนาที่วัดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯหลายปีมาแล้ว ว่าทำไมคำสอนศาสนาพุทธจึงอ้างถึงและใช้คำว่า "พรหม" ตลอดจนกล่าวถึงพราหมณ์มากมายหลายแห่งทั้งที่พระพุทธเจ้าประกาศคำสอนที่ย้อนแย้งกับคำสอนของพราหมณ์ผู้นับถือพระพรหม คำว่า"วิหาร"ก็เป็นคำที่ศาสนาพราหมณ์ใช้ แล้วทำไมหลักธรรมสำคัญยิ่งของพุทธศาสนา คือ เมตตา จึงมาจัดอยู่ใน "พรหมวิหาร" อันแปลว่า ที่อยู่ของพรหม
ผู้ตั้งคำถามนี้เป็นนักวิชาการพุทธศาสนา(โดยเฉพาะพุทธเถรวาท) มีชื่อเสียงระดับโลกที่มาในงานเสวนาครั้งนั้นด้วย คือ Professor Richard Gombrich ท่านบอกแต่ต้นเลยว่ามิได้นับถือศาสนาพุทธ ได้ศึกษาพระพุทธเจ้าในฐานะนักคิด แบบเดียวกับที่เพื่อนร่วมรุ่นและนักวิชาการคนอื่น ๆที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เลือกศึกษา นักคิดอย่าง อริสโตเติล พลาโต ฯลฯ
คำตอบของ ศาสตราจารย์ กอมบริช ยาวเกินจะเล่าในที่นี้ ผู้สนใจอาจประมวลได้จากงานเขียนของท่านที่มีตีพิมพ์มากมาย ประเด็นสำคัญวันนั้นอยู่ตรงที่ท่านยืนยันว่าหากมีใครถามว่าพุทธศาสนามีสิ่งใดเป็นคุณูปการให้ชาวโลก คำตอบของท่านคือ เมตตาธรรม
แน่นอนว่านับแต่นั้น ผู้เขียนจึงทั้งสงสัยและสนใจติดตามศึกษาปฏิบัติเมตตาธรรม ซึ่งมีขั้นตอนจากแผ่เมตตาให้ตนเองแล้วจึงขยายแผ่ถึงผู้อื่น ในสถานการณ์ภัยโควิด 19 อย่างนี้ เมตตาธรรมจะช่วยค้ำจุนโลกได้