การบุกรัฐสภากับวิวัฒนาการ

การบุกรัฐสภากับวิวัฒนาการ

ปรากฏการณ์บุกรัฐสภาอเมริกันเมื่อวันที่ 6 มกราคมคงเป็นที่รับรู้กันแล้ว  ในฐานะผู้เฝ้าดูเหตุการณ์อยู่ห่างเพียง 30 กม.

อีกทั้งเห็นชาวอเมริกันเลือกประธานาธิบดีมาตั้งแต่ปี 2507 จึงขอปันข้อสังเกตบางประการ

            คอลัมน์นี้เคยเสนอว่า ปัจจัยพื้นฐานที่จูงใจให้ชาวอเมริกันเลือกนายโดนัลด์ ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีเมื่อ 4 ปีก่อนได้แก่ พวกเขาถูกล้างสมองมาตลอดให้เชื่อว่าตนต้องมีอะไรต่อมิอะไรเพิ่มขึ้น หรือคนรุ่นนี้ต้องมีมากกว่าคนรุ่นก่อน  เป็นเวลานาน ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ทำได้ตามความเชื่อนั้น  อย่างไรก็ดี ในรุ่นหลัง ๆ นี้ จำนวนมากขึ้นเริ่มทำไม่ได้  ซ้ำร้ายยังมีน้อยกว่ารุ่นก่อนอีกด้วย  ปัจจัยที่ทำให้พวกเขาทำไม่ได้มีหลายอย่างด้วยกัน  สองปัจจัยสำคัญสุดได้แก่ ทรัพยากรที่พวกเขาเข้าถึงลดลงและผู้มีฐานะร่ำรวยซึ่งเป็นคนส่วนน้อยเข้าควบคุมกระบวนการด้านการเมืองในระบอบประชาธิปไตยและด้านเศรษฐกิจตามแนวคิดตลาดเสรีแบบแทบเบ็ดเสร็จ  ผลผลิตทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่จึงไปตกอยู่ในมือของกลุ่มคนรวยทำให้เกิดภาวะรวยกระจุกจนกระจายร้ายแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

            ภาวะดังกล่าวทำให้ชาวอเมริกันจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ คับแค้นใจในแนวไฟสุมขอน  นายทรัมป์เข้าใจภาวะนี้และเสนอว่าเขาหาทางออกได้  ชาวอเมริกันส่วนใหญ่จึงเลือกเขา ทั้งที่ส่วนหนึ่งรู้ว่าเขามีข้อบกพร่องอย่างไร  ในช่วงเวลา 4 ปี นายทรัมป์ใช้ตำแหน่งประธานาธิบดีผ่านเทคโนโลยีนำสมัยซึ่งมีคำสาปสูงมากหากใช้อย่างไร้คุณธรรมโดยเฉพาะสื่อสังคมโกหกพกลมโฆษณาชวนเชื่อเพื่อปิดตาชาวอเมริกัน  แต่เขาทำสำเร็จเพียงบางส่วนเท่านั้น  ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด เขาจึงแพ้แบบหลุดลุ่ย 

กระนั้นก็ตาม นายทรัมป์ไม่ลดละความพยายามที่จะเอาชนะแม้จะต้องใช้วิธีที่เข้าข่ายล้มล้างระบอบประชาธิปไตยก็ตาม  การยุยงชาวอเมริกันนับพันคนให้บุกเข้าไปในรัฐสภาท่ามกลางการประชุมรับรองผลการเลือกตั้งที่ผ่านมามีค่าเท่ากับพยายามทำรัฐประหาร  แต่เขาทำไม่สำเร็จ  รัฐสภาจึงกลับมาประชุมในคืนนั้นได้และรับรองผลการเลือกตั้งตอนใกล้รุ่งของวันใหม่หลังผู้บุกเข้าไปถูกไล่ออกไปหมด 

เหตุการณ์นั้นทำให้ชาวโลกจำนวนหนึ่งซึ่งรวมทั้งคนไทยเย้ยหยันระบอบประชาธิปไตยแบบอเมริกันอย่างกว้างขวาง  เนื่องจากหน้ากระดาษจำกัด ผมจะไม่สามารถอธิบายได้ว่าไม่น่าเย้ยหยันเขาเพราะอะไร นอกจากจะบอกว่า ระบอบประชาธิปไตยที่ชาวอเมริกันใช้นั้นยังอยู่ในขั้น “ทดลอง” ซึ่งเขาปรับเปลี่ยนเป็นระยะ ๆ  จะเห็นว่า ทุกครั้งที่เกิดปัญหาใหญ่ เขาจะกลับไปปรับรัฐธรรมนูญซึ่งเขาทำแล้ว 33 ครั้งหลัง 244 ปี  ผมไม่มีความเชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์และศาสนา แต่มองว่าเขาทำตามหลัก “อิทธิบาท4” ซึ่งมี “วิมังสา” หรือการทดลองเป็นหนึ่งในองค์ประกอบ  ด้วยเหตุนี้ วิธีของเขาต่างกับของไทยซึ่งใช้การเขียนรัฐธรรมใหม่ 20 ฉบับและทำรัฐประหาร 13 ครั้งหลัง 88 ปี  ส่วนวิธีของใครน่าจะเหมาะสมมากกว่ากัน ผมไม่มีความเชี่ยวชาญที่จะชี้ขาด  

อนึ่ง คงเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า ก่อนการปรับเปลี่ยน รัฐธรรมนูญอเมริกันไม่ให้สิทธิ์แก่คนผิวดำซึ่งต่อมาเมื่อได้สิทธิ์แล้วก็ยังถูกคนผิวขาวรังเกียจโดยเฉาะในภาคใต้ของประเทศ  นอกจากนั้น คนผิวขาวยังมักรังเกียจผู้นับถือศาสนายิวอีกด้วย  แต่ในการเลือกตั้งวุฒิสมาชิก 2 คนของรัฐจอร์เจียเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ชายผิวดำอายุ 51 ปีและยิวหนุ่มอายุเพียง33 ปีชนะคนผิวขาวซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนแล้ว  ชัยชนะของชายผิวดำและยิวบ่งบอกถึงวิวัฒนาการอันสำคัญยิ่งเนื่องจากมันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรัฐจอร์เจียซึ่งอยู่ทางใต้และในอดีตรังเกียจผิวและยิวอย่างรุนแรง

หลังจากใช้เวลากว่า 50 ปีดูการทดลองและปรับเปลี่ยนกฏเกณฑ์ด้านการเมืองและด้านเศรษฐกิจของสังคมอเมริกัน ผมมองว่าเขาต้องทำอีกมากหากจะให้มันใกล้แนวคิดที่จะทำให้สังคมมีโอกาสอยู่ได้อย่างยั่งยืน นั่นคือ ธรรมาธิปไตยประกอบกับเศรษฐกิจพอเพียง  สองแนวคิดนี้มีการอ้างถึงในเมืองไทยอย่างกว้างขวางกว่าในสหรัฐ  ส่วนใครจะนำมาใช้อย่างจริงจังและทันกับภาวะรอบด้านที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในอัตราเร่งในปัจจุบันกว่ากัน เวลาและปรากฏการณ์ในอนาคตเท่านั้นจะสามารถชี้ขาดได้