นวัตกรรมทางสังคมเพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน
ผมเรียกตัวเองว่าเป็น นวัตกรที่ประหยัด (Thrifty innovationist) เพราะ เป็นคนที่ชอบคิดสิ่งใหม่ตั้งแต่เด็ก
เมื่อใช้สิ่งของต่าง ๆ แล้วรู้สึกยังไม่ดีพอ เช่น ไม่ประหยัดเวลา ไม่สะดวก ขั้นตอนยุ่งยาก ผมจะคิดเสมอว่า ‘น่าจะทำให้ดีกว่านี้ได้’ โดยนวัตกรรมทางความคิดที่ผมเคยคิดเมื่อยังเป็นเด็ก ขณะนี้มีคนทำให้เกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็น กระเป๋าแบบมีล้อ อาหารที่สามารถอุ่นได้ในตัว รถยนต์ไร้คนขับ เป็นต้น
ผมยังคิดแบบนี้เป็นนิสัยจนถึงปัจจุบัน เพราะต้องการเห็นสิ่งต่าง ๆ ดีขึ้น มีประสิทธิภาพ มีผลิตภาพ ความสะดวกมากขึ้น ลดเวลา ทำงานเร็วขึ้น ประหยัดมากขึ้น ช่วยคนมากขึ้น เพิ่มมูลค่าและคุณค่ามากที่สุดในทุกโจทย์ที่ผมเรียกมาหลายปีว่า “เลอค่า” ฯลฯ
นอกจากนวัตกรรมที่เป็นสิ่งประดิษฐ์แล้ว ผมยังชอบคิดสร้างนวัตกรรมทางสังคม เพราะผมปรารถนาจะเห็นสังคมดีขึ้นกว่าเดิม ยกตัวอย่าง ตั้งหน่วยงาน “กองทุนเวลาเพื่อสังคม” (คิดและทำมานาน 30 กว่าปี) เขียนหนังสือหลายเล่ม เช่น SLEs ไม่ใช่ SMEs (2542) เศรษฐกิจกระแสกลาง (2543) เขียนบทความหลายเรื่อง เช่น เปลี่ยนเงินหวย เป็น “สลากออมทรัพย์” (2551), เนอร์สเซอรี่สองวัย (2551), สมุดพกดี เก่ง กล้า (คิดเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว), Universal Basic Competency (2562) เป็นต้น และในช่วงโควิด-19 ผมได้เสนอนวัตกรรมทางสังคมไว้หลายเรื่อง เช่น Fraternity unit (2563), Self-sustained community (2563), Linked self-sustained community (2563) เป็นต้น
ผมเห็นว่า นวัตกรรมทางสังคมทำให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ผ่านหลายช่องทาง โดยพิจารณาจากตัวอย่างนวัตกรรมที่ผมคิดค้นขึ้น อาทิ
- การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิสภาพ (Efficacy): เปลี่ยนจาก Universal Basic Income เป็น Universal Basic Competency
Universal Basic Income หรือการแจกเงินรายได้ขั้นพื้นฐานแบบถ้วนหน้า เป็นการใช้ทรัพยากรอย่างไม่ยั่งยืนและไม่มีประสิทธิสภาพ เพราะจะสร้างภาระทางการคลังอย่างมากในอนาคต เปรียบเป็นการจับปลาให้คนกินแทนที่จะสอนคนจับปลา ซึ่งสอดคล้องกับผลการทดลองของรัฐบาลฟินแลนด์ที่ระบุว่า การแจกเงินไม่ได้ช่วยให้อัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้นอย่างที่คาดหวัง เพราะไม่ส่งเสริมให้คนว่างงานทำงานมากขึ้น แม้กลุ่มตัวอย่างจะมีความสุขและรู้สึกว่าสังคมเหลื่อมล้ำน้อยลง และบางคนสามารถเริ่มงานใหม่จากเงินก้อนนี้ก็ตาม
ในทางตรงกันข้าม Universal Basic Competency ที่ผมเสนอ เป็นวิธีที่ยั่งยืนกว่า เพราะเปรียบกับการสอนคนให้จับปลา กล่าวคือ เมื่อประชาชนมีสมรรถนะที่สอดคล้องกับยุคสมัย ทำให้เขามีโอกาสในการทำอาชีพและมีรายได้ ทำให้ภาครัฐไม่ต้องใช้งบมหาศาลในการดูแลคนเหล่านี้ มากยิ่งกว่านั้น UBC ยังเป็นการสร้างทุนมนุษย์ ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตสำคัญที่จะนำพาประเทศไทยขี่ยอดคลื่นอารยะลูกที่ 4 ‘สังคมความรู้’ ตาม ‘ทฤษฎีของผมเรื่อง การเปลี่ยนผ่านทางสังคม: คลื่นอารยะ 7 ลูก’ ของผม เพื่อนำพาประเทศไทยเป็นประเทศรายได้สูง หรือแม้แต่เป็นประเทศชั้นนำของโลกในอนาคต
- การเพิ่มขีดความสามารถ (Capability): จาก SMEs เป็น SLEs
ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของบริบททางเศรษฐกิจและธุรกิจของโลก ซึ่งมีการแข่งขันรุนแรงขึ้น และมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วขึ้น ผมเสนอว่า ธุรกิจไทยในอนาคตควรจะเป็น SLE ไม่ใช่ SMEs เพราะธุรกิจขนาดเล็กจะอยู่รอดได้จากการปรับตัวได้เร็ว และมีความสามารถในการหาช่องว่างทางการตลาด ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่มีทุน เทคโนโลยี และการบริหารจัดการที่ดี แต่ธุรกิจขนาดกลาง ๆ อาจจะไม่รอดหรือรอดยาก เพราะสู้เรื่องทุนและเทคโนโลยีกับธุรกิจขนาดใหญ่ไม่ได้ ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถปรับตัวได้เร็วเท่าธุรกิจขนาดเล็ก การปรับตัวสู่ SLE จะทำให้ธุรกิจไทยมีความเข้มแข็ง เติบโต และอยู่รอดได้ โดยเฉพาะในช่วงเวลาแห่งวิกฤตโควิด-19 ที่ได้กระชากเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจและการประกอบการไปโดยสิ้นเชิง
- การเพิ่มทางเลือก (Alternative) ให้สังคม: จาก เศรษฐกิจกระแสหลัก/รอง เป็น เศรษฐกิจกระแสกลาง
นวัตกรรมทางสังคมยังช่วยให้มีทางเลือกการพัฒนาแบบใหม่ ที่ทำให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนมากขึ้น ที่ผ่านมา ประเทศส่วนใหญ่ต้องเลือกระหว่าง เศรษฐกิจกระแสหลัก ที่มุ่งเน้นการแข่งขันทางเศรษฐกิจ เปิดเสรี พึ่งพากลไกตลาด และใช้ระบบทุนนิยม เพื่อสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ แต่มีความเสี่ยงด้านเสถียรภาพ กับเศรษฐกิจกระแสรอง ที่เน้นการพึ่งตัวเอง ค่อนข้างปิดประเทศเพื่อป้องกันตัวเอง และสนใจกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นหลัก ซึ่งทำให้ประเทศมีเสถียรภาพ แต่เศรษฐกิจจะเติบโตช้า
ราว 25 ปีก่อน ผมได้เสนอแนวคิด เศรษฐกิจกระแสกลาง อันเป็นเศรษฐกิจเสรีที่ตั้งอยู่บนฐานของการพึ่งตนเองในปัจจัยอยู่รอด เพื่อเปิดเสรีสร้างความมั่งคั่งในภาวะปกติ แต่เตรียมความพร้อมผ่านการออกแบบให้ประเทศสามารถพึ่งตนเองได้ในยามวิกฤต โดยรัฐพร้อมดำเนินนโยบายสับเปลี่ยน (Switching policy) จากเศรษฐกิจเสรีเป็นเศรษฐกิจพึ่งตนเองได้ทันทีเมื่อเกิดวิกฤตการณ์
สำหรับแนวทางการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางสังคม ผมเริ่มต้นจากการตั้งโจทย์ที่ ‘แคบ’ และ ‘คม’ โดยพยายามมองให้เห็นปัญหาเจาะจงและเป็นปัญหาที่ปรารถนาจะแก้ไข แต่จะไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาแบบธรรมดาทั่วไปหรือมีผู้คิดไว้แล้ว ซึ่งจะเกิดขึ้นได้เมื่อเข้าใจกรอบการคิดเชิงนวัตกรรม 2 โมเดล ได้แก่
โมเดลที่ 1 Dr. Dan Can Do's Five Stages Innovation Model
เป็นกรอบคิดระดับการพัฒนานวัตกรรม ในลักษณะการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ให้ดีขึ้นเป็นลำดับขั้น โดยไม่ต้องเริ่มใหม่จากศูนย์ จนถึงระดับของการผลิตองค์ความรู้ใหม่ ประกอบด้วย
ระดับที่ 1 C = Copy หรือ Copy Cat Innovation คือ การเรียนรู้และนำมาลอกเลียนแบบ
ระดับที่ 2 C&D = Copy & Development หรือ Fat Cat Innovation คือ การคัดลอกแล้วพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเป็นวิธีสร้างสิ่งใหม่ที่เร็วที่สุด ประหยัดมากที่สุด และสำเร็จง่ายที่สุด
ระดับที่ 3 R = Research หรือ Tiger Innovation คือ การผลิตองค์ความรู้ใหม่ที่ไม่เคยมีการค้นพบมาก่อน
ระดับที่ 4 R&D = Research & Development หรือ Tiger Queen Innovation คือ การขยายพรมแดนการทำวิจัยและพัฒนาการใช้องค์ความรู้ให้ผลลัพธ์กว้างขวางออกไป
ระดับที่ 5 R&I = Research & Innovation หรือ Tiger King Innovation คือ การผลิตองค์ความรู้ใหม่ที่นำไปสู่นวัตกรรม
โมเดลที่ 2 Dr. Dan Can Do’s 3I Innovation Model
เป็นกรอบการคิดนวัตกรรม โดยคำนึง 3 องค์ประกอบ ได้แก่ การคิดนวัตกรรมความคิดทะลุทะลวง ที่ไม่เคยมีใครในโลกไม่ว่ายุคใด สมัยใด เคยคิดมาก่อน จึงเป็น “สิ่งใหม่” (Ideation Innovation) ลงมือปฏิบัติแบบมีนวัตกรรมแนวทางการปฏิบัติ เรียกว่า “ปฏิบัติการใหม่” (Implementation Innovation) และเป็นประโยชน์ได้จริงในแนวใหม่ เพราะสามารถขยายผลหรือสร้างผลกระทบเป็นวงกว้าง (Impact Innovation)
การสร้างสังคมที่มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ภายใต้บริบทใหม่ การสร้างสรรค์นวัตกรรมทางสังคมมีความสำคัญมาก นวัตกรรมทางสังคมแม้ไม่มีมูลค่าในเชิงพาณิชย์ แต่มีคุณค่าต่อสังคม เราจึงไม่ควรเพิกเฉยต่อแนวคิดใหม่ ๆ ที่พยายามหาทางออกให้สังคมและประเทศอีกต่อไป.