แก้รัฐธรรมนูญนับหนึ่ง ..ถึง..สูญ(เสีย)ทางเศรษฐกิจ
การคว่ำร่างรัฐธรรมนูญวาระ3 เมื่อไม่กี่วันมานี้เป็นแรงสั่นสะเทือนที่จะเกิดผลกระทบในวงกว้างและรอบด้านอย่างที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นมาด้วยซ้ำ
การคว่ำร่างรัฐธรรมนูญวาระ3 เมื่อไม่กี่วันมานี้เป็นแรงสั่นสะเทือนที่จะเกิดผลกระทบในวงกว้างและรอบด้านอย่างที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นมาด้วยซ้ำหากทุกคนในสังคมไม่มั่วแต่สาละวนอยู่แต่กับผลประโยชน์ของตัวเองจนลืมประโยชน์ของ“ประชาชน” ที่นั่งมองเกมส์อำนาจแบบตาปริบๆ
ผลกระทบด้านหนึ่งที่จะขอหยิบยกขึ้นมาคือ “ด้านเศรษฐกิจ” ที่ประเทศไทยพึ่งพาเศรษฐกิจระหว่างประเทศสูงมากจากสัดส่วนจีดีพีที่มีน้ำหนักของการส่งออกสูงถึง 70% ที่เหลือเป็นการลงทุนภาครัฐ ภาคเอกชน และการบริโภคภายใน คงไม่ต้องฉายหนังซ้ำว่า สถานการณ์เครื่องยนต์เศรษฐกิจทั้ง 4 ตัว อยู่ในภาวะใกล้ดับเต็มที
ข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม (สศช.)คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะขยายตัวได้ที่ประมาณ 2.5 - 3.5% แต่ก็มีปัจจัยเสี่ยงที่กระทบต่อเศรษฐกิจประเทศในหลายๆเรื่องทั้งการควบคุมการแพร่ ระบาดโควิด-19 การจัดหาและบริหารจัดการวัคซีนให้ครอบคลุมทั่วถึง และปัจจัยการรักษาบรรยากาศทางการเมืองภายในประเทศเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจและเป็นอุปสรรคต่อบรรยากาศความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในประเทศและการลงทุนในประเทศ
เล่าย้อนไปถึงที่มาที่ไปของการแก้ไขรัฐธรรมนูญรวมถึงการขยับรับกระแสเริ่มต้นกระบวนการแก้ไขก็เพื่อเป็นการดึงเรื่องร้อนขึ้นสู่ที่สูงอย่างรัฐสภา ให้ระบบรัฐสภาแก้ไขปัญหาแทนที่จะพากันไปสู่ความรุนแรงอยู่ข้างถนน
แม้การประท้วงเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญที่พอจะสงบลงได้บางทั้งจากปัจจัยการใช้ไม้แข็งกับเหล่าแกนนำและการเริ่มต้นกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในรัฐสภาแต่เมื่อสถานการณ์เริ่มเบาบางลงทุกอย่างก็น่าจะดีขึ้นแต่ท้ายที่สุดประชาชนก็ต้องมาพบกับมวยล้มต้มคนดู ซึ่งนำไปสู่การคาดการณ์ว่า อาจเป็นฉนวนจุดไฟการเมืองนอกสภาอีกรอบซึ่งเรื่องนี้ขอไม่ให้น้ำหนักมากนักเพราะปัจจัยที่จะก่อและเกิดม๊อบขนาดใหญ่เหมือนเมื่อปลายปีที่ผ่านมาคงเป็นไปได้ยาก ด้วยประการทั้งปวง
สิ่งที่จะขอดึงสติคนทัั้งหลายให้มองประเทศไทยใหม่อย่างเปิดใจก็คือ เรื่องเศรษฐกิจประเทศที่พึ่งพาการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศอย่างสูงแม้จะมีความพยายามปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจแต่ก็คงไม่สามารถทำได้สำเร็จในเร็ววัน ดังนั้น การค้าและการลงทุนจากต่างประเทศซึ่งไม่ได้มีเงื่อนไขเพียงแค่ความไม่สงบทางการเมืองเท่านั้น เพราะ นักลงทุนต่างชาติ มองเรื่องการประท้วงต่างๆเป็นสิทธิทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย ภายใต้เงื่อนไขไม่รุนแรง ไม่รังแก ไม่ใส่ร้ายกัน ซึ่งต้องถามกันเงียบๆตอบกันในใจว่า พฤติกรรมรัฐบาลไทยเป็นไปภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวหรือไม่
แม้ว่าจะไม่มีนักลงทุนคนไหนลุกขึ้นมายืนบอกว่าที่ไม่มาลงทุน หรือ เปลี่ยนเป้าหมายการลงทุน เพราะเรื่องอะไรทำนองนี้ แต่การที่บรรยากาศทางการเมืองหลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญกำลังจะกลายเป็นฝันสุดเอื้อมถึงของคนไทยก็คือความหวังที่จะเฟ้นหารัฐบาลที่มีประสิทธิภาพมาบริหารประเทศซึ่งโจทย์ไม่ใช่แค่เรื่องบริหารตอนเศรษฐกิจตกต่ำอีกต่อไปแล้วแต่ตอนนี้โจทย์ยากกว่านั้นคือ จังหวะเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวต่างหากคือความท้าทายว่า เมื่อทั่วโลกฟื้นแล้วประเทศไทยเตรียมองคาพยพไว้พร้อมรับการฟื้นตัวนั้นหรือไม่หรือมัวแต่ระแวงระวังปัญหาทางการเมืองอันเกิดจากการเรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้เริ่มนับหนึ่ง...และไปไม่ถึงไหนแต่กลับหมุนกลับมาที่ ความ(สูญ)เสีย นั่นเอง